พฤกษา วรรณสุขและพิชยาพร ทะใจ
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ตาแหลวในประเพณีและพิธีกรรมทางภาคเหนือ
ตาแหลวเป็นเครื่องหมายสำคัญในพิธีกรรมและความเชื่อของผู้คนท้องถิ่นในภาคเหนือ มีลักษณะเป็นไม้ไผ่สาน ไม้ไผ่จะทำจากตอกหนึ่งก้านนำมาหักไปมาเป็นแฉกหรือจะทำจากตอกหลายก้านมาสานรวมกันเป็นสามแฉกขึ้นไป[1] คำว่า “ตาแหลว” ในภาษาเหนือและภาษาอีสานมีความหมายว่า “ตาเหยี่ยว” และพ้องกับคำว่า “เฉลว” ในภาคกลาง ซึ่งเฉลวในภาคกลางเป็นสัญลักษณ์ใช้แสดงบอกสัญลักษณ์ว่าเป็นร้านขายของ ใช้แสดงบอกสัญลักษณ์ว่าเป็นที่ตั้งด่านเก็บภาษี ใช้บอกอาณาเขตการจับจองที่นาโดยการปักเฉลวไว้ที่สี่มุมของที่ที่ตนเป็นเจ้าของ ปักไว้ที่ที่แสดงว่าเป็นบริเวณที่หวงห้ามต่าง ๆ หรือบอกเตือนให้ระวังอันตรายและใช้ในการแพทย์แผนโบราณ ปัจจุบันเฉลวยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์[2] ซึ่งเกี่ยวข้องกับยาสำหรับรักษาโรคภัย เฉลวในภาคกลางจะต่างจากตาแหลวในภาคเหนือกล่าวคือในภาคเหนือชาวบ้านท้องถิ่นจะใช้ตาแหลวในเชิงพิธีกรรมและความเชื่อที่ชัดเจนมากกว่าภาคกลาง พบการใช้งานตาแหลวชัดเจนในพิธีการแฮกนาแบบท้องถิ่นของภาคเหนือ ซึ่งเป็นพิธีที่มีเรียบง่ายกว่าพระราชพิธีหลวงแต่จุดประสงค์เดียวกันคือเพื่อเสี่ยงทายและเพื่อบูชาพระแม่โพสพ ขอให้การทำนาเป็นไปได้อย่างราบรื่น โดยเริ่มจากการกำหนดบริเวณประกอบพิธีซึ่งจะอยู่ภายในเนื้อที่นาของตน เรียกว่า “ค้างแรกเข้า” ซึ่งถือเป็นจุดมงคลของที่นาและเป็นที่สถิตของผีเสื้อนา (ผีอารักษ์ที่นาหรือเทวดาอารักษ์ที่นา) มีการทำแท่นเพื่อบูชาพระแม่โพสพ รวมถึงมีของเซ่นไหว้พระแม่ธรณีด้วย จากนั้นจะมีการปักตะแหล๋วที่สี่มุมของบริเวณพิธี และปักตาแหลวหลวงหรือตาแหลวแรกนาไว้ตรงกลางที่[3]
ประเภทของตาแหลวในภาคเหนือสามารถแบ่งประเภทตามหน้าที่การใช้งานได้หลากหลาย ได้แก่ ตาแหลวแรกนา ในพิธีกรรมแฮกนาประเพณีท้องถิ่นทางภาคเหนือ โดยจัดทำขึ้นเพื่อปักไว้ในขอบเขตพื้นที่นาของผู้ประกอบพิธีกรรมในพิธีกรรมเพื่อเสี่ยงทายและบูชาพระแม่โพสพ ตาแหลว 7 ชั้น เป็นที่นิยมอย่างมากในชาวล้านนาโดยมีการใช้ตอกจำนวน 42 เส้น นำมาสานต่อชั้นวนขึ้นไปจนครบ 7 ชั้น[4] พบได้ในพิธีกรรมเพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีและนิยมนำไปแขวนไว้บริเวณหน้าประตูบ้านเพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีไม่ให้เข้ามาทำร้ายคนในบ้านได้ ตาแหลวแม่หม้าย มีการใช้ตอก 6 เส้นนำมาสานขัดกันค้ากงจักรซึ่งนำไปใช้ในพิธีแฮกนาข้าวก่อนเริ่มทำนาข้าว และตาแหลวหมาย ทำขึ้นเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของและแสดงพื้นที่หวงห้ามห้ามบุกรุก หน้าที่ของตาแหลวในภาคเหนือโดยรวมคือใช้ในการประกอบพิธีกรรมและมีความหมายเกี่ยวกับความเชื่อและช่วยปัดเป่าสิ่งที่ชั่วร้าย
ตาแหลวในแต่ละพื้นที่มีวิธีการทำหรือวิธีการนำสิ่งของอื่นๆมาตีความร่วมด้วย เช่น ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ชาวบ้านในพื้นชุมชนส่วนมากจะมีการทำบุญหมู่บ้านทุกปี โดยเจ้าของบ้านแต่ละหลังในชุมชนจะนำถังน้ำใส่น้ำใส่ทราย ทำต๋าแหลว 7 ชั้นซึ่งจักสานด้วยไม้ไผ่ หนาม 7 ชนิด และน้ำส้มป่อย มาทำพิธีเพื่อป้องกันสิ่งที่ร้าย โดยมีวิธีการสานคือเริ่มจากการนำไม้ไผ่มาทำเป็น ตอก (ไม้ไผ่เส้น) ทั้งหมด 42 เส้น แบ่งออกมาทำชั้นละ 6 เส้นชั้นแรก นำตอกเส้นที่ 1 วางบนระนาบในแนวตั้ง จากนั้นนำตอกเส้นที่ 2 วางทับลงบนตอกเส้นแรกในลักษณะเอียง 45 องศาโดยที่ปลายตอกด้านบนอยู่ทางซ้ายบน นำตอกเส้นที่ 3 ไขว้ลงด้านล่างเส้นแรกในตำแหน่งใต้สุด เส้นที่ 4 ทำในลักษณะเดียวกันเพียงแต่สลับเป็นไขว้ลงด้านล่างเส้นที่ 1 แทนในตำแหน่งทางทิศเหนือ เส้นที่ 5 และ 6 เช่นกัน เส้นที่ 5 ไขว้ลงใต้เส้นที่ 4 ในลักษณะเหมือนเส้นที่ 2 ที่ตำแหน่งถัดขึ้นมาด้านบน จากนั้นนำเส้นที่ 6 วางทาบลงในแนวตั้งตรงที่ตำแหน่งขวาแล้วไขว้ลงใต้เส้นที่ 2 และ 5 จากนั้นทำเวียนไปเรื่อยๆให้ครบทั้งหมด 7 ชั้น ชั้นที่ 7 ทำการนำปลายเส้นทางขวาของเส้นที่ 5 ไขว้ลงใต้เส้นที่ 3 เพื่อเป็นการล็อคตาแหลว
การใช้งานตาแหลวในภาคเหนือในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ในประเพณีแฮกนาในภาคเหนือมีการปักตาแหลวเพื่อแสดงอาณาเขตพื้นที่ทำนาข้าวของตนในพิธี ในแม่ฮ่อนสอนบนพื้นที่สูงผู้คนท้องถิ่นจะนำตาแหลวไปใช้ในพิธีการทำบุญหมู่บ้านทุกปีร่วมกับสิ่งของอื่นๆ เพื่อป้องกันสิ่งที่ไม่ดีและปัดเป่าโรคภัย เมื่อเสร็จพิธีชาวบ้านมักนำตาแหลวไปแขวนไว้หน้าบ้าน
จะเห็นจากที่กล่าวมาว่าตาแหลวมีความสำคัญต่อชาวบ้านหรือผู้คนทางภาคเหนือเป็นอย่างยิ่งในแง่มุมของพิธีกรรมและความเชื่อ โดยภาพรวมการใช้งานตาแหลวในประเพณีและพิธีกรรมทางภาคเหนือเพื่อแสดงถึงอาณาเขตพื้นที่ที่ต้องการทำพิธีและใช้เพื่อป้องกันปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีทั้งปวงตามความเชื่อ
ภาพประกอบ
ภาพตาแหลว 7 ชั้น หมู่บ้านจ่าโบ อ. ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
อ้างอิงเอกสาร
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. เฉลว. เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org/wiki/เฉลว.
ศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่-City Heritage Centre Chiang Mai Municipal. "ต๋าแหลว" เครื่องหมายพิธีกรรม แห่งล้านนาLanna's heritage of wickerwork for the ritual. เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/chiangmaicityheritagecentre/posts/5654752367926035/.
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่. ตาแหลว ภูมิปัญญาพื้นบ้านและความเชื่อ. เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.finearts.go.th/promotion/view/24799- %E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7.
Museum minds. ‘ตาแหลว’ ในพิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง ไม้สานศักดิ์สิทธิ์ประกอบพิธีแฮกนาของชาวเหนือ. เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://adaymagazine.com/kamthieng-house-museum/?fbclid=IwAR3- 8h8bEivWG-XECJxiWFTOFcvO15Spt6A97xtlr_zh9Gl3Q7quot0Qums.
ບ້ານນາຖິ່ນເດີມบ้านนาถิ่นเดีม. สานตาแหลว7ชั้น ສານຕາແຫຼວ7ຊັ້ນ. เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก. https://youtu.be/ZjPob70TePs?si=k9Q8G7-By5wnE3TP
[1] ศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่-City Heritage Centre Chiang Mai Municipal, "ต๋าแหลว" เครื่องหมายพิธีกรรมแห่งล้านนาLanna's heritage of wickerwork for the ritual, เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567, เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/chiangmaicityheritagecentre/posts/5654752367926035/
[2] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, เฉลว, เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567, เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org/wiki/เฉลว
[3] Museum minds, ‘ตาแหลว’ ในพิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง ไม้สานศักดิ์สิทธิ์ประกอบพิธีแฮกนาของชาวเหนือ, เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567, เข้าถึงได้จาก https://adaymagazine.com/kamthieng-house-museum/?fbclid=IwAR3-8h8bEivWG-XECJxiWFTOFcvO15Spt6A97xtlr_zh9Gl3Q7quot0Qums
[4] หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่, ตาแหลว ภูมิปัญญาพื้นบ้านและความเชื่อ, เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567, เข้าถึงได้จาก https://www.finearts.go.th/promotion/view/24799-%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7