วัดกู้ : ประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ และความเชื่อของชาวปากเกร็ด
ณรัก ตีวา 640310041
นภษร เพ่งธรรมกีรติ 640310049
วัดกู้ตั้งอยู่ในตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อตอนสร้างวัด อาคารอุโบสถตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำ พื้นดินหน้าวัดงอกออกไปอีกมากจนปัจจุบันที่ตั้งของวัดอยู่ห่างจากริมแม่น้ำเดิม 500 เมตร
ตามประวัติกล่าวว่าวัดกู้สร้างในสมัยอยุธยา มีชื่อเดิมว่าวัดท่าสอน แต่เมื่อคนมอญอพยพมาอาศัยอยู่ที่พื้นที่บ้านปากเกร็ดและบ้านบางพูดซึ่งใกล้วัดท่าสอนในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวมอญได้เรียกชุมชนแห่งนี้ว่าบ้านไร่หรือภาษามอญว่ากวานกู้ และได้บูรณะวัดท่าสอนให้เป็นวัดประจำหมู่บ้าน
เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญและทำให้วัดนี้กลายเป็นที่รู้จักคือเหตุการณ์เรือพระประเทียบล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใกล้กับวัด อันนำมาสู่การสวรรคตของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะตามเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปยังพระราชวังบางปะอิน พระองค์สิ้นพระชนม์พร้อมด้วย พระราชธิดา และพระราชบุตรในพระครรภ์ เหตุการณ์นี้ทำให้มีการสร้างศาลพระนางเรือล่มและพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และพระราชธิดา รวมถึงมีการจัดแสดงซากเรือพระประเทียบลำที่ล่ม ประดิษฐานติดกับศาล จนปัจจุบัน “วัดพระนางเรือล่ม” กลายเป็นชื่อไม่เป็นทางการของวัดแห่งนี้
ในวัดนี้ปรากฏโบราณสถานที่สำคัญ คืออาคารอุโบสถเก่า เป็นอุโบสถที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายปีพ.ศ. 2295 ด้านหน้ามีพาไลคลุมชานชาลา ด้านหลังเดิมไม่มีพาไล ซุ้มประตูซุ้มหน้าต่างปั่นลายเครือเถามีความงดงามมาก ฐานอุโบสถเป็นฐานโค้งแบบเรือสำเภา พบเสมาอยู่รอบอุโบสถ คาดว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 อยู่ในซุ้มเสมา แบบกูบช้าง พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ตั้งแต่ผนังระหว่างของหน้าต่างและต่อขึ้นไปจนถึงเพดาน ผนังหุ้มกลองด้านหลังพระประธาน ปรากฏเป็นภาพจิตรกรรมภายในอุโบสถ เขียนภาพเต็มฝาผนังทั้ง 4 ด้าน ภาพที่เขียนเป็นเรื่องประวัติศาสตร์มอญ การอพยพมากจากดินแดนบ้านเกิด การเข้ามารับใช้ราชสำนักสยาม พุทธประวัติ และพระอดีตพุทธ มีภาพผู้คนแต่งกายแบบมอญโบราณ แต่ภาพเขียนทั้งหมดอยู่ในสภาพที่ชำรุดหลายแห่ง เลอะเลือนและมีฝุ่นจับหนามากจึงดูไม่ชัดเจน นอกจากนี้ในวัดยังมีการสร้างสถูปทรงมอญและพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่
ศิลปกรรมต่างๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้นเหล่านี้จึงเป็นการแสดงออกทางศิลป์กรรมถึงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชนชาติมอญที่อพยพและหนีภัยสงครามจากพื้นที่บ้านเกิดของพวกเขาเพื่อมาอยู่อาศัยในสยามผ่านจิตรกรรมเล่าเรื่องประวัติของกลุ่มชาติตนเองซึ่งไม่พบในจิตรกรรมที่อื่นๆ นอกจากนี้ยังเห็นความศรัทธาในพระพุทธศาสนาในการสร้างพระพุทธศิลป์ต่างๆ มีการใช้องค์ประกอบทางศิลปะต่างๆ มาผสมและรวมกันให้กลายเอกลักษณ์ของชุนชน ปัจจุบันวัดกู้เป็นสถานที่ที่รวมความสำคัญในด้านต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ และความเชื่อของชุมชนคนในพื้นที่และเป็นทรัพยากรวัฒนธรรมให้คนในอนาคตได้ศึกษาและอนุรักษ์ต่อไป
อ้างอิง
โชติกา นุ่นชู. (2566). ย้อนรอยโศกนาฏกรรม ตำนานเรื่องเล่าของ “สมเด็จพระนางเรือล่ม” อัครมเหสีในรัชกาลที่ 5. เข้าถึงเมื่อ 5 กุมภาพันธ์. เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_33627
พิศาล บุญผูก. (2533). วัดในอำเภอปากเกร็ด. นนทบุรี: โครงการเผยแพร่ผลงานบริการวิชาการแก่สังคม สำนักบรรณาสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.