พิธีกรรมการฟ้อนผีมดผีเม็งของชาวล้านนา
ชลธิชา สุวบุตร และธนัชชา บุญศรีภิรัตน์
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
พิธีกรรมความเชื่อในผีบรรพบุรุษเป็นวัฒนธรรมที่พบในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เช่น ภาคกลางมีการรำผีมอญ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการเล่นผีหิ้งกับผีโรง ในทางภาคเหนือมีการฟ้อนผีมดผีเม็ง ซึ่งสันนิษฐานว่าการฟ้อนผีมดผีเม็งนี้ไม่ได้เป็นพิธีกรรมดั้งเดิมของคนล้านนามาตั้งแต่แรก อาจได้รับอิทธิพลมาจากชาติพันธุ์อื่น เนื่องจาก "ผีมด" หมายถึง ผีของคนธรรมดาสามัญของพวกลั๊วะ (ละว้า) หรือแจ๊ะ ส่วน "ผีเม็ง" หมายถึง ผีของแม่ทัพนายกองเชื้อสายมอญ คำว่า “เม็ง” ในภาษาล้านนา หมายถึง พวกมอญ ภายหลังชาวล้านนาคงรับเอาคตินี้มาปรับและถือปฏิบัติ จนนิยมฟ้อนผีมดผีเม็งอย่างแพร่หลายกลายเป็นประเพณีในท้องถิ่นภาคเหนือ และเป็นความเชื่อของคนในสมัยโบราณที่นับถือผีและบูชาสิ่งที่มองไม่เห็น
ประเพณีฟ้อนผีมดผีเม็งจัดขึ้นโดยคนในตระกูลเดียวกันปีละ 1 ครั้งหรือบางครั้ง 1 ครั้งต่อ 2-3 ปี การฟ้อนผีมดผีเม็งมักทำระหว่างเดือนพฤษภาคม–มิถุนายน แต่ในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดลำปาง การประกอบพิธีกรรมฟ้อนผีมักทำในช่วงเดือนมกราคม–มิถุนายน บางกลุ่มอาจทำพิธีกรรมทุกปี บางกลุ่มอาจทำทุกๆ 3 ปี โดยผู้ที่เป็นเจ้าภาพจะทำหน้าที่เลี้ยงดูแขกที่มาร่วมงาน ส่วนมากเป็นญาติและเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกัน เริ่มต้นด้วยการสร้าง “ผาม” ไว้กลางลานบ้าน ผามมีลักษณะเป็นเพิงอย่างง่ายๆ ภายในผามจะมีเครื่องเซ่นสังเวยต่างๆ เช่น หัวหมู ไก่ต้มสุกทั้งตัว เหล้า ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน ขนม ฯลฯ ใส่ภาชนะวางไว้บนหอผีที่สร้างคล้ายศาล สูงประมาณ 1 เมตร ในผามต้องมีราวสำหรับพาดผ้าโสร่ง ผ้าพันหัว ผ้าพาดบ่า สำหรับใส่ทับเวลาฟ้อน จากนั้นจึงทำพิธีบอกกล่าวบรรพบุรุษ มีวงดนตรีปี่พาทย์บรรเลง และมีการเข้าทรงผีปู่ย่าผ่านลูกหลานในตระกูล เพื่อลงมารับเครื่องเซ่นสังเวย มีการฟ้อนรำร่วมกัน มีการละเล่นในพิธีกรรม มักจัดพิธีกัน 2-3 วัน คนในภาคเหนือเชื่อกันว่าพิธีกรรมนี้เป็นการเชิญผีบรรพบุรุษมาช่วยเสกคาถาปัดเป่าเคราะห์และให้ความสิริมงคลแก่ลูกหลาน
พิธีกรรมนี้ เกิดจากแนวคิดในเรื่องสังคมวัฒนธรรมความเชื่อที่มีมานาน ซึ่งแสดงให้เห็นการรวมเป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันโดยใช้พิธีกรรมในด้านความเชื่อเป็นตัวเชื่อม เช่น ความเชื่อเรื่องผีมดผีเม็งก่อให้เกิดพิธีีกรรมในรูปแบบการฟ้อนและการสักการะเครื่องเซ่นไหว้ต่อผีมดผีเม็งที่คอยปกปักษ์รักษาเชื้อสายเหล่ากอสู่ลูกหลานให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข และรวมถึงคนในท้องถิ่นควรยึดถือการทำความดี ไม่ทำผิดจารีตประเพณี เพื่อความสุขความสบายใจ พิธีกรรมและความเชื่อเรื่องผีมดผีเม็งเป็นความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษและผีเจ้านายของชาวล้านนา ซึ่งมีการปฏิบัติมาอย่างช้านานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ควรค่าแก่การรักษาให้เป็นมรดกวัฒนธรรมพร้อมทั้งเป็นองค์ความรู้ให้คนรุ่นใหม่ต่อไป