ประเพณีไทยทรงดำ
นาย พงศชา ลีลาพงศธร และ นาย กัณติพงศ์ ครองบุญชู
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปกร
ประเพณีไทยทรงดำ เป็นประเพณีประจำเผ่าที่เกี่ยวข้องกับวิถีของชาวเผ่าไทยทรงดำ หรือ อีกชื่อก็คือ ชาวเผ่าไทดำ ชาวเผ่าไทดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทกลุ่มหนึ่ง ของประเทศเวียดนามมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในเขตสิบสองจุไทเดิม หรือบริเวณลุ่มแม่น้ำดำและแม่น้ำแดงในพื้นที่ทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของชาวไทดำและ ชาวไทขาว ปัจจุบันมีเขตติดต่อกับแขวงพงสาลี ประเทศลาว ชาวเผ่าไทยทรงดำอพยพเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ในสมัยกรุงธนบุรีจนถึงปัจจุบัน
ชาวไทดำได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยในหลายพื้นที่ ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง คนไทยเรียกชาวไทดำว่า ลาวโซ่ง มีที่มาจากโซ่ง หรือซ่วงที่เป็นภาษาของชาวเผ่าไทดำ มีความหมายว่ากางเกง เรียกว่าทรงดำ หรือโซ่งดำ เป็นที่มาขิงชื่อเผ่าและเอกลักษณ์วัฒนธรรมของเผ่าที่มีเอกลักษณ์คือการใส่กางเกงสีดำ ประเพณีไทยทรงดำจะยึดเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวเผ่าอย่างชัดเจน ซึ่งประเพณีของชาวเผ่าไทยทรงดำก็มีอยู่หลากหลายประเพณีเช่น พิธีกรรมเสนเรือน พิธีกรรมเฮ็ดแฮว ซึ่งเป็นประเพณีที่เกิดมาจากความเชื่อของชาวเผ่าที่เชื่อเรื่องการไหว้บรรพบุรุษ ผีและวิญญาณ
นอกจากนี้ชาวไทดำยังมีการละเล่นที่จัดเป็นประจำของเผ่าก็คือ ประเพณีการเล่นคอน ซึ่งเป็นกิจกรรมสำหรับการหาคู่ของชาวเผ่าไทดำนั่นเอง ประเพณีนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและชนเผ่าไทดำ แสดงให้เห็นผ่านการการจัดชุมนุมชาวไทยทรงดำ เป็นการสนับสนุนให้สมาชิกชาวไทยทรงดำในตำบลต่าง ๆ ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิด ได้มีปฏิสัมพันธ์ทางด้านขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีระหว่างชุมชน เกิดผลดีทางด้านการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้อาวุโสกับเด็กรุ่นใหม่ การปฏิบัติทางวัฒนธรรมและเกิดทัศนคติที่ดีต่อวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชาวไทยทรงดำส่งผลให้ประเพณีไทยทรงดำมีการสืบทอดวัฒนธรรม มีการรับประทานอาหารของชาวไทยทรงดำ มีการแลกเปลี่ยนความรู้การทอผ้า การแต่งตัว ด้วยผ้าพื้นบ้านที่ปักลวดลายสวยงามที่มีความหลากหลาย ที่สมาชิกชาวไทยทรงดำได้ทอเก็บไว้ เพื่อใส่มาในงานชุมนุมไทยทรงดำในแต่ละปี ได้มีการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นของการทอผ้า และแนวคิดวิถีชีวิต นำไปสู่การส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมให้สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
จากที่กล่าวมาข้างต้น เราพอจะสรุปได้ว่าประเพณีไทยทรงดำมีความสำคัญในฐานะของวัฒนธรรมที่ส่งทอดต่อกันมาของชาวไททรงดำ เป็นประเพณีและวัฒนธรรมที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไททรงดำ มีความหลายหลากในเชิงสัญลักษณ์ของการแสดงออก ทั้งการแต่งตัว การร้องการรำ และอาหารการกิน
อ้างอิง
ชีวสิทธิ์บุณยเกียรติ. (2557). ประเพณี อิ้นก๋อนฟ้อนแก๊น. ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์
สมทรง บุรุษพัฒน์. (2524). การเล่นคอนของลาวโซ่งที่บางกุ้ง. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชุมพร. (2565). ประเพณีไทยทรงดำ. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567.
จาก. https://shorturl.asia/omYlk