โกศล จั่นธนจินดา
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ประเพณีตายายย่าน เป็นประเพณีที่มีจุดประสงค์เพื่อให้คนรำลึกถึงบรรพบุรุษเครือญาติ หรือต้นตระกูลของตนเอง คนที่ไปทำงานห่างไกลจากภูมิลำเนาจะกลับมายังภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ และถือเป็นการเสริมสิริมงคลแก่ตนเอง ประเพณีตายายย่านของวัดท่าคุระนั้นคนในพื้นที่เรียกกันว่า “ประเพณีสมโภชเจ้าแม่อยู่หัว” จัดขึ้นในวันพุธ แรม 1 ค่ำ เดือน 6 หากแรม 1 ค่ำ หากไม่ตรงกับวันพุธชาวบ้านจะยึดตามวันพุธแรกที่เป็นข้างแรม ชื่อของประเพณีมีที่มาจากชื่อของพระพุทธรูปทองคำ ขนาดหน้าตัก 2 เซนติเมตร สูง 2.5 เซนติเมตร อยู่ในลักษณะปางมารวิชัย ตามตำนานเชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีอายุมาตั้งแต่ช่วงปลายสุโขทัยคาบเกี่ยวกับอยุธยา มีตำนานเหล่าถึงการสร้างพระองค์นี้ไว้ 2 เรื่อง ในทั้ง 2 เรื่องนั้นมีส่วนที่สอดคล้องกันคือ พระพุทธรูปองค์นี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถานทางใจ แก่ตายายพราหมณ์จันทร์เมื่อพระมเหสีของเมืองแห่งหนึ่ง และพระโอรสได้กลับไปยังเมืองหลวง ต่างกันเพียงตำนานหนึ่งพระมเหสีมารับพระโอรสกลับเท่านั้น ไม่ได้ถูกรับตัวกลับไปพร้อมกัน หลังจากนั้นตายายได้ช่วยสร้างวัด และนำพระไปประดิษฐานไว้ อย่างไรก็ตามในตำนานก็ยังได้กล่าวถึงการที่พระมเหสีจัดงานสมโภชเพื่อเฉลิมฉลองเหตุการณ์ในครั้งนี้ ส่งผลให้ชาวบ้านเกิดความเคารพท่าน จนกระทั่งกลายเป็นทำเนียมที่จะต้องจัดงานเพื่อแสดงความกตัญญูต่อท่านเรื่อยมา เสมือนว่าท่านเป็นบรรพบุรุษของคนในพื้นที่
จากประวัติข้างต้นส่งผลให้ “แม่อยู่หัว” กลายเป็นสิ่งศักสิทธิ์ ที่ศรัทธาของคนในพื้นที่มีคนเข้ามากราบไหว้ขอพร ดังนั้นเมื่อคืนข้างแรมของเดือน 6 วนมาถึง ชาวบ้านก็จะทำพิธีสมโภชเจ้าแม่ โดยพิธีนั้นประกอยด้วยขั้นตอน ดังนี้
- สรงน้ำพระพุทธรูป และเจริญพระพุทธมนต์
- การแสดงมหรสพ และการแก้บน (มีพื้นที่ภายนอกวัดสำหรับให้ชาวบ้านที่บนหนังตะลุงหรือมโนราห์ไว้มาแก้บน โดยนำหนังตะลุง และมโนราห์มาแสดงได้)
- พิธีสมโภชเจ้าแม่อยู่หัวมีพราหมณ์เป็นผู้ทำการบวงสรวง มีการถวายของต่าง และรำโนราห์ 12 บท
- พิธีแก้บน ใช้โรงมโนราห์ที่ทางวัดจ้างมาในการทำพิธีเป็นเสมือนโอกาสให้คนที่บนบานเจ้าแม่ไว้ ได้เข้ามาแก้บนพร้อมกันภายในงาน มีการให้ลูกหลาน (ชาวบ้านที่ถือกันว่าเป็นลูกหลานของแม่อยู่หัว) ขึ้นมาสลับสับเปลี่ยนกันรำมโนราห์ ทำเช่นนี้ก็เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าร่วม ทั้งนี้พิธีจะเริ่มในคืนวันแรก และต่อเนื่องไปจนกว่าผู้ที่มาร่วมจะเข้าร่วมได้ครบ (ทั้งนี้ผู้ที่สนใจเรื่องการแก้บน หรือแก้เหมรฺย ก็สามารถไปศึกษาเพิ่มเติมได้แต่เราจะไม่ยกรายละเอียดมาพูดถึงในที่นี้)
- การทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่แม่อยู่หัว
หลังจากปฏิบัติตามขั้นตอนทั้งหมดเสร็จสิ้นก็ถือเป็นการจบงาน และรอการวนกลับมาถึงของงานเทศกาลอีกครั้งในปีต่อ ๆ ไป ประเพณีดังกล่าวจึงเป็นเสมือนการสะท้อนวัฒนธรรม และอาจเป็นกุศโลบายของคนในพื้นถิ่นภาคใต้ในเรื่องของความกตัญญู ที่ทำให้แม้ต้องจากภูมิลำเนาไปทำมาหากิน แต่เมื่อถึงเวลาก็กลับมาร่วมกันเพื่อทำบุญ และรำลึกถึงบรรพบุรุษ รวมถึงใช้เวลากับ คนในครอบครัว นอกจากนี้ ประเพณีข้างต้นก็ยังมีการผสมผสานวัฒนธรรมอื่น ๆ ในท้องถิ่นเข้ามาอย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็น มโนราห์ หรือหนังตะลุง ดังนั้น หากเราทุกคนไม่ว่าจะเป็น ผู้ที่สนใจ นักท่องเที่ยว หรือแม้แต่คนในพื้นที่ ช่วยกันสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีนี้ต่อไปก็จะทำให้เราสามารถส่งต่อสิ่งดี ๆ เหล่านี้ไปสู่ลูกหลานของเราได้ และอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การปลูกฝังวัฒนธรรมอื่น ๆ ในภูมิภาคให้คนรุ่นใหม่รู้จักได้อีกด้วย
อ้างอิงรูปภาพหน้าปกจาก
https://www.hatyaifocus.com/
ข้อมูลอ้างอิง
1.กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์. (2554). “ศรัทธาคนสองเล” ประเพณีตายายย่าน โนราโรงครูสู่ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่อยู่หัว. เข้าถึงเมื่อ 23 กุมภาพันธ์. เข้าถึงจาก https://lek-prapai.org/home/
2.ภูมิ จิระเดชวงศ์. (2565). เจ้าแม่อยู่หัว พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งแดนใต้ (๑๘ พ.ค. ๒๐๒๒) Chao Mae You Hua: A Sacred Buddha Statue of the South (May 18, 2022). เข้าถึงเมื่อ 23 กุมภาพันธ์. เข้าถึงจาก https://watsritawee.org/article-388/
3.สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา. (2562). ประเพณีตายายย่าน วัดท่าคุระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา. เข้าถึงเมื่อ 12 กุมภาพันธ์. เข้าถึงจาก https://www2.m-
culture.go.th/songkhla/ewt_news.php?nid=593&filename=index