อาคารศาลแขวงราชบุรี
พลวัต สว่างศรี และอนรรฆ ติระกาล
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
อาคารศาลแขวงราชบุรี ตั้งอยู่ที่ถนนวิชิตสงคราม ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี อาคารแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2449 (ร.ศ. 125) ภายหลังการจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมใน พ.ศ.2434 (ร.ศ.110) และการประกาศใช้ธรรมนูญศาลหัวเมือง ร.ศ.114 (พ.ศ.2438) ที่ส่งผลให้เกิดระบบราชการศาลแบบใหม่ขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองระบบมณฑลเทศาภิบาลที่ถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2435 ซึ่งราชบุรี ณ ช่วงเวลาดังกล่าวก็เป็นมณฑลหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นภายหลังการปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารศาลแขวงราชบุรีเป็นแบบเรอเนสซองส์ รีไววัล (Renaissance Revival) ผสมแบบวิคตอเรียน (Victorian) เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น โครงสร้างผนังรับน้ำหนัก โครงหลักคา บานประตูและหน้าต่างทำจากไม้ หลังคาทรงจั่วมีคอสองยกสูง หน้าจั่วมีความชันกว่าหน้าจั่วแบบคลาสสิค ใช้การมุงกระเบื้อง ด้านข้างคลุมด้วยปีกนก หน้าบันปูนปั้นมีลวดลายเป็นตราประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมคำว่า “ศาลรัตนโกสินทร์ศก 125” ภายในอาคารมีบันไดเวียนขึ้นชั้นบน มีห้องโถงตรงกลางและตรงปีกทั้งสองข้าง หน้าต่างสร้างเป็นลักษณะซุ้มโค้ง ประตูชั้นล่างและช่องหน้าต่างด้านหน้าเป็นลักษณะสี่เหลี่ยม ภายในด้านบนผนังมีแผ่นฉลุลวดลายแบบเรือนขนมปังขิง
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ได้มีการยกเลิกระบบมณฑลเทศาภิบาล จากการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคที่แบ่งเป็นจังหวัดและอำเภอ ทำให้ศาลมณฑลถูกยกเลิกและเปลี่ยนฐานะเป็นศาลจังหวัดราชบุรีแทน และมีการใช้งานจนถึง พ.ศ.2501 ที่มีการสร้างอาคารศาลจังหวัดขึ้นใหม่ ทำให้อาคารนี้จึงถูกใช้งานเป็นศาลแขวงจังหวัดจนถึงปัจจุบัน และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานใน พ.ศ. 2520 อีกทั้งใน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมานี้ มีการย้ายที่ทำการศาลแขวงราชบุรีไปยังที่แห่งใหม่ ทำให้ในอนาคตอาคารหลังนี้จึงมีการปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ศาลยุติธรรม
จากข้อมูลของกรมศิลปากร ทำให้ทราบว่าอาคารศาลแห่งนี้มีการซ่อมใหญ่ 2 ครั้ง ครั้งแรกใน พ.ศ. 2460 และครั้งที่สองใน พ.ศ. 2490 อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายเก่าจึงเห็นว่ามีลักษณะบางส่วนที่แตกต่างกับในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าอาจได้รับความเสียหายเมื่อครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา อาคารศาลแขวงราชบุรีนั้นถือเป็นอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกหลังของจังหวัดราชบุรี ทั้งหน้าที่การใช้งานถึง 3 ฐานะที่สะท้อนระบบการปกครองที่มีการปรับเปลี่ยน รูปแบบทางสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบที่แสดงอิทธิพลความนิยมที่มีต่อการออกแบบ อีกทั้งยังเป็นอาคารที่ผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หลายเหตุการณ์ ดังนั้นอาคารศาลแขวงราชบุรีจึงควรค่าแก่การศึกษาและอนุรักษ์เพื่อเป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดราชบุรีและประเทศไทย
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงยุติธรรม. (2560). ประวัติกระทรวงยุติธรรม . เข้าถึงเมื่อ 15 กุมภาพันธ์. เข้าถึงได้จาก https:// www.moj.go.th/view/11
กรมศิลปากร. (ม.ป.ป.). จากศาลมณฑลจวบจนถึงศาลแขวงราชบุรี. เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์. เข้าถึงได้จาก https:// www.finearts.go.th/main/view/13514-จากศาลมณฑลจวบจนถึงศาลแขวงราชบุรี
สถาบันพระปกเกล้า. (ม.ป.ป.). มณฑลเทศาภิบาล. เข้าถึงเมื่อ 15 กุมภาพันธ์. เข้าถึงได้จาก http://wiki.kpi.ac.th/ index.php?title=มณฑลเทศาภิบาล