โจลมะม็วด
จิตตมาส สถานพงษ์ และดลพร พรหมมา
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
โจลมะม็วด เป็นพิธีกรรมที่ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยตามความเชื่อของกลุ่มคนเชื้อสายเขมรที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีษะเกษ และบุรีรัมย์ โดยพบมากในจังหวัดสุรินทร์ รวมถึงประเทศกัมพูชา (เรียก លេងមេមត់) ที่ยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน เท่าที่มีการศึกษายังไม่สามารถบอกได้ว่าพิธีกรรมนี้เกิดขึ้นเมื่อใด ทว่าชาวบ้านถือว่าโจลมะม็วดเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยพิธีจะจัดขึ้นในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวจนถึงฤดูทำนา เพื่อความเป็นสิริมงคลให้มาคุ้มครองคนในหมู่บ้าน โดยใช้คนทรงเจ้า เรียกว่า ครูมะม็วด และดนตรีเป็นสื่อในการประกอบพิธี
พิธีนี้มักจัดขึ้นในช่วงเดือน 3 ถึง เดือน 5 (เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน) ของทุกปีเพื่อบูชาครูมะม็วด ยกเว้นคนป่วยจะมีอาการหนักมากก็สามารถทำได้ทุกเดือนเว้นวันพระและวันเข้าพรรษา หากไม่มีคนป่วยในหมู่บ้านก็จะทำพิธีเพื่อบูชาครู
พิธีโจลมะม็วดมีองค์ประกอบ 2 ส่วนดังนี้
1. การเข้าทรงเพื่อทำนายและรักษา เรียกว่า “บ็องบ้อด” โดยร่างทรงจะเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาเข้าร่างเพื่อทำนายและรักษาโรคภัยไข้เจ็บ โดยจะทำการทำนาย เรียกว่า โบล
เพื่อทำนายสาเหตุ วิธีการรักษา หาฤกษ์ประกอบพิธี และเซ่นไหว้ผี เรียกว่า "แซนขม็อจ" เพื่อบอกกล่าวเจ้าที่ที่รักษาบ้านของคนป่วยให้รับรู้ว่าจะมีการประกอบพิธี จากนั้นจึงตั้งปะรำพิธี
เรียกว่า ตะซาล เครื่องเซ่นบูชา เครื่องดนตรี เช่น วงปี่พาทย์ กันตรึม ไหว้ครูเพลง ไหว้ครูมะม็วด การเข้าทรง เรียกว่า "ปัญโจลมะม็วด" การเรียกขวัญ เรียกว่า "เฮาปลึง" เด็ดดอกไม้
ตัดเพดาน เรียกว่า "กัจปกา ซาปดาร"
2. พิธีไหว้ครูประจำปี เรียกว่า “มะม็วด” เป็นพิธีกรรมที่สร้างความเป็นสิริมงคลให้คนในหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะช่วยกันจัดปะรำพิธี เครื่องเซ่นบูชาครู เช่น ข้าวตอก ผลไม้ เครื่องดนตรี การร่ายรำขณะประกอบพิธี
พิธีโจลมะม็วดจึงนับได้ว่าเป็นพิธีกรรมของกลุ่มคนเฉพาะกลุ่มที่มีเชื้อสายเขมรและมีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภูติผี วิญญาณบรรพบุรุษ รวมถึงเป็นพิธีที่ถูกนำมาใช้เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจของกลุ่มคนเมื่อพบเจอกับเรื่องราวที่หาคำตอบไม่ได้
อ้างอิง
กระทรวงวัฒนธรรม. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2562). มรดกภูิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช 2562. กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์
ทหารผ่านศึก.
พิมวลี ดีสม. (2562). "นาฏยกรรมในพิธีปัญโจลมะม็วด จังหวัดสุรินทร์." วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย คณธศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สารภี ขาวดี. (2555). "บทบาทหน้าที่ของพิธีกรรม "การโจลมะม็วด" ต่อชุมชนเขมร จ.สุรินทร์" วารสารศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 8, 1 (มกราคม - มิถุนายน 2555):
157