พงศ์พัชรา รุ่งเจริญคำนึงผล และ ศิริโรจน์ พันธุ
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ไซ
ไซ เป็นเครื่องมือดักสัตว์น้ำจืด ส่วนมากจะใช้ดักปลาในกลุ่มปลาที่มีขนาดเล็ก เช่น ปลาตะเพียน หรือตระกูลปลาซิว เป็นต้น ใช้งานในแหล่งน้ำที่ไม่ลึกและใช้ดักระหว่างแปลงนาโดยไซนั้นเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สามารถพบเห็นได้ทุกภูมิภาคในไทยยกเว้นภาคใต้ที่จะนิยมใช้“ซ่อน” ไซมีหลายรูปทรงตั้งชื่อตามรูปทรงนั้น เช่น ไซปากแตร สานเป็นรูปกรวยปากไซบานออกเป็นรูปปากแตรหรืออาจตั้งชื่อตามวัตถุประสงค์ เช่น ไซกบ สานเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยมรูปทรงกระบอก ใช้ดักกบ ไซปลากระดี่ ใช้ดักปลากระดี่ มีขนาดเล็ก มีความยาว 60 เซนติเมตร ความกว้างเส้นผ่าศูนย์กลาง 7-8 เซนติเมตร ทำมาจากไม้ไผ่ทั้งหมด แม้ว่าไซจะมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกัน แต่มีลักษณะร่วมกันคือ สานเป็นรูปทรงกระบอก ด้านหนึ่งทำเป็นทางผ่านข้าวของปลา เรียกว่า งา ส่วนด้านท้ายไซทำเป็นที่เอาปลาออกจากไซ โดยไซที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปจะมีปลายแหลม ลำตัวรูปทรงกระบอก ก้นสอบแล้วดัดเป็นท่อกลมที่ส่วนท้าย รูปทรงคล้ายจรวด ทำด้วยตอกไม้ไผ่ เหลาเป็นเส้นกลมมีความยาวประมาณ 120 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร บริเวณส่วนกลางแบ่งเป็นช่วงโดยใช้กิ่งไม้จากต้นข่อยหรือเหลาไม้ดัดเป็นวงกลม ซึ่งเตรียมไว้ล่วงหน้า เรียกว่า กง หรือปลอก ใช้สำหรับผูกรัดส่วนกลางตัวไซให้คงรูปแข็งแรง ไซต่าง ๆ มักไม่ต้องใช้เหยื่อ เพราะจะดักปลาที่ต้องไหลในกระแสน้ำ เว้นแต่ไซกบที่ต้องมีเหยื่ออย่างลูกปู ลูกปลา
วิธีการดักไซ นิยมใช้ไซวางดักปลาช่วงฝนใหม่ หลังปักดำชาวนาจะไขน้ำเข้าออกนาโดยการขุดคันนาเพื่อระบายน้ำ ก็จะวางไซดักโดยวางไซด้านที่มีงาลงนาบพื้นหันก้นรับกระแสน้ำ ตำแหน่งงาจะได้อยู่ด้านซ้ายและขวาเยื้องพื้นดิน ปรับพื้นดินบังคับให้ปลาเข้างาไซทั้งสองด้าน ใช้กอหญ้า ดิน เศษไม้ ปิดทับด้านบนและใช้เศษหญ้า ม้วนอุดก้นไซ แล้วตรวจยามดูตามสมควร หากได้สัตว์น้ำก็จะรื้อแล้วยกไซขึ้นดึงเศษหญ้าที่กันออกเทใส่ข้อง
นอกจากในแง่วิถีขีวิตแล้ว ไซยังถือเป็นวัตถุมงคลในเรื่องโชคลาภ ตามความเชื่อไซถือเป็นเครื่องดักทรัพย์ โชคลาภ เงินทอง และเสริมบารมีให้แก่ผู้ถือครอง โดยจะห้อยไซไว้บนที่สูงของบ้าน เช่น เพดาน มักแขวนไว้ในบริเวณที่มีอากาศปลอดโปร่ง ไม่เป็นมุมอับ ปากไซจะต้องหันออกไปทางประตูหรือหน้าบ้านเพื่อดักจับทรัพย์เหมือนดักปลา ในบางพื้นที่เชื่อว่าไซที่นำมาห้อยนั้นหากผ่านการใช้งานแล้วจะมงคลยิ่งขึ้นกว่าไซที่ทำใหม่เพื่อการบูชาโดยเฉพาะ ความเชื่อนี้แพร่หลายในกลุ่มคนที่ทำการค้าเพราะต้องการเสริมดวงบารมีของตนให้มั่งคั่งยิ่งขึ้น
อ้างอิง
ทำนุ วรธงไชย. 2564. ไซ. เข้าถึงเมื่อ 23 กุมภาพันธ์. เข้าถึงได้จาก https://www.sac.or.th/databases/traditional-objects/th/equipment-detail.php?ob_id=57
สารานุกรมกว๊านพะเยา. ไซ. เข้าถึงเมื่อ 23 กุมภาพันธ์. เข้าถึงได้จาก http://www.phayaolake.ict.up.ac.th/content/282
อีสานร้อยแปด. ไซดักปลา หรืออุปกรณ์จับปลาของชาวอีสาน. เข้าถึงเมื่อ 23 กุมภาพันธ์. เข้าถึงได้จาก
https://esan108.com/ไซดักปลา.html