ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมสูง ไม่ว่าจะเป็นด้านประเพณี อาหาร ความเชื่อ รวมถึงด้านภาษาด้วย “ภาษาหล่ม” ก็นับว่าเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมอันหลากหลายของประเทศไทย โดยพบแพร่หลายในจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มชนที่ใช้ภาษาต่าง ๆ เช่น ลาว จีน ภาษาถิ่นไทยอีสาน ไทยกลาง ไทยหล่ม อาศัยอยู่ร่วมกัน สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะขอบเขตของภาษาหล่ม ที่ใช้กันในเมืองหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
ภาษาหล่ม เป็นภาษาถิ่นของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีการพูดสำเนียงท้องถิ่นที่ก็แตกต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่ เช่น สำเนียงแบบหล่มดั้งเดิม สำเนียงท่าพล สำเนียงนาแซง สำเนียงบ้านหวาย สำเนียงบุ่งน้ำเต้า ฯลฯ ซึ่งภาษาหล่มเป็นภาษาที่พัฒนามาจากภาษาลาว มีต้นกำเนิดมาจากเมืองหลวงพระบางต่อมายังตามลำน้ำโขงจนข้ามแม่น้ำโขงมายังประเทศไทย แต่เมื่อได้ยินภาษาหล่ม หลายคนจะเข้าใจว่าเป็นการผสมผสานภาษาเหนือและอีสานเข้าด้วยกัน คือท่วงทำนองที่นุ่มนวลของภาษาทางภาคเหนือและคำศัพท์ทางภาคอีสาน แต่แท้จริงแล้วดังที่กล่าวข้างต้น คือ ภาษาหล่มเป็นการพัฒนาจากภาษาลาว ใช้คำศัพท์ทั่วไปคล้ายกับภาษาไทลาว มีลักษณะของการใช้คำสัมพันธ์กับภาษาไทยยวนและภาษาไทยถิ่นใต้ และมีการผสมผสานสำเนียงการออกเสียงแบบภาษาเหนือและอีสาน เช่น การไม่ใช้เสียง ร, ข และการไม่ออกเสียงคำควบกล้ำ เป็นต้น ภาษาหล่มมี 2 รูปแบบตามสำเนียงและบริเวณที่มีการใช้แต่ละสำเนียง คือ สำเนียงแบบลาวหลางพระบาง นิยมใช้บริเวณอำเภอหล่มเก่า และสำเนียงแบบลาวเวียงจันทน์ นิยมใช้บริเวณแถบ ตำบลบ้านติ้ว ตำบลห้วยไร่ ตำบลบ้านหวาย เป็นต้น จากประวัติการศึกษา ได้พบการรวบรวมคำศัพท์ภาษาไทหล่มจากการสัมภาษณ์ ในตำบลหล่มสัก อำเภอหล่มสัก ยกตัวอย่างเช่น
กินดอง = แต่งงาน ขอยหล่อย = หลุดออกง่าย ขี้กะปอม = กิ้งก่า เป็นต้น
จากคำศัพท์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเป็นคำมีที่ลักษณะภาษาคล้ายกับภาษาลาวและเขมร ประกอบกับหลักฐานทางโบราณคดีในจังหวัดเพชรบูรณ์ เช่น ซากวิหาร เจดีย์รูปแบบเดียวกับทางลาว ทำให้เป็นหลักฐานสนับสนุนข้อสันนิษฐานว่า ภาษาหล่มเป็นภาษาที่พัฒนาจากภาษาลาวและถูกนำมาใช้ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ประเทศไทย
ปัจจุบันภาษาหล่มนิยมพูดกันแพร่หลายแทบทุกกลุ่มในจังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากได้มีการอพยพจากถิ่นเดิมมายังตอนใต้ของเพชรบูรณ์ทำให้ภาษาเกิดการแพร่กระจายไปตามพื้นที่และแทรกแซงอยู่ทั่วไปตามจังหวัดเพชรบูรณ์ และจากการย้ายถิ่นฐานของกลุ่มผู้ใช้ภาษาหล่ม จึงทำให้ยังมีการใช้ภาษาหล่มหลงเหลืออยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน