
กรอบรูป (1)
กรอบรูป มีภาพบุคคล สำหรับใช้ประดับตกแต่งภายในครัวเรือน มีลักษณะเป็นกรอบไม้สีแดง มีขนาดความกว้าง 10.3 x ยาว 14.2 x หนา 1 ซม.
กรอบรูปดังกล่าวเป็นของที่ระลึก มอบให้กับคนในครอบครัวหรือคนสนิท เพื่อไว้ดูต่าวหน้า ยามระลึกถึง ด้านขวาของภาพมีข้อความภาษาจีน แปลตามภาษาแต้จิ๋วได้ว่า “李振達仁兄惠存 แปลว่า ให้เฮียหลี่ จิ้ง ตั๊กเก็บเอาไว้" และด้านซ้ายมีข้อความ "弟連速阑敬贈 = (น้องชาย) เหลี่ยง สก ลั้ง ขอคารวะ”
ประวัติความเป็นมาของกรอบรูป
กรอบรูป มีความสำคัญมากในโลกศิลปะที่รับใช้ผลงานศิลปะในหลากหลายด้านทั้งเป็นเครื่องป้องกัน เป็นเครื่องประดับตกแต่ง และช่วยขับเน้นสีสันแสงเงาและรายละเอียดของภาพวาด ดึงดูดความสนใจของผู้ชมไปยังภาพวาดชิ้นนั้นๆ โดยทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างโลกแห่งจินตนาการ สภาพแวดล้อมรอบข้าง และความฝันของศิลปินแล้ว ตัวมันก็เป็นงานศิลปะในตัวเอง เพราะนอกจากจะมีรายละเอียดลวดลายที่เสริมเนื้อหาของภาพวาดแล้ว บางครั้งกรอบรูปก็เป็นเหมือนงานประติมากรรมดีๆ นี่เอง
ในยุคคลาสสิคโบราณ กรอบรูปทำขึ้นมาสำหรับกระจก ชาวกรีก และโรมันนิยมที่จะเขียนรูปตามผนัง หรือเฟดานโดยไม่ใส่กรอบเช่นปัจจุบัน ขณะที่ชาวเอเชีย มักเขียนรูปตามหน้าต่าง ผนังฝาบ้าน ฉากกั้นห้องหรือบังตา ซึ่งยุคนั้นกรอบรูป ไม่มีผลต่องานศิลปะ
ในยุคโรมัน มีการพัฒนาของกรอบที่ทำจากไม้ เป็นเหมือนบรรพบุรุษของกรอบรูปในปัจจุบัน ถูกใช้อย่างแพร่หลายกับภาพวาดทางศาสนา โดยกรอบรูปมักมีขนาดใหญ่ มีปริมาตรและความประณีตละเอียดอ่อนมาก ด้วยเหตุที่มันทำหน้าที่ในการห่อหุ้มและปกป้องภาพวาดเหล่านั้น กรอบของโรมันในยุคแรกๆ มักจะมีลักษณะคล้ายกับแท่นบูชารูปทรงคล้ายกล่อง บนกรอบตกแต่งด้วยลวดลายประดับรูปดอกไม้และหินมีค่า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความอ่อนน้อมถ่อมตนของพระเยซูคริสต์หรือเป็นสัญลักษณ์แทนดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นเสมือนพลังของพระผู้เป็นเจ้าต่อมา ได้มีการถือกำเนิดของภาพวาดฉากประดับแท่นบูชา (altarpiece) ทำให้กรอบรูปเริ่มมีความสำคัญในฐานะเครื่องค้ำจุน ประดับตกแต่งภาพวาด และแฝงความหมายในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งพัฒนารูปทรงขึ้น โดยเลียนแบบโครงร่างของโบสถ์คริสต์ มักเสริมแต่งด้วยการเคลือบทองและตกแต่งด้วยสีสันคล้ายอัญมณี เพื่อสร้างบรรยากาศให้คริสตศาสนิกชนรู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งจากสวงสวรรค์
ในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18 หรือในยุคบาโร้ก ถือเป็นจุดสูงสุดของการออกแบบกรอบรูปในยุโรป กรอบรูปในยุคนี้มักถูกทำเป็นงานแกะสลักด้วยความวิจิตรบรรจง ทำโดยช่างผู้ชำนาญ และเคลือบทองด้วยเทคนิคดั้งเดิมแบบบาโร้ก ที่เรียกว่า Water gilding เพื่อขับเน้นความผุดผ่องของภาพวาด เช่นเดียวกับตัวเรือนของเครื่องประดับที่รองรับอัญมณีเลอค่า
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 ตลาดกรอบรูปสลักมืออันหรูหราถูกทำลายลงเกือบหมดจากสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars) และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในช่วงสงคราม ไม่มีใครมีปัญญาสั่งทำกรอบรูปแพงๆ ผนวกกับวิธีคิดในระบบอุตสาหกรรมและการเติบโตของชนชั้นกลาง ที่ต้องการความหรูหราแบบที่พวกเขาพอจะจ่ายได้ กรอบรูปแกะสลักอันหรูหราจึงถูกผลิตขึ้นมาใหม่ในระบบอุตสาหกรรม และมักจะทำจากไม้สนที่มีราคาถูกกว่าไม้เนื้อแข็ง และประดับด้วยลวดลายที่ปั๊มขึ้นจากแม่พิมพ์แทน ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เกิดการปฏิวัติต่อต้านธุรกิจการค้าและการหากำไรเกินควรจากการทำกรอบรูป จากที่เคยทำกรอบรูปที่มีลวดลายหรูหราวิจิตร นักออกแบบและช่างทำกรอบรูปเริ่มทำกรอบเรียบง่ายด้วยรูปทรงเรขาคณิต เส้นตรง และสี่เหลี่ยม โดยได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของนักวิจารณ์ศิลปะชาวอังกฤษ จอห์น รัสกิน (John Ruskin) ผู้เชื่อว่า ไม่ว่าวัสดุใดๆ ก็ไม่ควรเสแสร้งเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวมัน ดังนั้น กรอบรูปไม้ที่สลักเสลาเป็นลวดลายหรูหราและเคลือบทอง จึงไม่ได้รับความนิยมในยุคนี้ ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 เมื่อศิลปินมีโอกาสเดินทางแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศง่ายขึ้น การออกแบบกรอบรูปก็มีการแลกเปลี่ยนกันและกันทั้งในยุโรปและอเมริกา เทคนิคการทำกรอบรูปในยุคเก่าๆ ก็เริ่มถูกรื้อฟื้นกลับมาให้เห็นในหลายประเทศ
นอกจากนั้นในยุคนี้ยังนำเอาแนวคิดในการทำให้กรอบรูปเป็นส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะกลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อช่วยนิยามความหมายของภาพวาด ขับเน้นองค์ประกอบ หรือสร้างการเชื่อมต่อระหว่างโลกภายในภาพวาดกับโลกภายนอก และย้ำเตือนให้เราตระหนักว่า ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวใดๆ ในการสร้างสรรค์ทางศิลปะ
ในศตวรรษที่ 20 กรอบรูปถูกมองเป็นสิ่งไม่จำเป็น และเป็นตัวบั่นทอนคุณค่าของงานศิลปะด้วยซ้ำ ศิลปินเลือกที่จะเลือกรอบที่ดูง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ศิลปินบางคนเลือกที่จะพัฒนางานออกมาให้สวยงามโดยไม่ให้กรอบมาดึงดูดความสนใจของชิ้นงานศิลปะของเขา และท้ายสุดความนิยมในกรอบรูปก็กลับมาอีกครั้ง หลังจากนักวิจารณ์งานศิลป์เชื่อว่า กรอบรูปมีผลต่องานศิลปะ
กรอบภาพมีหลากหลายประเภท การนำมาใช้กับงานศิลปะทั้ง สีน้ำมัน ภาพสีน้ำ ภาพสีโปสเตอร์ ภาพถ่าย ก็ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับภาพเพื่อผลักดันบุคลิกลักษณะของภาพนั้นๆให้โดเด่นขึ้นมา สไตล์และสีของกรอบภาพไม่ควรขัดกับงานศิลป์ชิ้นนั้นๆ เช่นภาพถ่ายเก่าๆ มักใช้กรอบแบบโบราณ เพื่อสะท้อนถึงมุมมองที่ทำให้หวนระลึกถึงอดีต