ในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอันช่วยให้การกระจายข้อมูลสามารถทำได้ด้วยเพียงปลายนิ้ว ข้อมูลต่าง ๆ นั้นพรั่งพรู ไหลเวียน หมุนวนอยู่ตลอดเวลา(หรืออาจจะเป็นตัวเราเองที่เอาใจไปใส่ใจกับข้อมูลเหล่านั้นตลอดเวลาเสียเอง) ทั้งนี้ มนุษย์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในฐานะเพียงผู้รับสารอีกต่อไป เราต่างก็เป็นทั้งผู้สร้าง ส่งต่อ ถ่ายทอดข้อมูลทั้งความรู้และความคิด ในขณะเดียวกันเราก็ยังคงเป็นผู้รับสารเหล่านั้นจากบุคคลอื่นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น เรื่องจริง หรือเรื่องไม่จริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวที่อยู่ระหว่างวิถีชีวิตและสิ่งเหนือจริงอย่างเรื่องเล่า ตำนาน บ้างก็เต็มไปด้วยอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “ผี” นั้นไม่เคยหายไปจากสังคมไทย เช่น การนับถือผีเจ้านาย ของชุมชนลาวครั่ง บ้านทุ่งผักกูด ต.ห้วยด้วน อ.ดอนตูม จ.นครปฐม
จากการถ่ายทอดข้อมูลโดย รศ.ดร.จิตกวี กระจ่างเมฆ ผู้ศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง บ้านทุ่งผักกูด ทำให้ทราบว่า การนับถือผีและวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกับผีนั้นยังคงเกิดขึ้นในชุมชนนี้จวบจนปัจจุบัน ทั้งนี้ เนื่องจากการอพยพถิ่นฐานแต่เดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งนั้น อาจสร้างความหวาดกลัว ไม่มั่นคง เต็มไปด้วยความเปราะบางในหลายมิติ จึงทำให้เหล่าผู้อพยพต้องการผู้นำ ผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจ จนกระทั่งได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ เมื่อสูญเสียบุคคลผู้นั้นไป ความต้องการระลึกถึงทั้งในแง่ของคุณูปการของตัวบุคคล รวมถึงการระลึกถึงช่วงเวลาสำคัญนั่นคือเหตุการณ์การอพยพย้ายถิ่น นำไปสู่การแสดงออกในรูปแบบของพิธีกรรม และได้กลายเป็นวิถีปฏิบัติที่ถูกส่งต่อมายังปัจจุบัน เช่น พิธีเลี้ยงปีผีเจ้านาย ซึ่งได้จัดเป็นประจำทุกปี สิ่งที่ช่วยทำให้พิธีนี้ถูกส่งต่ออย่างต่อเนื่องนั่นคือ การที่ผู้ปกครองนำบุตรของตนเข้าสู่พิธีถือผี (ผู้เขียนคาดว่าน่าจะคล้ายกับการบายศรีสู่ขวัญ) ดังนั้นจึงถือได้ว่าลูกหลานกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง บ้านทุ่งผักกูดนั้น เมื่อเกิดมาแล้วจะต้องมีชีวิตที่ยึดโยงกับความเชื่อและวิถีปฏิบัติเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือหากมีความต้องการหลีกเลี่ยง มักจะนำไปสู่คำถามซึ่งไร้คำตอบ เช่นชีวิตจะเป็นไปอย่างไร อาจเป็นสิ่งที่สร้างความหวาดกลัว ไปจนถึงลดความมั่นใจในการใช้ชีวิตของบุคคลนั้น ๆ ทั้งนี้ พิธีเลี้ยงปีผีเจ้านายนอกจากจะได้กระทำเพื่อไม่ให้ความทรงจำเกี่ยวกับการอพยพถิ่นฐานและรำลึกถึงวิญญาณผู้เป็นวีรบุรุษของชุมชนสูญหาย ยังช่วยทำให้ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม อันสะท้อนอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง บ้านทุ่งผักกูด เช่น การสร้างตาแหล๋ว-สัญลักษณ์เพื่อสื่อสารกับดวงวิญญาณ การประกอบอาหารที่ใช้สำหรับพิธีเซ่นไหว้ การฟ้อนรำและการบรรเลงดนตรี รวมถึงลวดลายบนผืนผ้าเครื่องแต่งกายที่ทั้งใช้ในการแสดงสำหรับพิธีและใช้นุ่งห่มในชีวิตประจำวันไม่สูญหายไปอีกด้วย
ผู้เขียนมองว่าสิ่งที่ช่วยให้ชุมชนลาวครั่ง บ้านทุ่งผักกูด รวมถึงท้องถิ่นอื่น ๆ สามารถเข้าถึงและสร้างเครือข่ายต่อกันได้ นอกจากความมีจิตใจมุ่งมั่นที่จะสืบทอดวิถีชีวิตอันเป็นอัตลักษณ์ของตนเองไม่ให้เลือนหายแล้ว การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งทรัพยากร ความรู้ การจัดการ รวมถึงงบประมาณ เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ชุมชนสัมผัสได้ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่กลุ่มของตนมีนั้นล้วนแล้วแต่ทรงคุณค่า ได้รับการยอมรับ ควรแก่การสืบทอดและรักษา ควบคู่ไปกับการพัฒนาโดยความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ให้สอดรับกับโลกที่หมุนรวดเร็วจนเกินจะควบคุมได้ด้วยเพียงสองมือของเรา