ตำนานพระโพธิสัตว์กวนอิมในประเทศจีน
การศึกษาพัฒนาการทางอัตลักษณ์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในประเทศจีนแสดงให้เห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่สำคัญ โดยพบหลักฐานสำคัญจากบันทึกทางประวัติศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดีในยุคสมัยต่างๆ ดังนี้
ตามบันทึกของพระเหี้ยนจัง หรือ พระถังซำจั๋ง พระภิกษุจีนที่ไปอัญเชิญพระไตรปิฎกมายังจีน ได้บันทึกถึง (ศิลปวัฒนธรรม 2539 : 106) พระโพธิสัตว์ในประเทศอินเดียไว้ว่า พระโพธิสัตว์ในอินเดียล้วนมีรูปลักษณ์เป็นเพศชายทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันรูปลักษณ์ของพระโพธิสัตว์ในคติพุทธศษสนามหายานว่าเป็นบุรุษเพศ
ต่อมาเมื่ออินเดียสร้างความสัมพันธ์กับจีน ด้วยการค้าระหว่างอาณาจักรโบราณระหว่าง ราชวงศ์กุษาณ (อินเดีย) กับ ราชวงศ์ฮั่น (จีน) หนึ่งในเครื่องราชบรรณาการของอินเดียที่มอบให้กับจีน คือพุทธศาสนา พุทธศาสนามหายานได้รับการถ่ายทอดเข้าสู่จักรวรรดิจีนในรัชสมัยของจักรพรรดิอู่ตี้ (Wu Di) แห่งราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty) ชาวจีนเริ่มหันมานับถือพุทธศาสนาตามอย่างชนชั้นปกครอง ประกอบกับมีการเผยแพร่พุทธปรัชญา ผ่านการแปลพระสูตรมหายานเป็นภาษาจีน ส่งผลให้พระภิกษุจีนเข้าใจหลักธรรม และศรัทธาในคุณธรรม และจริยธรรมของพระโพธิสัตว์ที่ปรากฎในพระสูตรจึงเป็นผู้ศรัทธากลุ่มแรกที่บูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
เมื่อพุทธศาสนามหายานประดิษฐานในจีนได้สำเร็จ ก็ก่อตั้งสำนักสุขาวดี หรือ จิ้งกู่ (Ching T’u) ขี้น สำนักนี้นับถือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เนื่องจากเป็นพระโพธิสัตว์ประจำพระอมิตาภพุทธเจ้า ประมุขแห่งพุทธเกษตรสุขาวดี ตามพระสูตรมหายาน “สุขาวดียูหสูตร” หรือ “สุขาวดีสูตร” ต่อมาพบหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับพัฒนาการทางอัตลักษณ์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่แสดงให้เห็นถึงพลวัตรของการแปลความหมายทางศาสนาที่มีความซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตามบริบทวัฒนธรรมของจีน ดังนี้
ระยะเริ่มแรก อัตลักษณ์ทางเพศสภาพเป็นสัณฐานแบบดั้งเดิม
ช่วงราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (พ.ศ. 566-763) พบหลักฐานการสร้างรูปปั้นพระอวโลกิเตศวรตามแบบอินเดีย คือ บุรุษเพศ
ระยะการปรับเปลี่ยนทางเพศสภาพ
สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก-ตะวันออก (พ.ศ. 808-907) เริ่มปรากฏการเปรียบเทียบพระโพธิสัตว์กับความงามของเพศหญิง
สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 1161-1454) จิตรกรราชสำนักชื่อ อู่เต้าจื่อ เริ่มสร้างภาพแทนที่มีลักษณะกึ่งชายกึ่งหญิง โดยยังคงสัญลักษณ์ทางเพศชายบางประการ เช่น มีพระมัสสุคือหนวด อยู่ที่เหนือริมพระโอษฐ์ ช่วงปลายราชวงศ์นี้เริ่มมีตำนานเรื่องการจำแลงพระวรกายลงมาช่วยเหลือมนุษย์ ในรูปร่างต่างๆ หนึ่งในรูปจำแลงเหล่านั้นก็มีที่เป็น “ผู้หญิง” อยู่ด้วย
รัชสมัยของพระจักรพรรดินีบูเช็คเทียน เป็นช่วงแห่งการปฏิวัติรูปเคารพของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เนื่องจากพระนางทรงโปรดฯ ให้สร้างรูปเคาพรพของพระโพธิสัตว์ให้มีลักษณะอ่อนช้อยเหมือนสตรีเพศเพื่อสนองอำนาจของพระนางที่เป็นสตรีผู้ปกครองประเทศในขณะนั้น
ต่อมา มีการสร้างชุดความหมายและอัตลักษณ์ที่ซับซ้อนโดยการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ในประเทศอินเดีย กับเรื่องเล่า/ตำนานในท้องถิ่นโดยพยายามผูกโยงให้พระโพธิสัตว์เป็นเจ้าหญิง นามว่า “เจ้าหญิงเหมี่ยวซาน” พระราชธิดาองค์สุดท้องของกษัตริย์เมี่ยวจวงและพระนางเป่าอิง แห่งอาณาจักรซิงหลิน จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าใน สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279) พบศิลาจารึกเจี่ยงจือฉี หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของตำนาน “เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน”
ตำนานเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน
เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านมีพี่สาว 2 คนคือ เมี่ยวจินและเมี่ยวอิ่น ในช่วงเยาว์วัย เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านทรงฝักใฝ่ในธรรม ประพฤติตนเป็นพุทธมามกะที่ดี ไม่สนลาภ ยศ เงินทองใดๆ ทั้งยังทรงตั้งพระทัยที่จะบำเพ็ญภาวนาอย่างแน่วแน่ เพื่อหลุดพ้นสังสารวัฏ แต่เมื่อถึงวัยที่ต้องออกเรือน พระเจ้าเมี่ยวจวงผู้เป็นบิดาได้บังคับให้เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านเลือกคู่ครองและแต่งงาน เพื่อสืบทอดราชบัลลังก์
ทว่าเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านไม่ประสงค์เช่นนั้น ท้ายที่สุดจึงตัดสินใจออกบวชเป็นภิกษุณี ในวันที่ 19 เดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติ ในช่วงเวลานั้นเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านก็ถูกพระบิดากลั่นแกล้งด้วยการใช้งานอย่างหนักหน่วงต่างๆ นานา เพื่อให้รู้สึกทรมานและเปลี่ยนความตั้งใจกลับไปใช้ชีวิตในวังดังเดิม แต่ด้วยจิตใจอันเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ทำให้เจ้าหญิงทรงเอาชนะอุปสรรคทั้งปวงได้สำเร็จ พระเจ้าเมี่ยวจวงทรงรู้สึกกริ้วอย่างมาก จึงรับสั่งให้ทหารเผาวัดนกยูงขาว พร้อมกับบรรดาพระและแม่ชีในวัดจำนวน 500 รูป แต่โชคดีที่เจ้าหญิงเมี่ยวซานปลอดภัยและรอดชีวิตมาได้
แต่ถึงอย่างไร พระเจ้าเมี่ยวจวงยังคงไม่ละความพยายามที่จะปลิดชีวิตบุตรธิดา จึงรับสั่งให้เพชรฆาตประหารชีวิตเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านเสีย ทว่าคมดาบไม่สามารถทำร้ายเจ้าหญิงได้เลย ในที่สุดก็มีเทวดาแปลงกายเป็นเสือมาช่วยและพาตัวเจ้าหญิงไปที่ภูเขาเหลียงซาน ภายหลังเทพไท่ไป๋จินซิง เทวดาชั้นสูงในลัทธิเต๋าได้มาโปรดและชี้แนะเจ้าหญิง จนบรรลุมรรคผล ต่อมาไม่นาน พระเจ้าเมี่ยวจวงทรงเกิดอาการประชวรหนัก หากจะรักษาต้องใช้ดวงตาและแขนมนุษย์เท่านั้น ด้วยความกตัญญูกตเวทีของเจ้าหญิงเมี่ยวซาน พระองค์จึงยอมสละดวงตาและแขนเพื่อรักษาพระบิดาให้หายจากโรคร้าย ว่ากันว่าเมื่อเจ้าหญิงทรงสำเร็จอรหันต์แล้ว ก็ได้ดวงตากับแขนกลับคืนมาดังเดิม
ตำนานเจ้าหญิงเมี่ยวซาน สะท้อนกระบวนการต่อรองทางอำนาจและอุดมการณ์ทางเพศสภาพในบริบทสังคมจีนสมัยโบราณ เพื่อสร้างพื้นที่ทางสัญลักษณ์ให้กับสตรีในสังคมชายเป็นใหญ่เพื่อต่อต้านโครงสร้างอำนาจทางสังคมผ่านการเลือกเส้นทางบรรพชิต การสร้างอัตลักษณ์ทางจิตวิญญาณที่เป็นอิสระจากบรรทัดฐานทางสังคม และ 3. บทบาทของเจ้าหญิงในฐานะตัวแทนแห่งความกตัญญูและการสละตน