หัวจักรเย็บผ้า SINGER
หัวจักรเย็บผ้า เป็นส่วนเครื่องจักรทั้งหมดที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ ส่วนนี้ประกอบด้วยเครื่องกลไกที่เกี่ยวกับการเย็บหลายชิ้นประกอบเข้าด้วยกัน และเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของการเย็บผ้า โดยหัวจักรเย็บผ้านี้เป็นของยี่ห้อ SINGER ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2432 และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
หัวจักรเย็บผ้า ยี่ห้อ SINGER สีดำขอบน้ำตาล มีลวดลายเป็นตัวอักษร ชื่อยี่ห้อและโลโก้สีเหลืองส้ม ผู้สร้างจักรซิงเกอร์คือไอแซค เมอร์ริตต์ ซิงเกอร์ แต่เขาไม่ใช่คนแรกที่สร้างจักรเย็บผ้าขึ้น โดยโทมัส เซนต์ ได้ชื่อเป็นผู้ประดิษฐ์จักรเย็บผ้าคนแรก และจดสิทธิบัตรไว้ในปี ค.ศ. 1790 ต่อมามีผู้พยายามคิดค้นและออกแบบเครื่องจักรเพื่อผ่อนแรงช่างเย็บหลากหลายรูปแบบ ทว่าทั้งหมดล้วนใช้งานได้ลำบาก หรือแทบใช้ไม่ได้
ยุคของจักรเย็บผ้าเริ่มต้นขึ้นที่อเมริกา ในทศวรรษ 1850 (ช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 4) มีผู้ผลิตจักรเย็บผ้าหลากหลายรูปแบบออกสู่ตลาด รวมทั้ง ไอแซค ซิงเกอร์ ที่เริ่มผลิตจักรออกขายในปีค.ศ. 1853 แม้จะมีผู้ผลิตหลายราย แต่จักรของซิงเกอร์มีประสิทธิภาพสูง สามารถเย็บได้ 347 ฝีเข็มต่อนาที ลดเวลาการเย็บเสื้อเชิร์ตผู้ชาย จาก 14 ชั่วโมง เหลือเพียง 1 ชั่วโมง 16 นาที เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1860 จักรซิงเกอร์ 400 คัน ทำงานได้เท่ากับช่างเย็บมือ 2,000 คน และร้อยละ 80 ของจักรเย็บผ้าที่ขายทั่วโลกเป็นของซิงเกอร์
ในประเทศไทย ซิงเกอร์เข้ามาเปิดตลาดในปีค.ศ. 1889 (พ.ศ.2432 รัชสมัยรัชกาลที่ 5) และเริ่มต้นการตลาดแบบขายตรงพร้อมระบบผ่อนชำระ ในปีค.ศ. 1925 (พ.ศ. 2468 ต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 7) ตอนนั้นราคาจักรเย็บผ้าอยู่ที่ คันละ 180 บาท หากซื้อเงินผ่อนราคาขยับขึ้นไปที่ 200 บาท นับเป็น บริษัทแรกในเมืองไทยที่ขายสินค้าแบบผ่อนชำระ ส่งผลให้จักรซิงเกอร์เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อความต้องการเครื่องผ่อนแรงในครัวเรือน ทั้งยังสามารถเป็นที่มาของรายได้