ตราประทับถือเป็นเอกลักษณ์ที่แสดงตัวตนของบุคคลอย่างหนึ่งในสังคมจีนที่มีมาช้านาน สันนิษฐานว่าตราประทับมีพัฒนาการมาจากการแกะสลักตัวหนังสือบนกระดองเต่าและกระดูกสัตว์ในสมัยซาง (ประมาณ ๔,๕๐๐ ปีก่อน) จากหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการขุดค้นพบ มีการใช้ตราประทับมาไม่น้อยกว่าสมัยจั้นกว๋อ (ปลายสมัยโจวประมาณ ๒,๕๐๐ ปีก่อน)
ต่อมาเล่ากันว่าพอฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) ปราบแคว้นจ้าวสำเร็จ ก็ได้หยกเหอสือปี้ในตำนานมาไว้ในครอบครอง และหลังจากกำราบ ๖ แคว้น สถาปนาตนเองเป็นฮ่องเต้ จึงให้หลี่ซือขุนนางคนสนิทนำหยกเหอสือปี้ไปแกะเป็นตราประทับ โดยมีข้อความเป็นอักษรจีน ๘ ตัวว่า 《受命于天,即寿永昌》ต่อมาเล่ากันว่าฉินสื่อฯ เสด็จทางชลมารค เกิดลมพายุใหญ่ เรือพระที่นั่งโคลงเคลง ฉินสื่อเกรงเรือจะล่ม จึงอธิษฐานต่อเทพยดา แล้วโยนตราประทับนั้นลงไปในน้ำ ทันใดนั้นคลื่นลมก็พลันสงบ นับแต่นั้นตราประทับเหอสือปี้ ก็หายสาบสูญไปในที่สุด
นับแต่โบราณ ตราประทับเป็นสัญลักษณ์แสดงตัวตน ตลอดจนฐานะของบุคคล จึงเป็นสิ่งที่แสดงถึงอำนาจไปโดยปริยาย คนจีนนับแต่โบราณ (และในปัจจุบัน) เรียกตราประทับว่า "อิ้น" 《印》(สำเนียงจีนกลาง) นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันดังต่อไปนี้
1. 玺 ซี่ หลังจากฉินสื่อหวงฯ สถาปนาตนเองเป็นที่ฮ่องเต้ จึงมีคำสั่งให้ใช้คำว่า "ซี่" เรียกแทนตราประทับสำหรับโอรสสวรรค์ (ฮ่องเต้) ส่วนขุนนางและประชาชนทั่วไป ให้เรียกว่า "อิ้น"
2. 宝 เป่า เนื่องจากคำว่า "ซี่" เรียกไปเรียกจะออกเสียงคล้ายกับคำว่าว่า "สื่อ"《死》 ที่แปลว่าตาย ต่อมาจึงเลี่ยงไปใช้คำว่า "เป่า" ที่แปลว่าของมีค่า, ของวิเศษ, แก้ว แทน
3. 章 จาง ในสมัยฮั่นใช้คำว่า "จาง" เรียกแทนตราประทับของแม่ทัพ
4. 记 จี้ มีความหายถึงการรู้จักการจดจำ เริ่มใช้ในสมัยถังและซ่ง
5. 关防 กวนฝาง ในสมัยหมิงไท่จู่ เพื่อป้องกันข้าราชการนัดแนะกันเอง จึงมีการกำหนดให้เอกสารราชการประทับตรา "กวนฝาง" นี้ทุกครั้ง ตลอดจนมีการนำไปพิมพ์ด้วย ต่อมาแม้จะมีการเลิกวิธีการดังกล่าว แต่ก็ยังมีการใช้คำๆ นี้เรื่อยมา
ในสมัยโบราณตราประทับจะทำจากหยกหรือหินที่มีค่า ชาวบ้านสามัญชนนั้นยากที่จะมีได้ โดยนับแต่โบราณตราประทับจากทำจากหยกหรือหินมีค่า ในสมัยถังเริ่มมีการทำตราประทับจากโลหะ เช่น ทอง เงิน สำริด และตราประทับที่ทำจากกระเบื้องเริ่มมีการทำขึ้นในสมัยถังและซ่ง
โดยทั่วไปตราประทับจะแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด ดังที่คนในวงการเรียกกันว่า ตัวผู้หรือตัวเมีย หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า อินหยาง (หยินหยาง) โดยที่ตราประทับหยาง《阳印》คือ คัวหนังสือเป็นสีแดง ส่วนพื้นจะปล่อยเว้นว่างไว้ ส่วนตราประทับอิน 《阴印》คือตราประทับที่พื้นเป็นสีแดง ส่วนที่เป็นตัวหนังสือจะเว้นว่างไว้ และด้วยเหตุที่ตราประทับอินจะมีสีแดงมาก จึงมีอีกชื่อว่า "จูอิ้น" 《朱印》หรือ "ตราประทับชาด" ซึ่งตราประทับในสมัยโบราณที่พบนั้นโดยมากจะเป็นตราประทับอิน ส่วนตราประทับในชั้นหลังๆ จะเป็นตราประทับหยาง เป็นส่วนใหญ่ อนึ่งตราประทับผู้เมีย หรือตราประทับอินหยางนี้ ไม่ได้ใช้เป็นเครื่องกำหนดเพศของผู้ใช้แต่อย่างใด
ประเทศไทยได้มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนมายาวนาน ในเอกสารจีนเล่าว่าในรัชสมัยหงอู่ปีที่ ๑๐ ในแผ่นดินหมิงไท่จู่ฮ่องเต้ ไทยได้แต่งทูตไปจีน พระเจ้าไท่จู่พอพระทัยให้สร้างประทับหนึ่งดวงให้กับไทย โดยมีข้อความว่า "ตราประทับแห่งพระเจ้ากรุงสยาม" 《暹罗国王之印》หลังจากนั้นในสมัยกรุงธนบุรีและตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยก็ได้รับตรามาจากจีนเช่นกัน ตราประทับที่จีนส่งให้นั้นเรียกว่าตราโลโต (ตราพระราชลัญจกรมหาโลโต) แต่เดิมเป็นตราประทับเงินชุบทอง ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ได้เปลี่ยนเป็นหยก บนตราประทับทำเป็นรูปอูฐหมอบ (คำว่า "โลโต" ตรงกับภาษาจีนกลางว่า "ลฺว่อถฺวอ "《骆驼》 แปลว่าอูฐ) ไทยนั้นได้ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนในฐานะมิตรสหาย แต่จีนเห็นว่าการมาทั้งนี้เพื่อมาถวายของบรรณาการเพื่อความเป็นประเทศราช จึงได้มอบตราอูฐซึ่งมีความหมายถึงประเทศราชให้ ทั้งนี้ไทยยังมีตราประทับอีก ๒ ดวงเรียกว่า ตราอูฐทองและอูฐหยก