ภาพ ผู้หญิงชาวบ้านนวดข้าวที่เพิ่งหุงเสร็จใหม่ๆ
โบม หรือบางท้องถิ่นเรียกว่า บม กระบม กระโบม อัวะ อั๊วะ กัวะ หรือกั๊วข้าว เป็นอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ควบคู่กับด้ามไม้เพื่อใช้ในการเตรียมข้าวเหนียว หลังจากหุงข้าวเหนียวได้ที่แล้วจะเทข้าวเหนียวออกจากหวดใส่โบมที่มีการพรมน้ำเล็กน้อยแล้วใช้ด้ามไม้เกลี่ยไล่ไอร้อนจากข้าวเหนียวเพื่อลดอุณหภูมิ พร้อมกับนวดข้าวกลับไปกลับมาจนได้ที่ก่อนนำไปใส่ในกระติบ วิธีการเช่นนี้จะช่วยให้ข้าวเหนียวไม่แฉะ ไม่ติดมือเวลารับประทาน และหากรับประทานไม่หมดก็สามารถนำข้าวเหนียวไปอุ่นเพื่อทานในวันถัดไปได้
การทำโบมมักทำมาจากไม้สัก เนื่องจากต้นสักถือเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่มักขึ้นในแถบภาคเหนือ และมีในภูมิภาคอื่น ๆ ในนอดีตถือเป็นไม้ที่หาได้ง่ายจึงนิยมนำไม้สักมาที่เป็นแผ่นขนาดใหญ่มาทำเป็นโบม ไม้สักถือเป็นไม้เนื้อตามมาตรฐานของกรมป่าไม้ แต่มีคุณสมบัติที่สามารถนำมาเลื่อย ไส เจาะ กลึงอยู่ในระดับค่อนข้างง่ายจึงมักนิยมนำมาแกะสลักและทำส่วนประกอบต่าง ๆ ของอาคารบ้านเรือน การทำโบมเริ่มจากร่างเส้นวงกลมบนแผ่นไม้ หรือร่างเป็นทรงอื่นตามความต้องการ หลังจากนั้นจะใช้สิ่วเจาะ ขุด ถากเนื้อไม้ออก ทำขอบไม้สำหรับเป็นด้ามจับ และใช้กระดาษทรายขัดผิวให้เรียบ ในบางพื้นที่จึงอาจพบโบมได้ทั้งทรงกลม และทรงสี่เหลี่ยม
ภาพ โบมทรงกลม และโบมทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าของชุมชนไทญ้อบ้านโพน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
นอกจากโบมจะมีความสำคัญต่อครัวเรือน และบ่งบอกสถานะทางสังคมของผู้หญิง เช่น การออกเรือนของสาวล้านนาจะมีความเชื่อดั้งเดิมว่า เมื่อหญิงสาวจะออกไปมีครอบครัวจะต้องเตรียมอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ที่สำคัญ เช่น ข้าว ครก และกัวะ (โบม) เพื่อให้พร้อมต่อการสร้างครอบครัว สามารถการหุงหาอาหารเพื่อดูแลครอบครัวได้ หากครอบครัวใดมีจำนวนสมาชิกเยอะก็มักจะทำโบมให้ขนาดใหญ่เหมาะสมกับสมาชิกของครอบครัวด้วย และในบางโอกาสเมื่อมีแขกมาเยี่ยมเยือนโบมก็มักถูกใช้เป็นภาชนะสำหรับรองถ้วยชาม หรือเป็นสำรับอาหาร หลังจากใช้งานโบมเสร็จแล้วจึงมักจะทำความสะอาด และแขวนเก็บไว้ตามฝาผนังในครัวให้เรียบร้อยมักไม่วางในพื้นที่ต่ำด้วยมีความเชื่อว่าเป็นของสูงตามที่ได้ใช้สำหรับเตรียมข้าวอันเป็นอาหารหลักของมนุษย์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้จัดแสดงโบมเอาไว้ที่นิทรรศการช่างคิด เพื่อแสดงให้เห็นถึงเครื่องมือ เครื่องใช้ที่แสดงให้เห็นวัฒนธรรมการสร้างสรรค์ของมนุษย์
โบม จัดแสดง ณ นิทรรศช่างคิด ช่างทำ
อ้างอิง
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. (2555). โบม. สืบค้น 9 ธันวาคม 2567, จาก http://m-culture.in.th/album/156520/%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%A1
ทิดหมู มักม่วน. (2567). เครื่องใช้ในครัวเรือนที่นับวันจะสาปสูญ (1). สืบค้น 9 ธันวาคม 2567, จาก https://www.isangate.com/new/isan-knowledge/152-home-kitchen.html
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. (2558). บม. ใน อภิวันทน์ อดุลยพิเชฏฐ์ (บ.ก.), พจนานุกรมหัตถกรรมเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน, (น. 268). กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.
รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์. (2559). กัวะป๋งข้าว จากของใช้ในครัวเรือนสู่ของประดับตกแต้ง. ใน นุชจรี ใจเก่ง และ นวลพรรณ บุญธรรม (บ.ก.), Re-collection ย้อนทวนความหมายของไม่ธรรมดา, (น. 184-191). กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).