ประเพณีแห่ผีตาโขน เป็นงานประเพณีที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีการปฏิบัติและสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จึงทำให้งานประเพณีผีตาโขน เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดเลย ซึ่งจะจัดขึ้นหลังวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม
ต้นกำเนิดของ “ผีตาโขน” นั้น เดิมมีชื่อเรียกว่า “ผีตามคน” เป็นเทศกาลที่ได้รับอิทธิพลมาจาก มหาเวสสันดรชาดก ชาดกในพระพุทธศาสนา มีตำนานว่าเมื่อครั้งพระเวสสันดร และนางมัทรี จะเดินทางออกจากป่ากลับเข้าสู่เมือง มีผีป่าและสัตว์ต่างๆ ที่รักพระเวสสันดรและนางมัทรี พากันแฝงตนมากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับสู่เมืองด้วยความอาลัย นั่นคือที่มาของ “ผีตามคน” หรือ “ผีตาขน” จนกลายมาเป็น “ผีตาโขน” ในปัจจุบัน
ระยะเวลาในการจัดงานประเพณีบุญหลวง และงานผีตาโขน จะมีด้วยกัน 3 วัน คือ
วันแรกของขบวนแห่ เหล่าผีตาโขนจากหมู่บ้านต่าง ๆ จะมารวมตัวกันเพื่อร่วมขบวนอัญเชิญและแห่พระอุปคุตจากท่าน้ำลำน้ำหมัน มาประดิษฐานที่วัดโพนชัย
รูปที่ 1 ขบวนแห่ผีตาโขน
(ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1134494)
วันที่สองเป็นพิธีแห่พระเวสที่เหล่าผีตาโขนและชาวบ้านเดินตามขบวนแห่พระเวสสันดรไปรอบเมืองก่อนตะวันตกดิน
ขบวนพิธีอันเชิญพระเวสสันดร และนางมัทรีเข้าเมือง
เป็นการจำลองเหตุการณ์เมื่อพระเวสสันดรและนางมัทรีเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมืองหลวง
(ที่มา : https://www.thaipost.net/news-update/406703/)
ระยะเวลาในการจัดงานประเพณีบุญหลวง และงานผีตาโขน จะมีด้วยกัน 3 วัน คือ
วันแรกของขบวนแห่ เหล่าผีตาโขนจากหมู่บ้านต่าง ๆ จะมารวมตัวกันเพื่อร่วมขบวนอัญเชิญและแห่พระอุปคุตจากท่าน้ำหมัน
วันที่สองเป็นพิธีแห่พระเวสที่เหล่าผีตาโขนและชาวบ้านเดินตามขบวนแห่พระเวสสันดรไปรอบเมืองก่อนตะวันตกดิน
วันที่สามเป็นการรวมเอาประเพณีประจำปีต่าง ๆ ของปีมาจัดพร้อมกันในงานบุญหลวง คืองานบุญพระเวส (ฮีตเดือนสี่) งานบุญบั้งไฟ (ฮีตเดือนหก) งานบุญซำฮะหรือ (ฮีตเดือนเจ็ด) เพื่อเป็นการสร้างกุศลและสิริมงคลแก่ชีวิต ส่วนคนที่แต่งกายเป็นผีตาโขนต้องถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนออกให้หมดและนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน ห้ามนำเข้าบ้าน เพื่อเป็นการทิ้งความโศกเศร้าและสิ่งไม่ดีออกไปจากชีวิต
ในขบวนแห่ผีตาโขน จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก
ผีตาโขนใหญ่ ทำจากไม้ไผ่สาน และมีขนาดใหญ่กว่าคนทั่วไปประมาณ 2 เท่า โดยจะถูกประดับตกแต่งด้วยเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น รูปร่างหน้าตาของผีตาโขนใหญ่จะมีความโดดเด่นโดยที่คนเล่นจะต้องเข้าไปอยู่ภายในตัวหุ่น ในแต่ละปีจะมีการสร้างผีตาโขนใหญ่เพียง 2 ตัว ได้แก่ ผีตาโขนชาย 1 ตัว และผีตาโขนหญิง 1 ตัว ซึ่งสามารถสังเกตได้จากลักษณะเครื่องเพศที่เด่นชัดของตัวหุ่น การทำผีตาโขนใหญ่จะมีเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าของงานเท่านั้น และต้องทำต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อย 3 ปี เพื่อรักษาประเพณีไว้
รูปที่ 1 ผีตาโขนใหญ่
(ที่มา : https://www.thaipost.net/news-update/406703/)
ผีตาโขนเล็ก เป็นการละเล่นที่เปิดโอกาสให้เด็ก วัยรุ่น หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ ทั้งชายและหญิงสามารถมีส่วนร่วมได้ แต่ผู้หญิงมักจะไม่ค่อยเข้าร่วม เพราะลักษณะของการเล่นเป็นการผาดโผนและซุกซน
รูปที่ 2 ผีตาโขนเล็ก
( ที่มา : https://www.thairath.co.th/multimedia/gallery/lifestyle/travel/34560)
การแต่งกายสำหรับผีตาโขนทั้งสองชนิดจะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ซึ่งสามารถเห็นได้จากความคิดสร้างสรรค์และการใช้วัสดุที่หาได้จากในท้องถิ่น
หน้ากากผีตาโขนมีส่วนประกอบดังนี้
- หัวของผีตาโขน ทำจากหวดนึ่งข้าวเหนียวมาหักพับขึ้นให้มีลักษณะคล้ายหมวก
- หน้าทำจากโคนก้านมะพร้าวถากเป็นรูปหน้ากาก เย็บต่อกับส่วนหัว แล้วเจาะช่องตา
- จมูกทำจากไม้เนื้ออ่อนแกะสลักเป็นรูปร่างต่าง ๆ คล้ายกับจมูกคน ปัจจุบันนิยมทำยาวเป็นงวงช้าง
- เขาทำจากปลีมะพร้าวแห้งมาตัดให้ได้ขนาดที่ต้องการแล้วติดที่ข้างหวด
- เครื่องแต่งกาย ชุดทำจากเศษผ้าที่เย็บติดกัน
- อุปกรณ์เพิ่มเติมจะมี “หมากกะแหล่ง” (ลักษณะคล้ายกระดิ่งที่ใช้แขวนคอกระบือ) หรือกระดิ่ง กระพรวน กระป๋อง ที่ผูกติดกับบั้นเอว แขวนคอ หรือถือเพื่อให้เกิดเสียงดังในขณะเดินหรือแสดงท่าทาง
- อาวุธ ทุกตัวจะมีอาวุธประจำตัว เช่น ดาบหรือง้าว ทำจากไม้เนื้ออ่อน
หน้ากากผีตาโขนที่จัดแสดงในนิทรรศการนานาหน้ากาก เป็นหน้ากากผีตาโขนเล็ก มีทั้งหมด 5 ชิ้น
รูปที่ 1 หน้ากากผีตาโขน
จัดแสดง ชั้น 1 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

จัดแสดง นิทรรศการนานาหน้ากาก ชั้น 2 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

จัดแสดง นิทรรศการนานาหน้ากาก ชั้น 2 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

จัดแสดง ชั้น 1 อาคารสุข กาย ใจ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

จัดแสดง ชั้น 1 อาคารสุข กาย ใจ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
สามารถรับชม "วิธีเขียนสีหน้ากากผีตาโขน" ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=PXqm5wudkds
แหล่งอ้างอิง
https://www.silpa-mag.com/history/article_8354
https://th.wikipedia.org/wiki/ผีตาโขน
https://www.prachachat.net/local-economy/news-1329473
https://thai.tourismthailand.org/Attraction/พิพิธภัณฑ์ผีตาโขนวัดโพนชัย
http://ich.culture.go.th/article/detail/6291f35836ab3f111c55735d
https://www.damrong-journal.su.ac.th/upload/pdf/71_8.pdf
https://jirapornphitakhon.wordpress.com/วิธีทำหน้ากากผีตาโขน/
https://www.thailandfoundation.or.th/th/culture_heritage/phi-ta-khon/
https://travel.trueid.net/detail/V27xVYEpAxW3