ส้อมแทงปลาไหล เป็นอุปกรณ์การประมงที่มีการใช้มานานในวัฒนธรรมการตกปลาแบบพื้นบ้าน โดยเฉพาะในการจับปลาไหล ซึ่งเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในน้ำตื้น ส้อมแทงปลาไหลเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจับปลาไหล ซึ่งอาศัยอยู่ในดินโคลนตามแหล่งน้ำ เช่น สระ คลอง หรือบริเวณที่มีน้ำแห้ง โดยอุปกรณ์นี้มีลักษณะคล้ายกับส้อมที่ใช้งานบนโต๊ะอาหาร ซึ่งมีซี่แยกออกเป็นสองง่ามและมีด้ามจับสำหรับใช้กดแทงปลาไหล โดยปกติแล้วจะมีซี่เป็นง่ามสองซี่และมีคันจับที่ยาวพอเหมาะสำหรับการใช้งาน
รูปที่ 1 แสดงภาพการใช้มือจากตัวปลาขึ้นจากดินโคลนใช้นิ้วชี้กดตัวปลาขัดกับปลายส้อม
หมายเหตุ. จาก หนังสือ ล่า ดัก จับ กับ ดัก อีสาน หน้า 27
รูปที่ 2 ส้อมแทงปลาไหล
หมายเหตุ. จาก นิทรรศการช่างคิด ช่างทำ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ลักษณะของส้อมแทงปลาไหล ที่จัดแสดง ณ นิทรรศการช่างคิด ช่างทำ
ทำจากเหล็ก มีความยาวประมาณ 51 เซนติเมตร ปลายจะมีง่ามยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ห่างกันประมาณ 1 เซนติเมตร โดยด้านปลายถูกตะไบให้แหลม แต่ไม่คมเพื่อป้องกันการทำร้ายปลา ด้ามจับทำจากไม้เนื้อแข็งที่ถูกถากให้โค้งยาวประมาณ 13 เซนติเมตร พร้อมเจาะและบากตรงกลางเพื่อเพิ่มความสะดวกในการจับ
นอกจากเรียกว่า ส้อมแทงปลาไหลแล้ว ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น เหล็กแทงปลาไหล หรือ แหลมแทงเอียน
ส่วนแหลมแทงเอียนนั้น ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกเครื่องมือประมงชนิดนี้ว่า “แหลมแทงเอียน” (ปลาไหล) เช่น ใช้เรียกเครื่องมืออุปกรณ์ประมงของชาวบ้านในชุมชนบ้านผึ้ง จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำมูลตอนกลาง เป็นชุมชนที่ทำการประมงพื้นบ้านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สมัยก่อนการทำประมงของคนในชุมชน นิยมใช้วัสดุในท้องถิ่นมาทำเป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ลักษณะของแหลมแทงเอียนทำจากเหล็กกลมที่มีความแข็งแรงเพื่อให้ทนทานต่อการใช้งานในน้ำและดิน มีความยาวประมาณ 1 เมตร ซึ่งเหมาะสมสำหรับการใช้งานในน้ำตื้น ปลายแหลมถูกออกแบบในรูปแบบง่ามแหลม เพื่อให้สามารถแทงสัตว์น้ำได้อย่างแม่นยำ ส่วนด้านจับทำจากไม้ มีการขัดและทำให้เรียบเพื่อให้สะดวกในการถือ และความยาวของด้ามจับมักจะพอเหมาะสำหรับการใช้ในการแทงสัตว์น้ำ
วิธีการใช้งาน
ผู้ใช้ส้อมปลาไหลมักจะพกส้อมปลาไหลติดมือไปในช่วงเวลากลางวัน โดยไม่จำเป็นต้องจับปลามากเกินความจำเป็น ปกติแล้วสามารถใช้ปลาเพียงตัวเดียวก็สามารถประกอบอาหารได้จำนวนมาก การค้นหารูปลาไหลมักเกิดขึ้นในแหล่งน้ำแห้งหรือน้ำซึม เพื่อสังเกตรูที่ปลาไหลทำไว้
1. การหาปลาไหล มองหารูปลาไหลในดินโคลน บางครั้งอาจต้องงัดก้อนดินที่แห้งออกเพื่อทำให้สามารถเห็นรูได้ชัดเจน สังเกตการเคลื่อนที่ของน้ำที่ซึมขึ้นมา ซึ่งหมายความว่ามีปลาเคลื่อนไหวอยู่ในบริเวณนั้น
2. การแทงส้อม เมื่อมองเห็นรูปลาไหลแล้ว สามารถแทงส้อมลงไปในดินโคลน โดยแทงชิดหรือห่างออกกันตามที่สังเกตเห็น หากแทงถูกปลา เบื้องต้นส้อมจะรู้สึกสะดุดติดอะไรบางอย่าง จะต้องทำการยึดไว้ไม่ให้กดลงหนักเกินไปเพื่อป้องกันการทำร้ายปลา
3. การจับปลาใช้มือล้วงโคลนออกจากรูเพื่อดึงตัวปลาไหลออกจากรูปลาไหลที่จับได้ด้วยวิธีนี้มักมีสีสันสวยงามและมีรสชาติดีกว่าปลาไหลที่ดักด้วยวิธีอื่น
สามารถรับชม เซียนหรั่ง - วิถีชีวิตแบบมะลายยายอยาก l ตอน แทงเอี่ยน ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=MVoA4MqwB5A
แหล่งที่มา
http://www.m-culture.in.th/album/เหล็กจับปลาไหล
https://www.livingriversiam.org/4river-tran/4mk/fishinggear_book.pdf
https://www.youtube.com/watch?v=MVoA4MqwB5A&t=7550s
https://communityarchive.sac.or.th/community/BanPhueng/about
https://communityarchive.sac.or.th/community/BanPhueng