ปลาหลด เป็นปลาที่คล้ายปลากระทิงแต่ปลาหลดมีขนาดเล็กกว่า มีรูปร่างเรียวยาว ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย หัวเล็ก จะงอยปากยื่นแหลมยาว มีหนวดสั้น 1 คู่ ปากเล็ก ครีบเล็ก ครีบหลังและครีบก้นยาว มีขนาดใกล้เคียงกัน ครีบอกเล็กกลม ครีบหางมีขนาดเล็กปลายกลมมน ไม่มีครีบท้อง ตัวมีสีเทาอ่อน ด้านบนมีสีคล้ำ ด้านท้องสีจาง ครีบหลังคล้ำมีจุดเล็กสีจางประและมีดวงสีดำขอบขาวแบบดวงตา 4 - 5 จุด ตลอดความยาวลำตัว บางตัวโคนครีบหางมีอีก 1 จุด ปลาหลดอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง คลอง และบึง สามารถอาศัยอยู่ในโคลนตมได้เป็นเวลานาน ปลาหลด เป็นปลาน้ำจืดพื้นบ้านของไทยที่อาศัยอยู่ในห้วย หนอง คลอง บึง ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และอยู่ตามพื้นน้ำ ฝังตัวอยู่ในทรายตอนกลางวัน และหากินอาหารในเวลากลางคืน ชอบกินตัวอ่อนของแมลง หนอน ไส้เดือน สัตว์เล็กๆ และเศษเนื้อ เน่าเปื่อยเป็นอาหาร
รูปที่ 1 ภาพปลาหลด
หมายเหตุ. จาก https://bangkrod.blogspot.com/2012/06/blog-post.html
รูปที่ 2 ขอปลาหลด
หมายเหตุ. จาก นิทรรศการช่างคิด ช่างทำ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
การจับปลาหลด จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “ขอปลาหลด” หรือ “ตัวโอ” ซึ่งถูกออกแบบมาเฉพาะสำหรับการจับปลาในน้ำตื้นหรือในสภาพแวดล้อมที่มีโคลนเลน
ขอปลาหลด ที่นำมาจัดแสดง ณ นิทรรศการช่างคิด ช่างทำ มีขนาดยาว 90 เซนติเมตร
การทำขอปลาหลด
ทำจากเหล็ก และนำไปเผาไฟให้เหล็กร้อนแดง ตีรีดจากโคนให้แบนลงเล็กน้อย เผาไฟอีกครั้งแล้วตีดัดโค้งมาด้านหน้า สร้างรูปทรงที่เป็นแผ่นหนาและโค้งไปด้านหน้า ดัดโค้งและหักมุมขึ้นด้านบนกลับไปด้านหลัง ดัดให้ปลายงอแหลมคล้ายตัว “สระโอ” รอให้เหล็กเย็น แล้วอัดสวมโคนเข้าที่ไม้ไผ่ และรัดด้วยปลอกเหล็กให้แน่น
วิธีการใช้ขอปลาหลด
เมื่อใช้เครื่องมือนี้ ผู้ใช้จะจับด้ามไม้ด้วยมือทั้งสองข้างแล้วทำการขูดเกี่ยวลงใต้ผิวโคลน โดยมีการเคลื่อนไหวลักษณะคล้ายกับการกวาดไม้กวาด ทำการวาดกวาดลงไปด้านหน้าแล้วยกตาขอโผล่ให้เห็นว่ามีปลาติดหรือไม่ ถ้ามีปลาติดอยู่ ปลา จะติดอยู่ระหว่างช่องตาขอ ไม่ว่าจะเป็นปลาใหญ่หรือปลาเล็ก บางครั้งอาจมีเศษใบไม้ติดขึ้นมาจนทำให้รู้สึกรำคาญ สามารถขยับเครื่องมือไปเรื่อย ๆ เพื่อค้นหาปลาหลดในพื้นที่ที่มีน้ำตื้นและโคลนเลน
สามารถรับชม จับปลาหลดด้วยสระโอ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=Ro1aidtZhjQ&t=12s