บทนำ: จากประเพณีท้องถิ่นสู่ประเพณีประดิษฐ์
ประเพณีในสังคมไทยจำนวนมากเป็นประเพณีของชุมชนท้องถิ่นที่ถือปฏิบัติกันในสังคมวัฒนธรรมนั้น ๆ มาอย่างยาวนาน จนเมื่อเวลาล่วงผ่านไป ประเพณีเหล่านั้นได้มีบทบาทขึ้นมาเป็นประเพณีของอำเภอหรือจังหวัดที่ได้สร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้กับจังหวัดนั้น ๆ ส่งผลให้ประเพณีของชุมชนท้องถิ่นได้รับการส่งเสริมพัฒนาเป็นงานประเพณีประจำปีที่มีเป้าหมายมากกกว่าการถือปฏิบัติตามประเพณีหรือการอนุรักษ์เท่านั้น แต่มีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้เกิดเป็นประเพณีประดิษฐ์ (Invented Tradition) กล่าวคือ ประเพณีที่สร้างขึ้นใหม่แต่อ้างอิงเชื่อมโยงกับรากวัฒนธรรมเดิม จนทำให้เสมือนเป็นประเพณีเก่าที่มีมานานแล้ว (Eric Hobsbawm, 1983) โดยการประดิษฐ์ใหม่นั้น อาจหยิบยืมเรื่องราวในอดีตมาใช้หรือทำให้แปรเปลี่ยนไปจากเดิม มีบทบาทใหม่ และถูกนำมาใช้ภายใต้บริบทของสังคมสมัยใหม่ โดยในบริบทของการท่องเที่ยวในประเทศไทย ประเพณีประดิษฐ์เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรื้อฟื้นหรือส่งเสริมประเพณีเพื่อการท่องเที่ยว โดยช่วงหลังปี พ.ศ. 2523 ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ พร้อมการจัดการแสดงวัฒนธรรมในภูมิภาค ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมและฟื้นฟูการจัดงานประเพณี ทำให้ประเพณีในจังหวัดถูกเลือกสรรขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อนโยบายส่วนกลาง หลายประเพณีได้รับการพัฒนา ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงเพื่อส่งเสริมและตอบรับต่อการท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดประเพณีประดิษฐ์ที่ปรับเปลี่ยนประเพณีให้กลายเป็นสินค้าเพื่อการท่องเที่ยว (ยุทธการ ดิสกุล, 2024)
การปรับเปลี่ยนประเพณีท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมต่อการท่องเที่ยวภายใต้สังคมสมัยใหม่ในประเทศไทยเกิดขึ้นกับประเพณีท้องถิ่นในแทบทุกจังหวัด โดยประเพณีต่าง ๆ เหล่านั้น จะถูกหยิบยกและนำมาพัฒนาให้เป็นงานเทศกาลที่สามารถท่องเที่ยวได้หรือเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด ซึ่งบทบาทและรูปแบบของประเพณีจะเปลี่ยนแปลงไปโดยยังเชื่อมโยงกับความเป็นดั้งเดิมของประเพณีนั้น ๆ เช่น ประเพณีสารทเดือนสิบ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่แต่เดิมเป็นประเพณีที่ชาวใต้จะไปทำบุญกันที่วัดหรือรวมกลุ่มทำบุญกันในชุมชน แต่การปรับเปลี่ยนเป็นประเพณีประดิษฐ์ได้ส่งผลให้ประเพณีสารทเดือนสิบ จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดการปรับรูปแบบและกิจกรรม โดยมีการปรับเปลี่ยนสถานที่และกิจกรรม ระยะเวลาในการจัด และขบวนแห่หมรับที่มีการสะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ของเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งกลายเป็นประเพณีเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้น (มณีรัตน์ กำลังเกื้อ และวรรณนะ หนูหมื่น, 2560)
นอกจากการปรับเปลี่ยนของประเพณีท้องถิ่นที่ส่งเสริมต่อการท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัดแล้ว หลายจังหวัดยังมีการส่งเสริมประเพณีร่วมกันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคหรือการส่งเสริมร่วมกันเพื่อการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาค อย่างจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ได้ส่งเสริมประเพณีท้องถิ่นในช่วงประเพณีเข้าพรรษาและประเพณีออกพรรษา เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมภาคอีสานกับภาคใต้และส่งเสริมการท่องเที่ยวงานประเพณี 2 เทศกาล ภายใต้แนวคิด “เข้าพรรษาเที่ยวงานแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ออกพรรษาเที่ยวงานชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี” ซึ่งส่งผลให้เกิดประดิษฐกรรมใหม่ของประเพณีเข้าพรรษาและประเพณีออกพรรษาที่เชื่อมโยงผ่านประเพณีประดิษฐ์ของ 2 จังหวัด
เข้าพรรษาที่อุบลราชธานี: ประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี
วันเข้าพรรษาเป็นพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาที่พระสงฆ์ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัติที่ให้พระสงฆ์ต้องเข้าจำพรรษาในฤดูฝนอยู่ในสถานที่ที่ทรงอนุญาตให้เข้าอาศัยอยู่ได้เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 เรียกว่า ครบไตรมาส คือ 3 เดือนอันเป็นการเข้าพรรษา โดยประเพณีเข้าพรรษานี้มีที่มาจากในช่วงเข้าสู่ฤดูฝน น้ำมักท่วม การคมนาคมไม่สะดวก ผู้ที่สัญจรไปมาระหว่างเมืองก็หยุดเดินทางไปมาชั่วคราว พวกเดียรถีย์และปริพาชกผู้ถือลัทธิต่าง ๆ ก็หยุดพัก ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งตลอดฤดู หากแต่เมื่อเกิดพระพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธเจ้าจะเสด็จจาริกไปเผยแพร่พระธรรมและในช่วงแรกยังมีพระสงฆ์ไม่มากนัก พระสงฆ์ปฏิบัติประพฤติตามพระพุทธเจ้า ความครหานินทาใด ๆ ก็ไม่เกิดมีขึ้นจึงไม่ต้องทรงตั้งบัญญัติให้อยู่จำพรรษา ครั้นพอพระพุทธศาสนาแผ่ขยายออกไปกว้าง พระสงฆ์ได้เพิ่มปริมาณเพิ่มขึ้นก็เกิดความครหาขึ้นว่ามีพระสงฆ์ 6 รูป ฉัพพัคคีย์ ในกรุงราชคฤห์ แม้เมื่อถึงฤดูฝนก็ยังพากันจาริกไปมา เที่ยวเหยียบย่ำข้าวกล้าหญ้าระบัด และสัตว์เล็กสัตว์น้อยให้เกิดความเสียหายและตายไป ชาวบ้านจึงพากันติเตียน เมื่อความทราบถึงพระพุทธองค์ จึงทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาในที่แห่งเดียวตลอด 3 เดือน ห้ามมิให้เที่ยวไปค้างคืนที่อื่น หากมีธุระกิจเป็นอันชอบด้วยพระวินัยจึงไปได้ด้วยการทำสัตตาหกรณียะ คือ ต้องกลับมาที่พักเดิมภายใน 7 วัน นอกเหนือจากนั้นห้ามเด็ดขาดและปรับอาณัติแก่ผู้ฝ่าฝืนล่วงละเมิดพระบัญญัติพิธีการปฏิบัติในวันเข้าพรรษา (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ม.ป.ป. ก) ประเพณีเข้าพรรษาชาวพุทธจะนิยมทำบุญด้วยการถวายข้าวของต่าง ๆ สำหรับพระสงฆ์ใช้จำพรรษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถวายเทียนและผ้าอาบน้ำฝน จึงเกิดเป็นประเพณีที่ชาวพุทธจะหล่อเทียนไปถวายตามประเพณีและมีการพัฒนารูปแบบของเทียนให้มีความวิจิตรงดงามและแห่แหนไปในชุมชน
ในประเทศไทยประเพณีเข้าพรรษาจะมีความโดดเด่นในภาคอีสานโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดอุบลราชธานี ที่จะมีประเพณีแห่เทียนเป็นประเพณีใหญ่ประจำจังหวัด หากแต่ก่อนกลายเป็นงานประเพณีใหญ่นั้น ประเพณีถวายเทียนนี้ก็เป็นประเพณีที่ชาวบ้านถือปฏิบัติมาก่อนแล้วในทุก ๆ ปี โดยชาวบ้านชาวคุ้มเมืองอุบลราชธานีแต่ละบ้านจะทำเทียนพรรษาไปถวายพระสงฆ์ โดยจะฝั้นขี้ผึ้งให้เป็นเทียนเล่มเล็ก ๆ ขนาดความยาวเท่าคืบ เท่าศอก เท่ารอบศีรษะ หรือเทียนเวียนหัว (ภาษาอีสานเรียกว่า ค่าคืบ ค่าศอก ค่าคิง) ภายหลังได้มีการพัฒนาเป็นการทำเทียนพรรษาแบบรวมกลุ่ม โดยแต่ละบ้านที่อยู่ในชุมชนหรือในคุ้มจะนำเทียนมารวมกันแล้วจึงนำไปถวายพระสงฆ์ที่วัดร่วมกัน โดยเทียนเล่มสั้นจะทำเป็น “เทียนพุ่ม” หรือพุ่มเทียน ตั้งวางบนพานหรือขัน เพื่อให้เกิดความสวยงาม และเทียนเล่มยาวหรือขนาดเท่าตัวจะนำมามัดรวมกันเข้าเป็นรูปทรงผูกติดไว้กับโครงไม้เพื่อป้องกันเทียนหัก ต่อมาถึงปี พ.ศ. 2444 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้ปกครองหัวเมืองมณฑลอีสานและประทับที่เมืองอุบลราชธานี ทรงพระดำริให้มีการจัดขบวนแห่เทียนพรรษารอบเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกและถือปฏิบัติเรื่อยมาในทุกปี จนช่วงปี พ.ศ. 2470 ได้เริ่มมีการคิดริเริ่มหล่อเทียนพรรษาด้วยการทำเป็นรางไม้หรือโฮงไม้และเพิ่มความวิจิตรงดงามมากขึ้นและนำไปสู่การประกวดเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2480 กระทั่งปี พ.ศ. 2494 จังหวัดอุบลราชธานีได้สนับสนุนให้การแห่เทียนพรรษาเป็นงานประเพณีประจำปีของจังหวัด ทำให้ประเพณีนี้มีความยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปีและรูปแบบเทียนก็มีขนาดใหญ่และงดงามมากขึ้น หากแต่ไม่ใช้เทียนที่สามารถใช้งานได้จริงอย่างประเพณีเดิม จนเริ่มเกิดมีการคัดค้านขึ้นในปี พ.ศ. 2510 จากคณะพุทธสมาคมจังหวัดอุบลราชธานีว่าเป็นเรื่องงมงาย สิ้นเปลือง และเสียเวลา เนื่องจากผิดไปจากประเพณีเดิม ทำให้ในปีเดียวกันนั้นมีการงดจัดงานไป 1 ปี และในปีต่อมาก็ได้กลับมาจัดกันปกติ จนเข้าสู่ช่วงปี พ.ศ. 2520 องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อสท.) ได้เข้ามามีบทบาทสนับสนุนงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีให้เป็นงานประเพณีระดับชาติ โดยมีการจัดงานใหญ่ถึง 3 วัน 3 คืน และมีการประชาสัมพันธ์ออกไปอย่างกว้างขวาง จนงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีเริ่มเปลี่ยนบทบาทเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้น การจัดงานมีความยิ่งใหญ่ขึ้น และจัดต่อเนื่องมาทุกปี จนกลายเป็นเทศกาลการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดไปในที่สุด (วลัญช์ สุภากร, 2565)
ปัจจุบันประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีมีการจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในทุก ๆ ปี โดยจะมีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาที่จะมีการถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน รวมถึงการทำบุญตามประเพณีของชุมชน และส่วนของงานเทศกาลที่จะมีการแห่เทียนพรรษารอบเมือง การประกวดเทียนพรรษา การประกวดธิดาเทียนพรรษา การแสดงขบวนเทียนพรรษาประกอบแสง สี เสียง และการแสดงทางดนตรีนาฏกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการออกร้านขายของ โดยจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา” ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความบันเทิงรื่นเริงและการเป็นกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว

ที่มา: เทศบาลนครอุบลราชธานี, 2566

ที่มา: เทศบาลนครอุบลราชธานี, 2566
ออกพรรษาที่สุราษฎร์ธานี: ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี
วันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 เป็นวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ กล่าวคือ พระภิกษุสงฆ์ได้จำพรรษาถ้วนไตรมาสตามพระพุทธบัญญัติแล้วมีสิทธิ์ที่จะจาริกไปพักค้างคืนที่อื่นได้โดยไม่ผิดพระพุทธบัญญัติและยังได้รับอานิสงส์ (ผลดี) คือ ไปไหนไม่ต้องบอกลา ไม่ต้องถือผ้าไตรครบชุด ลาภที่เกิดขึ้นแก่ท่านมีสิทธิ์รับได้ และมีโอกาสได้อนุโมทนากฐิน และได้รับอานิสงส์คือได้รับการขยายเวลาของอานิสงส์นั้นออกไปอีก 4 เดือน วันออกพรรษาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา”ความหมายว่าพระภิกษุทั้งหลาย ทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อยต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กันและกันให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ โดยในวันออกพรรษาชาวพุทธจะนิยมบำเพ็ญบุญอย่างวันพระทั่วไปแต่จะมีกิจกรรมสำคัญคือ ประเพณีตักบาตรเทโวหรือตักบาตรดาวดึงส์ โดยเป็นการจำลองเหตุการณ์ตามพุทธประวัติที่พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนา "พระสัตตปรณาภิธรรม" คือพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดา เมื่อครบกำหนดการทรงจำพรรษาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงปวารณาพระวัสสาแล้วเสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกมาสู่มนุษย์โลก โดยเสด็จลงทางบันไดแก้วทิพย์ ซึ่งตั้งระหว่างกลางของบันไดทองทิพย์อยู่เบื้องขวา บันไดเงินทิพย์อยู่เบื้องซ้าย และหัวบันไดทิพย์ที่เทวดาเนรมิตขึ้นทั้ง 3 พาดบนยอดเขาพระสิเนรุราชอันเป็นที่ตั้งแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนเชิงบันไดตั้งอยู่บนแผ่นศิลาใหญ่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสนคร และสถานที่นั้นประชาชนถือว่าเป็นศุภนิมิตรสร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็น "พุทธบูชานุสาวรีย์" เรียกว่า "อจลเจดีย์" โดยในเหตุการณ์นั้นมีประชาชนมีเฝ้ารอตักบาตรกับพระพุทธเจ้าจำนวนมาก เรียกว่าการตักบาตรเทโวอันเป็นการรับเสด็จพระพุทธเจ้าในคราวเสด็จลงมาจากเทวโลก (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ม.ป.ป. ข)
ประเพณีวันออกพรรษาในสังคมไทยถือปฏิบัติกันทุกภูมิภาคโดยมีกิจกรรมสำคัญคือการตักบาตรเทโวซึ่งมีในทุกภูมิภาค หากแต่ในพื้นที่ภาคใต้จะมีกิจกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ประเพณีชักพระหรือลากพระ โดยจะกระทำหลังวันเข้าพรรษา ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นประเพณีสำคัญของชาวพุทธภาคใต้ ที่จะอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร (บางวัดหรือบางพื้นที่อาจเป็นปางอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นพระพุทธรูปสำคัญเฉพาะสำหรับการชักพระ เรียกว่า พระลาก) ขึ้นประดิษฐานในบุษบกที่มีการประดับประดาอย่างสวยงามบนเรือหรือบนรถ เรียกว่า เรือพนมพระหรือรถพนมพระ (มักเรียกรวมกันว่า เรือพระ) แห่แหนไปในชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านได้ทำบุญและนำต้มหรือขนมข้าวต้มลูกโยนมาบูชาพระอันเป็นการจำลองเหตุการณ์เช่นเดียวกับประเพณีตักบาตรเทโว และแม้ว่าประเพณีนี้จะถือปฏิบัติโดยทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้ แต่สำหรับพื้นที่ที่มีความยิ่งใหญ่ของประเพณีนี้พื้นที่หนึ่ง คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่จะมีเรือพนมพระทั้งทางบกและทางน้ำมาร่วมขบวนแห่มากกว่า 100 ลำ จากวัดต่าง ๆ ทั่วทั้งจังหวัด รวมถึงจะมีประเพณีชักพุ่มหรือการถวายผ้าป่าหน้าบ้านซึ่งถือเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกที่จะกระทำกันในรุ่งเช้าก่อนการชักลากพระ ซึ่งชาวบ้านจะเตรียมพุ่มไม้ไว้หน้าบ้านและเตรียมผ้าบังสุกุลพาดไว้บนพุ่มไม้นั้น ประกอบกับเครื่องอัฐบริขารต่าง ๆ เพื่อจะถวายพระสงฆ์ โดยเป็นการจำลองเหตุการณ์การกำเนิดขึ้นของประเพณีทอดผ้าป่า ซึ่งเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ทิ้งอยู่ตามป่าบ้าง ตามป่าช้าบ้าง ตามถนนหนทาง กองหยากเยื่อ และห้อยอยู่ตามกิ่งไม้บ้าง ที่พระสงฆ์สามารถถือครองได้อย่างไม่ผิดพระวินัย รวมถึงมีการจัดกิจกรรมการแข่งเรือยาวในแม่น้ำตาปีที่สร้างสีสันให้งานประเพณีนี้ (รัศมิ์ณิศา รัตนกุล และสุธิรา ชัยรักษา เงินถาวร, 2566)
ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในอดีตยุคก่อนปี พ.ศ. 2530 จะเป็นประเพณีที่ชาวบ้านจัดกันเอง โดยเริ่มจากเรือพนมพระทางน้ำและค่อยเปลี่ยนมาเป็นทางบกตามรูปแบบการคมนาคมที่แปรเปลี่ยนไป โดยจะจัดขึ้นในชุมชนตำบลต่าง ๆ ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานประเพณีและส่งเสริมเป็นงานประจำจังหวัด ซึ่งได้จัดงานอย่างยิ่งใหญ่เรื่อยมา จนถึงช่วงปี พ.ศ. 2550 - 2558 จังหวัดสุราษฎร์ธานีพยายามผลักดันการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วนมากขึ้น โดยดึงหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานเอกชนและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงวัดต่าง ๆ เข้ามาทำงานร่วมกัน และผนวกกับการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ ผ่านนโยบายไทยเที่ยวไทย “อเมซิ่งไทยแลนด์” กระทั้งปี พ.ศ. 2559 - ปัจจุบัน จังหวัดสุราษฎร์ธานีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามผลักดันให้งานประเพณีชักพระยกระดับการท่องเที่ยวสู่นานาชาติมากขึ้น (ธัชมาศ สุเวช และสมศักดิ์ สามัคคีธรรม, 2565) ทำให้ประเพณีชักพระจากที่เป็นประเพณีของชุมชนท้องถิ่น ถูกส่งเสริมเป็นประเพณีของจังหวัด และพัฒนาเพื่อตอบรับการท่องเที่ยวที่มากขึ้น
ปัจจุบันประเพณีชักพระจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีการจัดอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี จากการแห่แหนชักลากเรือพระไปในชุมชนกลายเป็นการรวมตัวกันมาชักลากรอบเมืองในตัวจังหวัดแทน โดยรุ่งเช้าวันชักพระจะมีพิธีกรรมชักพุ่มผ้าป่าหน้าบ้าน ต่อด้วยการชักลากพระไปรอบตัวเมือง และส่วนของงานเทศกาลจะมีการชักลากพระรอบเมือง การประกวดเรือพนมพระ ประกวดพุ่มผ้าป่าหน้าบ้าน การประกวดธิดาชักพระ การแสดงขบวนเรือพนมพระประกอบแสง สี เสียง กิจกรรมวิ่งพรมน้ำมนต์ชมเรือพระ และการแสดงทางดนตรีนาฏกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการออกร้านขายของ โดยจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เที่ยวเมืองร้อยเกาะ เลาะคลองร้อยสาย ไหว้พระร้อยวัด มหัศจรรย์เมืองคนดี” ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น “ไหว้พระร้อยวัด รับน้ำมนต์ร้อยขัน มหัศจรรย์วันเดียว” อย่างในปัจจุบัน ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความบันเทิงรื่นเริงและการเป็นกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยวไม่ต่างไปกับประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี

ที่มา: เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี, 2566

ที่มา: จังหวัดสุราษฎร์ธานี, 2566
เข้าพรรษาเที่ยวอุบล ออกพรรษาเที่ยวสุราษฎร์: ประดิษฐกรรมใหม่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
จากที่กล่าวไปในข้างต้นจะเห็นได้ว่าทั้งประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี และประเพณีชักพระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่างเป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่มีการถือปฏิบัติกันในชุมชนของจังหวัดนั้น ๆ มาอย่างยาวนาน จนได้รับการพัฒนาส่งเสริมเพื่อตอบรับกับการประกอบสร้างงานประเพณีประจำจังหวัดและเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้ประเพณีดั้งเดิมมีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและเหตุปัจจัยของนโยบายภาครัฐ ส่งผลให้ทั้ง 2 งานประเพณีกลายเป็นประเพณีประดิษฐ์ของจังหวัดที่มุ่งเน้นรูปแบบของงานเทศกาลและเพื่อการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ภายใต้วาทกรรมการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น จนทำให้ทั้ง 2 ประเพณีกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวภายในจังหวัดและต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ
จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ใช้งานประเพณีทั้งสองมาร่วมมือกันส่งเสริมประเพณีร่วมกันเพื่อการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาค ภายใต้แนวคิด “เข้าพรรษาเที่ยวงานแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ออกพรรษาเที่ยวงานชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี” ผ่านโครงการบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (MOU) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี และเทศบาลนครอุบลราชธานี ได้ผสานความร่วมมือกันเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาคผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม และสอดรับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาและออกพรรษาของประเทศไทย โดยมี นางกอบกาญจน์ วัฒนาวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือในครั้งนั้น (องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี, 2559)
หลังจากทั้ง 2 จังหวัดได้ลงนามความร่วมมือกัน งานประเพณีของทั้งสองก็มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกัน โดยในประเพณีเข้าพรรษา จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้มีการจัดขบวนวัฒนธรรมจากประเพณีออกพรรษาของจังหวัดไปจัดแสดง โดยจัดเรือพนมพระซึ่งได้รับรางวัลในปีก่อนหน้า พร้อมด้วยขบวนนางรำ นางลาก และขบวนอัตลักษณ์จังหวัด ไปร่วมแสดงและแห่ในขบวนแห่เทียนพรรษา ในประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนประเพณีออกพรรษา จังหวัดอุบลราชธานีได้มีการจัดขบวนวัฒนธรรมจากประเพณีเข้าพรรษาของจังหวัดไปจัดแสดงเช่นกัน โดยจัดเอาต้นเทียนพรรษาจากคุ้มวัดที่ได้รับรางวัลในปีนั้น พร้อมด้วยขบวนนางรำ และขบวนอัตลักษณ์จังหวัด ไปร่วมแสดงและแห่ในขบวนชักพระ ในประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ที่มา: เทศบาลนครอุบลราชธานี, 2559

ที่มา: เทศบาลนครอุบลราชธานี, 2559

ที่มา: เทศบาลนครอุบลราชธานี, 2559

ที่มา: จังหวัดสุราษฎร์ธานี, 2566

ที่มา: จังหวัดสุราษฎร์ธานี, 2566
ความร่วมมือที่เกิดขึ้นได้ก่อให้เกิดวาทกรรมใหม่ ๆ ที่ถูกใช้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาและออกพรรษาของประเทศไทย โดยเฉพาะ “เข้าพรรษาที่อุบล ออกพรรษาที่สุราษฎร์” หรือ “เข้าพรรษาเที่ยวอุบล ออกพรรษาเที่ยวสุราษฎร์” ซึ่งส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมีการท่องเที่ยวภายในประเทศและดึงดูดการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวผ่านงานเทศกาลของ 2 จังหวัดโดยเชื่อมโยงผ่านพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาในประเพณีการจำพรรษาของพระสงฆ์ อีกทั้งยังเกิดวาทกรรมที่เชื่อมโยงทั้ง 2 จังหวัดเข้าด้วยกัน เช่น “อุบลเมืองนักปราชญ์ สุราษฎร์เมืองคนดี” หรือ “สุราษฎร์ธานีศรีวิชัย อุบลราชธานีศรีวนาลัย” ซึ่งเกิดจากการนำเอาพื้นหลังและอัตลักษณ์ของ 2 จังหวัดมาร้อยเข้าด้วยกันในสำนวนเดียวเพื่อสร้างความเชื่อมโยงของ 2 พื้นที่เข้าด้วยกัน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้ง 2 จังหวัดได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวมาตลอดทุกปี ซึ่งความร่วมมือนี้ได้ทำให้การท่องเที่ยวใน 2 ประเพณีนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่นั้นคงเป็นสิ่งที่ต้องสำรวจและศึกษากันต่อไป แต่ทว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ทำให้คนอีสานได้เห็นและสัมผัสกับวัฒนธรรมของภาคใต้ เช่นเดียวกันชาวใต้ก็ได้เห็นและสัมผัสกับวัฒนธรรมของภาคอีสาน จนทำให้เห็นถึงความต้องการที่จะไปท่องเที่ยวในประเพณีนั้น ๆ มากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการที่มีผู้คนของทั้ง 2 จังหวัดไปท่องเที่ยวในประเพณีของอีกจังหวัดหนึ่งด้วยเหตุผลที่อยากจะไปสัมผัสกับประเพณีนั้นอย่างแท้จริง แต่ก็พบได้ไม่มากนัก ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้คนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีการกล่าวถึงต้นเทียนจากจังหวัดอุบลราชธานีที่มาร่วมในประเพณีชักพระและมีการชักชวนกันไปชมต้นเทียนกันจำนวนไม่น้อยอันเป็นสิ่งที่เห็นได้ในยุคของความร่วมมือนี้
สรุป: ประเพณีประดิษฐ์ภายใต้นโยบายรัฐสมัยใหม่กับวาทกรรมการท่องเที่ยว
ประเพณีแห่เทียนพรรษาในประเพณีเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี และประเพณีชักพระในประเพณีออกพรรษาของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของประเพณีที่มีความเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีของสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมประเพณีนั้นขึ้นเป็นประเพณีประจำจังหวัดและตอบรับกับการท่องเที่ยวที่ส่งผลให้ประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิมได้รับการประกอบสร้างใหม่เป็นงานเทศกาลของจังหวัด ทั้งยังนำไปสู่การสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างภูมิภาค ซึ่งเป็นไปในรูปแบบของประเพณีประดิษฐ์ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างแนบเนียนผ่านช่วงเวลาระยะหนึ่ง โดยการเชื่อมโยงเอาอดีตของประเพณีนั้นมาส่งเสริมในรูปแบบใหม่ที่ตอบรับกับสังคมสมัยใหม่ ทำให้เห็นภาพของการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม โดยการสร้างภาพตัวแทนทางวัฒนธรรมที่สามารถสะท้อนผ่านการรื้อฟื้นประเพณีและการสร้างสรรค์งานเทศกาล รวมถึงทำให้เห็นการประกอบสร้าง อัตลักษณ์ท้องถิ่นในพื้นที่ท่องเที่ยวที่นำเอาความเป็นท้องถิ่นมาพัฒนาศักยภาพในบริบทของการท่องเที่ยว (ยุทธการ ดิสกุล, 2567) ซึ่งส่งผลถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประเพณีประดิษฐ์ถูกใช้เป็นกลไลขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวของทั้ง 2 จังหวัด ส่วนในอีกด้านหนึ่ง ประเพณีประดิษฐ์ได้สะท้อนความเป็นไปด้านสังคมที่เกิดขึ้นทั้งใน 2 พื้นที่ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของประเพณีและพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ (ธนวรรธน์ นิธิปภานันท์, 2558) โดยตัวขับเคลื่อนสำคัญของการเกิดขึ้นของประเพณีประดิษฐ์นี้และการส่งเสริมประเพณีของทั้ง 2 จังหวัด คือ แนวนโยบายที่เกิดขึ้นจากส่วนกลาง ภายใต้แนวคิดของนโยบายรัฐสมัยใหม่
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงของประเพณีท้องถิ่นไปสู่ประเพณีประดิษฐ์นั้น มีมุมมองที่หลากหลายทั้งเชิงวิพากษ์และเชิงส่งเสริม ซึ่งการเกิดขึ้นของประเพณีประดิษฐ์ก็ใช่ว่าจะสามารถตัดสินได้ว่าดีหรือไม่ดีเสมอไป หากแต่การเกิดขึ้นของประเพณีประดิษฐ์นั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นคุณสมบัติสำคัญของวัฒนธรรม คือ ความเป็นพลวัต ที่วัฒนธรรมมีความเป็นพลวัต เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และการเปลี่ยนแปลงนั้นมักทำให้วัฒนธรรมนั้น ๆ สามารถธำรงอยู่ได้ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ในกรณีของงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีและงานประเพณีชักพระของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของประเพณีที่ทำให้ประเพณีนั้นดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบันได้อย่างดีและยังเป็นสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้ชาวบ้านของทั้ง 2 จังหวัดได้เป็นอย่างมาก (แต่ถึงกระนั้นความภูมิใจนั้นก็ถูกหล่อหลอมขึ้นภายใต้ชาตินิยม) ในอีกแง่หนึ่งประเพณีทั้งสองในปัจจุบันถือเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สำคัญของทั้ง 2 จังหวัดที่ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับจังหวัดเป็นจำนวนไม่น้อย ผลประโยชน์ส่วนนี้ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในยุคทุนนิยมปัจจุบัน แต่จะให้ดีถ้าผลประโยชน์นั้นจะตกสู่คนในพื้นที่อย่างแท้จริง
รายการอ้างอิง
ธัชมาศ สุเวช และสมศักดิ์ สามัคคีธรรม. (2565). การจัดการภาคีสาธารณะแบบใหม่เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: กรณีศึกษางานประเพณีชักพระ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี. วารสารพัฒนาสังคม, 24(1), 1 - 19.
ธนวรรธน์ นิธิปภานันท์. (2558). ประเพณีประดิษฐ์ กับ การเปลี่ยนแปลงที่หัวหิน. วารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์, 32(3), 142 - 158.
มณีรัตน์ กำลังเกื้อ และวรรณนะ หนูหมื่น. (2560). บุญสารทเดือนสิบกับการปรับเปลี่ยนเป็นประเพณีประดิษฐ์. วารสารวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย, 12(41), 35 - 46.
ยุทธการ ดิสกุล. (2567). การโหยหาอดีตสู่ประเพณีประดิษฐ์ในพื้นที่การท่องเที่ยวในสังคมไทย. วารสารวิชาการสังคมมนุษย์, 14(1), 30 - 49.
รัศมิ์ณิศา รัตนกุล และสุธิรา ชัยรักษา เงินถาวร. (2566). การศึกษาอัตลักษณ์ประเพณีชักพระ ชักพุ่มของจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม. วารสารศิลปศาสตร์และอุตสาหกรรมบริการ, 6(2), 366 - 381.
วลัญช์ สุภากร. (2565). เปิดประวัติใครริเริ่ม "งานแห่เทียนพรรษาอุบล" ผ่านบันทึก ครูประดับ ก้อนแก้ว. https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1015263
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (ม.ป.ป. ก). วันเข้าพรรษา. https://www.onab.go.th/th/content/category/detail/id/73/iid/3395
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (ม.ป.ป. ข). วันออกพรรษา. https://www.onab.go.th/th/content/category/detail/id/73/iid/3404
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี. (2559). โครงการบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (MOU). https://www.facebook.com/media/set/?set=a.557847127720615.1073742498.242127602625904&type=3&_rdr
Eric Hobsbawm. (1983). Introduction: Inventing Traditions, pp. 1-14. In Hobsbawm, Eric and Terence Ranger (eds.). The Invention of Tradition. Cambridge: Cambridge University Press.
รายการอ้างอิงรูปภาพ
จังหวัดสุราษฎร์ธานี. (2566). เริ่มแล้วอย่างเป็นทางการ งานชักพระทอดผ้าป่าและแข่งเรือยาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประจำปี 2566 บรรยากาศสุดคึกคัก ด้วยขบวนเรือพนมพระทั้งทางบกและทางน้ำ นางรำนางลาก จากทั่วสุราษฎร์ธานี 121 ลำเข้าร่วมขบวนแห่. https://www.suratthani.go.th/home/news-announcement/executive-news/2566-121.html
เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี. (2566). วันนี้งานชักพระวันสุดท้ายแล้ว. https://www.facebook.com/media/set/?set=a.697977745763261&type=3
เทศบาลนครอุบลราชธานี. (2559). เรือพนมพระ. https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1164102100312748&type=3
เทศบาลนครอุบลราชธานี. (2566). เตรียมพบกับ!! #ความยิ่งใหญ่ตระการตางานประเพณีแห่เทียนพรรษาประจำปี 2566. http://www.cityub.go.th/2022/ข่าวประชาสัมพันธ์/75-ข่าวประชาสัมพันธ์ปี-2566/4968-เตรียมพบกับ-ความยิ่งใหญ่ตระการตางานประเพณีแห่เทียนพรรษาประจำปี2566
ภาพปก:
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (2566). ม.อุบลฯ ร่วมประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว ตาม MOU เมืองคู่มิตร สุราษฏร์ธานี-อุบลราชธานี. https://www.ubu.ac.th/news.php?id=23482