ตำหนักทองพระเจ้าเสือ โบราณสถานอันทรงคุณค่าริมคลองสนามชัย
พระราชประวัติพระเจ้าเสือ หรือสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕ ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย พระนามของพระเจ้าเสือว่าเป็น สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๒๙ แห่งกรุงศรีอยุธยา และเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๒ แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ทรงครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๔๖ - พ.ศ. ๒๒๕๑
ประชาชนในสมัยพระองค์มักเรียกขานพระองค์ว่า พระเจ้าเสือ เพื่อเปรียบว่าพระองค์มีพระอุปนิสัยโหดร้ายดั่งเสือ พระองค์ทรงมีพระปรีชาด้านมวยไทย โดยทรงเป็นผู้คิดท่าแม่ไม้มวยไทย ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดเจน และได้มีการถ่ายทอดเป็นตำราให้ชาวไทยรุ่นหลังได้เรียนรู้ฝึกฝนจนถึงปัจจุบัน ส่วนพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าพระเจ้าเสือเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในสมเด็จพระเพทราชา ส่วนพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียนระบุว่าเป็นพระราชโอรสลับในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับพระสนมซึ่งเป็นพระราชธิดาใน พระยาแสนหลวง เจ้าเมืองเชียงใหม่
สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่ผู้คนในอดีตเล่าขานสืบต่อกันมา ว่าเกี่ยวข้องกับพระเจ้าเสือนั้นคือ ตำหนักทองพระเจ้าเสือ Tamnak Thong Phra Chao Suea (Golden Pavilion)
ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดไทร ริมคลองสนามชัย ซอยเอกชัย ๒๓ แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพฯ เป็นสถาปัตยกรรมเรือนไทยของช่างหลวง สมัยอยุธยาตอนปลาย ตัวเรือนตำหนักสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ลักษณะเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวยกใต้ถุนสูง มีการลงรักปิดทอง และมีจิตรกรรมลายรดน้ำบนผนังและประตูเรือนตำหนัก ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ผู้คนเล่าขานสืบต่อกันมาช้านานว่า พระตำหนักทองแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าเสือ เมื่อครั้งเสด็จทางชลมารคผ่านยังคลองด่าน และได้สร้างพระตำหนักเพื่อประทับยังบริเวณนี้ หากศึกษาข้อมูลทางประวัติพบว่า เส้นทางคลองด่าน หรือ คลองสนามชัย เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ ทั้งการสัญจร การค้า และเดินทัพ จากเอกสารหลักฐานตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านทรงบันทึกและอธิบายไว้ใน "สาส์นสมเด็จ" เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๖๔ เรื่องตำหนักทองที่วัดไทร ทางคณะศิษยานุศิษย์จึงได้คัดสำเนาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และได้จัดทำเป็นหนังสืออนุสรณ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูถาวรสมณวงศ์ (อ๋อย) อดีตเจ้าอาวาสวัดไทร ณ เมรุวัดไทร บางขุนเทียน ธนบุรี วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกเรียบเรียงและอธิบายเรื่องตำหนักทองพระเจ้าเสือที่วัดไทร ไว้ดังนี้
"ที่วัดไทรมีตำหนักฝาเขียนทองลายรดน้ำอย่างตู้หนังสือในหอพระสมุดฯ อยู่หลัง ๑ ผู้เฒ่าผู้แก่บอกเล่ากันสืบมาว่า เป็นตำหนักของขุนหลวงเสือทรงสร้างไว้ ได้ความดังนี้ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ข้าพเจ้าจึงไปดูตำหนักที่วัดไทร เห็นเปนตำหนักของโบราณจริง แลมีเรื่องราวในพงศาวดารประกอบกัน ควรนับว่าเปนสิ่งสำคัญอันหนึ่งซึ่งเนื่องในโบราณคดี ข้าพเจ้าจึงเรียบเรียงคำอธิบายฉบับนี้ขึ้นสำหรับท่านผู้ที่เอาใจใส่ในโบราณคดีจะได้อ่านทราบเรื่องตำหนักแห่งนี้"
"พงศาวดารครั้งรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปรารภจะทดแทนทรกรรมที่พระเจ้ากรุงธนบุรีลงพระราชอาญาสมเด็จพระสังฆราชสี เพราะเหตุที่ไม่ยอมถวายบังคม โปรดฯ ให้รื้อตำหนักทองของพระเจ้ากรุงธนบุรีไปปลูกถวายเปนตำหนักของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นให้เปนเกียรติยศสถานหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ว่า แต่โบราณนับถือตำหนักทองว่าเปนของสูงศักดิ์เพียงไร ถ้าเปนตำหนักเจ้านายในพระราชวงศ์ ก็เพียงใช้แต่ทาสี ดังเช่นที่เรียกนามตำหนักของสมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่ ๑ ว่า ตำหนักเขียว และตำหนักแดง นั้นเปนตัวอย่าง ด้วยมีหลักฐานดังอธิบายมานี้ จึงเห็นว่า ตำหนักทองที่วัดไทรเปนของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างเป็นแน่"
"ในระยะเวลา ๕๕ ปีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๔๖ จน พ.ศ. ๒๓๐๑ คลองสนามไชยนี้เปนทางที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จผ่านไปมาเนือง ๆ ทั้ง ๓ รัชกาล คงต้องมีตำหนักพลับพลาที่ประทับร้อนประทับแรมสร้างไว้ในระยะทางหลายแห่ง พวกชาวเพ็ชรบุรีเคยชี้บอกข้าพเจ้าที่ปากน้ำบางตะบูนว่า มีพลับพลาครั้งกรุงเก่าอยู่ที่นั่นแห่ง ๑ แต่ตัวตำหนกหักพังเสียหมดแล้ว พลับพลาที่ปากน้ำบางตะบูนก็คือที่ประทับแห่ง ๑ ในระยะทางสายนี้นั่นเอง แบบอย่างตำหนักทองที่วัดไทรซึ่งทำเป็นตำหนัก ๓ ห้อง กั้นฝาห้อง ๑ แลโถง ๒ ห้อง ดูสมจะเปนตำหนักที่ประทับร้อน คงสร้างในครั้งรัชกาลพระเจ้าเสือดังพวกชาวบ้านว่า ฤมิฉนั้น ก็สร้างใน ๒ รัชกาลหลังต่อมาเมื่อครั้งกรุงเก่าเปนแน่”
"วินิจฉัยเรื่องตำหนักทองที่วัดไทร เห็นว่า เรื่องตำนานจะเปนดังแสดงมา การที่พระสงฆ์วัดไทรได้เอาใจใส่รักษาตำหนักทองไว้ก็ดี แลที่พระครูถาวรสมณวงศ์ได้ปฏิสังขรณ์วัดมาจนบัดนี้ก็ดี สมควรจะได้รับความสรรเสริญ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าท่านผู้ใดได้ไปเห็น คงจะอนุโมทนาไม่เว้นตัว”
เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรยังได้พบสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง ภายในวัดไทร คือ หอกลองโบราณ พบว่าเป็นลักษณะหอกลองโบราณที่พบได้น้อยมาก คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือสมัยรัตนโกสินธ์ตอนต้น เนื่องจากมีประตูรูปวงโค้งยอดแหลม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่นิยมสร้างในยุคสมัยดังกล่าว ปัจจุบันตำหนักทองพระเจ้าเสือหลังนี้กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ที่สนใจศึกษาเยี่ยมชมโบราณสถานแห่งนี้ สามารถเดินทางไปเยี่ยมชมได้ที่วัดไทร เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ทั้งนี้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินขึ้นไปบนตำหนักได้ เนื่องด้วยเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ แต่สามารถเดินเยี่ยมชม ถ่ายรูปด้านนอกตำหนักและเยี่ยมชมบรรยากาศบริเวณโดยรอบของตำหนักได้
ที่ตั้ง/พิกัด
วัดไทร เลขที่ ๑๑ ซอยเอกชัย ๒๓ แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร
อ้างอิง
ตำหนักทองที่วัดไทร. (2502) พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย. [คณะศิษยานุศิษย์พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูถาวรสมณวงศ์ (อ๋อย) ณ เมรุวัดไทร บางขุนเทียน ธนบุรี วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2502].
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:ตำหนักทอง_วัดไทร
https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_1034403
https://travel.trueid.net/detail/qGLPPJVeqjqG