ภาคใต้ของประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปลูกพืชอย่าง ฝ้าย ปอ ป่าน กัญชา ซึ่งคือพืชที่จะนำมาใช้ในการทำเป็นเส้นใยทอผ้า แม้จะมีการปลูกพืชดังกล่าวอยู่บ้างในบางท้องที่แต่มีจำนวนน้อยและไม่ค่อยได้ผล ดังนั้นในสมัยก่อนช่างทอผ้าชาวภาคใต้จึงซื้อเส้นใยที่เป็นสินค้านำเข้าจากต่างถิ่น เช่น เส้นไหมจากจีน อินเดีย ญี่ปุ่น หรือ ฝ้าย ป่าน ปอ จากอยุธยาและภาคอีสานของไทย
ปัจจุบัน ผ้าทอพื้นเมืองภาคใต้มีทั้ง ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าด้าย และผ้าด้ายบ่นไหม ซึ่งแต่ละแหล่งจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และแหล่งทอผ้าพื้นเมืองของภาคใต้ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ตรัง และสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ตัวอย่างผ้าทอพื้นเมืองภาคใต้
ผ้าทอเกาะยอหรือผ้าเกาะยอ เป็นผ้าทอมือของชาวบ้านตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เส้นใยที่ทอเดิมใช้ฝ้ายหรือเส้นด้าย ไหม หรือด้ายปนไหมจากธรรมชาติ ปัจจุบันใช้เส้นใยสังเคราะห์ ประเภทของผ้าที่ทอมีทั้งผ้ายกดอก ผ้าพื้น ซึ่งมีทั้งผ้าตาตารางและผ้าหางกระรอก ความประณีตในการทอและการประดิษฐ์ลวดลาย การให้สีสันที่สวยงาม ทำให้ผ้าทอเกาะย เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงทำรายได้ให้กับท้องถิ่นจำนวนมาก ในระยะแรกใช้เครื่องทอผ้าที่เรียกว่า ทุก หรือ โทก หรือ ที่มือ และใช้ตรนก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้กระสวยในภายหลัง สีที่ใช้ย้อมผ้าได้จากสีธรรมชาติ ซึ่งส่วนมากจะได้จากต้นไม้ เปลือก แก่น ราก ผล เช่น สีแดง ได้จากรากยอและอิฐ สีตองอ่อนได้จากแถลง สีเหลืองได้จากขมิ้นชัน แก่นเข สีส้มได้จากสะดี สีม่วงอ่อนได้จากลูกหว้า สีเขียวได้จากเปลือกสมอ ใบหูกวาง สีครามได้จากคราม ผ้าที่ทอระยะแรกเป็นผ้าพื้น ได้แก่ผ้าพื้นสีผ้าตาตาราง ผ้าลายหาง กระรอก และผ้าทอยกดอก เช่น ลายราชวัตร ลาย ดอกพิกุล ลายลูกแก้ว เป็นต้น
ผ้าทอพุมเรียง เป็นผ้าทอมือของชาวไทยมุสลิมที่บ้านหัวเลน ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้ายโดยเฉพาะ “ผ้าไหมยกดอกพุมเรียง” เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเนื่องจากมีลวดลายสีสันสวยงาม งานทอผ้าของสตรีไทยมุสลิมพุมเรียงมีลักษณะพิเศษที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษคือ การทอผ้าไหม ยกดิ้นเงิน ยกดิ้นทอง และยกไหม ซึ่งมีลวดลายแบบต่างๆมากมาย อาจจำแนกได้ 3 ประเภท คือ
1.ประเภทลายดอกไม้ ได้แก่ ลายดอกพิกุล ลายดอกกุหลาบ ลายดอกบุหงา ลายดอกโบตั๋น ลายตอกเขี้ยวกระแต ลายดอก แก้ว ลายดอกมะลิ ลายดอกก้านแข่ง ลาย ก้านในดอก ลายดอกลอย ลายดอกถม และลายเครือวัลย์
2. ประเภทลายสัตว์ ได้แก่ ลายครุฑ ลายราชสีห์เข้าถ้ำ ลายขี้หนอน (กินนร) ลายราชสีห์ ลายช้าง ลายแมลงวัน ลาย นกยูง ลายหูช้าง ลายปลาตะเพียน และลาย ลูกปลา
3. ประเภทลายเบ็ดเตล็ด ได้แก่ ลายราชวัตรโคม ลายราชวัตรดอกเล็ก ลาย ดอกใหญ่ ลายโคมเพชร ลายช่อเทพ ลายข้าว หลามตัด ลายยอดแหลม สายก้างปลา ลายไทย ลายยกเบ็ด ลายธงบิน ลายสมอเรือ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ และสายนพเก้า
ผ้าทอนาหมื่นศรี เป็นผ้าทอพื้นเมืองตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ผ้าที่ทอส่วนใหญ่เป็นผ้าฝ้าย มีทั้ง ประเภทที่ทอเป็นผ้าพื้นและผ้ายกดอก สามารถแบ่งลวดลายได้เป็น 2ประเภท
1.กลุ่มลายท้องถิ่น เป็นลวดลายลายโบราณดั้งเดิมที่พบในท้องถิ่นที่คนในท้องถิ่นคิดขึ้นเอง เช่น ผ้าพื้นธรรมดา ผ้าหางกระรอก ผ้าล่อง
2.กลุ่มลายพัฒนาใหม่ ในปี พ.ศ.2542 สมาชิกกลุ่มได้เรียนรู้การทอผ้าด้วยกี่กระตุก เทคนิคการสร้างลวดลายผ้า และการเก็บตะกอลาย ทำให้สมาชิกรู้จักเขียนลายในกระดาษกราฟ อ่านลายสูตรจากตัวเลข เก็บตะกอ ดัดแปลงลาย สร้างลายโดยให้สูตรตัวเลข ทำให้ได้ลายผ้าทอหมื่นศรีที่พัฒนาใหม่หลายลาย การใช้สีเส้นใยสวยงามและทันสมัยทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ได้แก่ ลายกลีบบัว ลายผกากรอง ลายกลีบกุหลาบ ลายเดือนเต็มดวง ลายสามมิติ ลายสุพรรณิกา ลายห้าครั้ง ลายกลีบบัวแปลง
ผ้าทอแพรกหาและผ้าทอลานข่อย เป็นผ้าทอของชาวบ้านแพรกหา อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เดิมการทอผ้าที่แพรกหาใช้หูกหรือโทกทอผ้า ใช้ตรนแทนกระสวย ใช้สีย้อมที่ได้จากธรรมชาติ โดย สีเทาได้จาก ใบมะม่วง ใบคุระและใบมังคุด สีเขียวขี้ม้าได้จาก ใบมะม่วง สีเหลืองได้จาก ใบมะม่วงเดิม น้ำปูนใส นอกจากนี้สีเหลืองยังได้จากใบมะพูดและรากยอ สีเขียวได้จากใบหูกวาง สีน้ำตาลได้จากใบมังคุดและใบไทร แดงได้จากแก่นฝาง และครั้ง เส้นไยที่ย้อมสีธรรมชาติแล้วนำมาทอเป็นผ้าพื้นสี ผ้าตาตารางเล็กๆ และผ้า ยกดอกต่างๆ เช่น ตอกพริก ลายตาสมุก ลายดอกกระถิน ลายราชวัตร ลายพิกุลล้อม
ผ้าทอลานข่อย เป็นผ้าทอของกลุ่มทอผ้านิยมลานข่อย ตำบลลานข่อย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ส่วนมากเป็นผ้าทอยกดอก ทอจากเส้นใยสังเคราะห์ ได้แก่ ลายพะยอมดอกเล็ก สายพะยอมดอกใหญ่ ลายพะยอมไพร ลายพะยอมบ้านนา ลายพะยอมแก้ว ลายโพพรรสาร ลายพวงพะยอม ลายชวนชม ลายแก้วบัวหลวง ลายดาหลา ลายกล้วยไม้ ลายแคแสด ลายเพชรสงวนนาม ลายทานตะวัน ลายเกล็ดแก้ว