เมื่อปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสยุโรป เมื่อเสด็จกลับมาจึงมีพระราชประสงค์สร้างสถานที่ประทับใหม่ ด้วยว่าแพทย์ประจำพระองค์ได้กราบทูลว่าพระราชนิเวศน์ในที่ประทับเดิมไม่เหมาะแก่สุขอนามัยจึงทำให้ท่านทรงประชวรอยู่เนือง ๆ พระองค์จึงโปรดเกล้าให้กรมพระคลังข้างที่จัดซื้อที่นาและที่สวนจากราษฎรระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสนด้วยเงินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และพระราชทานนามให้ว่า “สวนดุสิต” จากนั้นทรงให้รื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ที่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มาสร้างใหม่ที่สวนดุสิตและพระราชทานนามว่า “พระที่นั่งวิมานเมฆ”จากนั้นทรงโปรดฯให้สร้างพระที่นั่งอัมพรสถาน และเรือนต้นสำหรับเป็นที่ประทับของพระองค์ พระองค์ทรงเสด็จมาที่สวนดุสินบ่อยครั้งจึงพระราชทานนามให้เป็น “พระราชวังสวนดุสิต” เพื่อให้ใช้ประกอบพระราชพิธีได้
เมื่อพระองค์ประทับที่พระราชวังสวนดุสิตบ่อยครั้งเข้าก็ทำให้พระมเหสี พระอัครชายา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอและข้าหลวงเสด็จตามมาด้วยและข้าหลวงรวมถึงเจ้านายฝ่ายในต่างก็มีความสามารถในการละครและดนตรีอยู่แล้ว เช่น พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เจ้าจอมมารดาแพเจ้าจอมมารดาโหมด แต่ผู้เริ่มงานดนตรีในวังแห่งนี้คือ “พระวิมาดาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา” ท่านได้จัดให้บรรดาข้าหลวงฝึกหัดเด็กผู้หญิงทั้งที่เป็นพระญาติและสามัญชนให้รู้จักขับร้องและบรรเลงดนตรี มีการเชิญบุคคลสำคัญมากมายเพื่อมาเป็นครูในการฝึกหัด เช่น เชิญหลวงประดิษฐ์ไพเราะ พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) มาเป็นครูสอนดนตรี และเชิญคุณเฒ่าแก่จีบ หมอมส้มจีน บุนนาค เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ หรือ พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เป็นครูสอนร้อง นักเรียนที่นั่นภายหลังก็มีชื่อเสียงกันหลายคนไม่ว่าจะเป็น ม.ร.ว.สดับลดาวัลย์ นางสาวเยี่ยมณนคร (ต่อมาเป็นนักร้องวังบูรพาภิรมย์), ครูท้วม ประสิทธิกุล (ต่อมาเป็นผู้เชี่ยวชาญคีตศิลป์กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงคีตศิลป์) พระวิมาดาเธอฯ เองก็มีความสามารถทางดนตรี โดยเฉพาะครั้งที่ท่านได้เล่าบทมโหรีเรื่องเงาะป่า (พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5) ถวายแก่รัชกาลที่ 5 เมื่อองค์ประชวรเป็นไข้มาลาเรียนที่พระที่นั่งวิมานเมฆ
ต่อมาในปี 2451 รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้สร้างสวนบริเวณตะวันตกของพระราชวังดุสิต โดยได้แรงบันดาลในจากสวนในพระราชวังเบิร์นสตอฟ ประเทศเดนมาร์ก และทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะให้เป็นที่ประทับของพระมเหสี พระราชธิดา และบาทบริจาริกาเมื่อท่านสวรรคตไปแล้ว และพระราชทานนามสวนนั้นว่า “สวนสุนันทา” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมเหสี แต่ยังมี่แล้วเสร็จท่านก็สวรรคตไปก่อน
เมื่อปี 2467 พระวิมาดาเธอฯ และราชวงศ์ฝ่ายในก็มาประทับที่วังสวนสุนันทาตามพระประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งวงดนตรีขึ้นใหม่ในวังหลายวง เช่น วงเครื่องสายของพระเจ้าบรมวงศเ$ธอ พระองค์เจา? อาทรทิพยนิภา ต่อมาท่านได้จัดตั้ง “โรงเรียนใต้ถุนตำหนัก” เพื่อสอนความรู้ทั่วไปในภาคเช้าและระบำ รำ ฟ้อน ในภาคบ่าย มีการเชิญผู้มีความสามารถอย่างเจ้าจอมมารดาเขียน (ในรัชกาลที่ 4) มาฝึกสอน พอฝึกซ้อมจนชำนาญก็จัดตั้งเป็นคณะละครบรรดาศักดิ์ เล่นกันในเขตพระราชฐาน ทรงแสดงละครรำหลายเรื่อง เช่น สังข์สินชัย ไกรทอง เงาป่า เป็นต้น
ต่อมาเกิดวิกฤตวังแตกในปี 2475 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้านายต่างลี้ภัยไปต่างประเทศ ทำให้วังสวนสุนันทาไม่มีใครอาศัย ต่อมาโรงเรียนฝึกหัดครูผู้หญิง เพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ จึงย้ายมาที่วังสวนสุนันทาและเปลี่ยนชื่อเป็น “สวนสุนันทาวิทยาลัย” เมื่อปี 2480 และในปีเดียวกันก็ได้จัดละครเพลงเรื่องซินเดอเรลลา นับเป็นการฟื้นคืนการแสดงอีกคราหนึ่ง จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2482 นักเรียนก็ต่างระหกระเหินถูกนำไปฝากเรียนกับโรงเรียนอื่น ๆ แต่ภายหลังสงคราม โรงเรียนกลับมาเปิดสอนอีกครั้งแต่ไม่มีทุนทรัพย์พอจะฟื้นฟู อาจารย์บรรเลง ศิลปะบรรเลง สคริก ครูผู้มีบทบาทในโรงเรียนสมัยนั้นได้เสนอให้เล่นละครเพื่อหาทุน และได้เชิญเหล่าครูผู้มีความสามารถมาสอน ได้แก่ ครูละมุล ยมะคุปต์ สอนรํา, อาจารย์บรรเลงสอนร้อง อาจารย์ทองย้อย เครือวัลย์ มาเป็นผู้ช่วย และรับสมัครเพิ่มอีก 3 คน คือ คือ อาจารย์ศิริกุล วรบุตรจาก โรงเรียนนาฏศิลป์ผกาวลีซึ่งอยู่ในครอบครัวสํานักดนตรีของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ, อาจารย์ประทิน พวงสําลี, อาจารย์จรูญศรี วีระ ในช่วงแรกละครที่นำมาแสดงจะเป็นพระราชนิพนธ์และพระนิพนธ์ เช่น ศกุนตลา จันทกินรี ภายหลังเห็นว่าซ้ำจำเจจึงได้นำนิทานอินเดียมาแปลเป็นบทละคร เช่น ยุพราชกุสะ วาณิชย์ ช่วงนั้นถือได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของวิทยาลัยเพราะนอกจากจะหารายได้มากมายได้จากการแสดงละครแล้วยังได้รับเชิญไปทำการแสดงเปิดงานสำคัญที่ไทยเป็นเจ้าภาพอย่าง กีฬาแหลมทอง กีฬาเอเชียนเกมส์
จนกระทั่งในปี 2518 ได้ยกเป็น “วิทยาลัยครูสวนสุนันทา” จัดให้มีการสอนถึงในระดับปริญญาตรี นับเป็นวิทยาลัยแรกที่ได้ประกาศนียบัตรหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต (นาฏศิลป์) และต่อมาในพ.ศ. 2547 ในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้เป็น “ราชภัฏสวนสุนันทา” และประกาศอย่างเป็นทางการ ซึ่งคือหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งแรกที่รวมเอาศาตร์ศิลปะดนตรีและนาฏศิลป์มาจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า คณะศิลปกรรมศาสตร์
วังสวนสุนันทาจึงเป็นสถานบ่มเพาะนาฏกรรมที่ทำให้เกิดบุคลากรที่มีชื่อเสียงและคุณูปการต่อวงการละครและดนตรีไทยมากมาย ทั้งยังเป็นสถานที่บุกเบิกนาฏกรรมในหลายด้าน คือเป็นวิทยาลัยแห่งเดียวที่มีการหารายได้โดยการแสดงละคร เป็นวิทยาลัยครูแห่งแรกที่สามารถร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นสูง (นาฏศิลป์ และเป็นราชภัฏแห่งแรกที่สามารถจัดตั้งคณะศิลปกรรมได้)
เขียนโดย จิณณ์นภา อมรประดับกุล
อ้างอิง
กลุ่มงานวิชาการสํานักวิชาการศึกษาทั่วไปและนวัตกรรมการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา, สรุปสาระสําคัญ ชาววังสวนสุนันทา, (กรุงเทพฯ : 2562)
พูนพิศ อมาตยกุล, ดนตรีในวังสวนสุนันทา, ดนตรีไทย, (ศูย์ศิลปวัฒนธรรม สหวิทยาลัยรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยครูสวนสุนันทา)