สันนิษฐานว่า บ้านหินลาดน่าจะก่อตั้งในราวปี พ.ศ. 2450 ซึ่งในช่วงนั้นเกิดความแห้งแล้งในภาคอีสานหลายท้องถิ่นเป็นอันมาก ข้าวปลาอาหารก็หายากไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เนื่องจากฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ครอบครัวของพ่อใหญ่กงสะเด็นจากบ้านโพนทอง ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี พ่อใหญ่ชัยณรงค์จากบ้านตาดทอง (กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่) อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (จังหวัดยโสธรในปัจจุบัน) และพ่อใหญ่โงง หรือสุขา จากอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัมหาสารคาม ทั้งสามคนได้สาบานเป็นพี่น้องกัน ได้รวบรวมผู้คนกับครอบครัวอื่นอีกจำนวนหนึ่ง ลงมติว่าจะมีการเดินทางอพยพโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อไปหาแหล่งที่อยู่แห่งใหม่ที่อุดมสมบูรณ์มากกว่านี้ที่สามารถเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารได้ ในการย้ายบ้านครั้งนี้ภาษาอีสานเรียกว่า “ระยะแตกบ้าน” โดยคณะคาราวานเกวียนของพ่อใหญ่กงสะเด็น พ่อใหญ่ชัยณรงค์ พ่อใหญ่โงง หรือสุขา และชาวบ้านเดินทางรอนแรมเข้าถึงเขตตำบลบ้านค้อ เมืองขอนแก่น มาพบที่ราบริมลำห้วย จึงหักล้างถางพงลงหลักปักฐานตั้งบ้านเรือนขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำมีท่า เหมาะสำหรับการประกอบอาชีเกษตรกรรม และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “หินลาด” ตามลำห้วยหินลาดที่มีพะลานหินขนาดใหญ่อยู่กลางลำน้ำ ในครั้งแรกตั้งบ้านเรือนบริเวณโนนเหล่า (ปัจจุบันบ้านหินลาด) เดิมตั้งอยู่บริเวณนาพ่อไขและผู้ใหญ่เทพพิทักษ์ ต่อมาได้เกิดเหตุอาเพศขึ้น ชาวบ้านหินลาดเกิดล้มตายเป็นจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงเชื่อว่าเป็นฝีมือของผีปู่ตาและสิ่งชั่วร้าย จึงพากันอพยพย้ายหมู่บ้านขึ้นมาทางทิศเหนือ บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบัน
เมื่อได้ตั้งหมู่บ้านเป็นหลักเป็นฐานแล้ว ราวปี พ.ศ. 2455 - 2456 พ่อใหญ่ชัยณรงค์ได้รับมอบหมายจากชาวบ้าน ให้ไปนิมนต์หลวงพ่ออุตตะวงศ์ จากจังหวัดอุบลราชธานี มานำพาสร้างวัด “โพธิ์งาม” ขึ้น เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยตั้งชื่อต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ ทำให้ชาวบ้านมีสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นสถานที่ทำกิจกรรม ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยมีหลวงพ่ออุตตะวงศ์เป็นเจ้าอาวาสคนแรก กระทั่งในปี 2535 ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมญาณวราราม (วัดป่า) ขึ้นบนที่สาธารณะประโยชน์บ้านหินลาดหมู่ 17 จากเดิมมีการนำศพฝังในป่าช้าได้มีการเปลี่ยนมาฌาปนกิจศพโดยการเผาที่เมรุ ทำให้ชาวบ้านฌาปนกิจศพได้สะดวกมากขึ้น
ในปี พ.ศ. 2476 กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) และนายอำเภอเมืองขอนแก่น มีการก่อตั้งโรงเรียนด้วยเงินบำรุงศึกษาประชาบาล เงินช่วยเหลือการประถมศึกษา โดยอาศัยศาลาการเปรียญวัดวิจารณาราม บ้านวังตอ เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต่อมาได้ย้ายมาตั้งบริเวณที่ในปัจจุบัน บนพื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ระหว่างบ้านหินลาดและบ้านวังตอ โดยมีนายไป่ ดอนจำปา เป็นครูใหญ่คนแรก ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนประชาบาลตำบลบ้านค้อ 2 (หินลาดสถานศึกษา) ต่อมาได้ทำการขยายการเรียนการสอนจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนบ้านหินลาดวังตอ (คุรุราษฎร์อุปถัมภ์) จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2534 กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติจัดตั้งให้เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาพร้อมทั้งเปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนบ้านหินลาดวังตอ” ทำให้คนในหมู่บ้านได้มีการศึกษาที่สูงขึ้นพร้อมทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเรียนในตัวเมืองขอนแก่น และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาอีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2538 องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านค้อ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2550 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติสภาองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านค้อ ขึ้นเป็นเทศบาลตำบลบ้านค้อ ทำให้มีการกระจายอำนาจท้องถิ่นมากขึ้น
ในปี พ.ศ. 2540 บ้านหินลาดมีจำนวนครัวเรือน และประชากรหนาแน่น เนื่องจากหมู่บ้านมีการขยายตัวเป็นอย่างมาก ทำให้การปกครองไม่ทั่วถึง นายสนิท ผู้ใหญ่บ้านหินลาดหมู่ 11 และกำนันตำบลบ้านค้อ ชาวบ้านหินลาดและปกครองจังหวัดขอนแก่น จึงร่วมกันผลักดันแนวคิดแบ่งการปกครองออกเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านจึงอาศัยความตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ที่กล่าวว่า หมู่บ้านตามที่กําหนดไว้ในกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่มี 2 ประเภท คือ หมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการกับหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นเป็นการชั่วคราว