ธารพระกร เครื่องประดับเกียรติยศยิ่งมหากษัตริย์ไทย
ธารพระกร
ที่มา Vogue Thailand (๒๕๖๒)
ธารพระกรเป็นราชาศัพท์ของคำว่า ไม้เท้า แต่เดิมเรียกว่า “ธารพระกรง่าม” ชื่อนี้ปรากฏอยู่ในหมายรับสั่งว่าด้วยเครื่องราชูปโภคจะสร้างใหม่ในสมัยนั้น ดังนี้ “เครื่องจะได้ทำขึ้นใหม่ พระไชยใหญ่ ๑ เล็ก ๑ แผ่นทองพระสุพรรณบัฏ ๑ พระมหาสังวาล ๑ พระมหาสังข์ทอง ๑ พระมหาสังข์เงิน ๑ พระมหามงกุฎ ๑ ฉลองพระบาท ๑ พัชนีฝักมะขาม ๑ ธารพระกรง่าม ๑”
เครื่องประดับเกียรติยศที่แสดงถึงความเป็นกษัตริย์เต็มรูปแบบนั้นต้องมีความหมายและต้นตอความเป็นมาอย่างมีนัยยะสำคัญ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ก็ต้องสอดคล้องกับแนวคิดนี้เช่นกัน “ธารพระกร” คือสัญลักษณ์แสดงว่าพระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์โดยธรรม ถือว่ามีนัยยะสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างยิ่ง เพราะนอกจากอำนาจและความสามารถด้านการปกครอง เรื่องของการครองราชย์โดยธรรมถือเป็นนัยยะสำคัญซึ่งอยู่คู่กับสถาบันกษัตริย์และความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยมาแต่โบร่ำโบราณ สมัยก่อนนั้นธารพระกรเดิมถูกเรียกว่า “ธารพระกรชัยพฤกษ์” เนื่องจากทำจากไม้ชัยพฤกษ์ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างธารพระกรใหม่ด้วยทองคำและยอดมีรูปเทวดาจึงได้ชื่อว่า “ธารพระกรเทวรูป” แต่ใช้ได้ไม่นานนักเนื่องจากมีลักษณะเป็นแสงดาบมากกว่าธารพระกร ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงนำธารพระกรชัยพฤกษ์กลับมาใช้อีกครั้งโดยคำนึงถึงความดั้งเดิมตามที่สร้างไว้ครั้งแรก และใช้ธารพระกรชัยพฤกษ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนับจากนั้นเรื่อยมา
บรรณานุกรม
คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. (๒๕๖๒). ธารพระกร. สืบค้นจาก http://phralan.in.th/Coronation/vocabdetail.php?id=319
Vogue Thailand. (๒๕๖๒). ธารพระกร หนึ่งในเบญจราชกกุธภัณฑ์ที่เคยปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์พระราชพิธีถึง ๒ รูปแบบ. สืบค้นจาก https://www.vogue.co.th/fashion/inspirations/
article/royalstaff