การก่อตั้ง และเหตุการณ์สำคัญของชุมชน
เดิมทียังไม่มีชุมชนบ้านทุ่งบ่อ ชาวบ้านอาศัยอยู่ที่ชุมชนบ้านสะอาด อำเภอน้ำพองจังหวัดขอนแก่น แต่เนื่องด้วยประชากรมีจำนวนมากขึ้น จึงมีการอพยพมาอยู่ที่ไร่นาซึ่งเป็นพื้นที่
ชุมชนบ้านทุ่งบ่อในปัจจุบัน โดยมีนายต่อ ศรีมูลผา เป็นผู้พาครอบครัวอพยพมาเป็นครอบครัวแรกในปี พ.ศ. 2477 หรือประมาณ 89 ปีมาแล้ว เนื่องจากนายต่อมีที่นาเป็นจำนวนมากและมีพื้นที่อยู่ใกล้ หนองน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยปัจจุบันเป็นหนองน้ำที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอเขาสวนกวาง จึงได้ตัดสินใจอพยพมาอาศัยอยู่บริเวณนี้และมีการแบ่งที่นาให้แก่ญาติพี่น้องมาอาศัยอยู่ ชาวบ้านจากชุมชนบ้านสะอาดจึงเริ่มอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมหนองน้ำ และตั้งเป็นชุมชนใหม่ แรกเริ่มตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านน้อยหนองอีคูณ” ซึ่งเป็นชื่อของหนองน้ำที่ตั้งอยู่ในชุมชนขณะนั้น ต่อมาจากนั้นไม่นานนัก ชาวบ้านเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความเหมาะสมสำหรับที่จะทำการเพาะปลูก จึงอพยพเข้ามาเพิ่มขึ้น ชาวบ้านส่วนใหญ่มาจากจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร ส่วนมากจะเป็นญาติพี่น้องของผู้มาอยู่ก่อน เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นพื้นที่ตั้งบ้านเรือนหนาแน่นขึ้น ประชากรเกิดการแออัด และพื้นที่ตั้งชุมชนไม่สามารถขยายออกไปได้ จึงได้ทำการย้ายจากชุมชนบ้านน้อยหนองอีคูณมาอยู่ที่บริเวณปัจจุบัน และทำการเปลี่ยนชื่อจากบ้านน้อยหนองอีคูณมาเป็น “บ้านทุ่งบ่อ” อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2478
โดยคำว่า “ทุ่ง” มาจากทุ่งนาที่มีจำนวนมาก และคำว่า “บ่อ” มาจากบ่อเกลือสินเธาว์ เนื่องจากใต้พื้นดินชุมชนบ้านทุ่งบ่อเป็นน้ำเค็ม อีกทั้งการก่อตั้งชุมชนจะมีการก่อตั้งศาลปู่ตาภายในชุมชน เพื่อเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้าน ต่อมาไม่นานได้มีการสร้างวัด ชื่อว่า “วัดยางคำ”โดยวัดยางคำได้อยู่คู่กับชุมชนบ้านทุ่งบ่อจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านในชุมชนเริ่มเข้าถึงการศึกษาพร้อมกับการที่มีวัดยางคำเข้ามา เนื่องจากภายในวัดจะมีการเรียนการสอน เรียกว่า “โรงเรียนวัดยางคำ”จากนั้นในปี พ.ศ. 2482 จึงได้มีการก่อตั้งโรงเรียน โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนบ้านทุ่งบ่อวิทยา”เป็นโรงเรียนขยายโอกาส และเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ในอดีตชุมชนบ้านทุ่งบ่อขึ้นตรงต่อตำบลสะอาด อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และในปี พ.ศ. 2516 ได้แยกออกจากเขตตำบลสะอาด มาเป็นตำบลดงเมืองแอม จนในปี พ.ศ. 2520 ชาวบ้านได้ชักชวนกันไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากเหตุผลทาด้านเศรษฐกิจในประเทศไทย และความยากจนส่งผลให้ไม่สามารถหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างเพียงพอ ในขณะเดียวกัน ประเทศซาอุดิอาระเบียกำลังพัฒนาเมืองจึงต้องการแรงงานจำนวนมาก ชาวบ้านในชุมชนบ้านทุ่งบ่อ จึงได้มีการย้ายถิ่นไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย จนชุมชนบ้านทุ่งบ่อถูกขนานนามว่าเป็น “บ้านซาอุฯ” อีกทั้งจากคำชักชวนต่อ ๆ กันมา โดยการไปเป็นแรงงานที่ใช้แรงงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบียนั้นได้รับผลตอบแทนมากกว่าการทำงานในประเทศไทย ส่งผลให้ชาวบ้านที่มีการย้ายถิ่นสามารถส่งเงินกลับมาดูแลครอบครัวได้ และได้ทำบ้านใหม่หรือแต่งเติมบ้าน ส่งผลให้ลักษณะบ้านในปัจจุบันมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น แตกต่างจากลักษณะบ้านของชาวบ้านในชุมชนบ้านทุ่งบ่อในอดีตที่จะเป็นทรงบ้านยกสูง มีใต้ถุนบ้าน และปล่อยให้โล่ง เนื่องจากบ้านและทุ่งนาอยู่ในระดับเดียวกัน ในฤดูน้ำหลากจึงเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ แต่ในปัจจุบันมีการถมที่ดินให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วม และชาวบ้านเริ่มมีรถยนต์ใช้ โดยรถยนต์รุ่นแรกที่ใช้คือรถยี่ห้อ นิสสัน (Nissan) รุ่น “ดัทสัน R620” (Datsun R620) เป็นรถกระบะ ซึ่งเบาะรถทำมาจากไม้ จากนั้นจึงมีรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ เข้ามาตามยุคสมัย ในปัจจุบันชาวบ้านนิยมใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้าง (รถซาเล้ง) ในการขับขี่ภายในหมู่บ้านเป็นหลัก เนื่องจากบรรทุกของได้เป็นจำนวนมากและมีความสะดวกในการใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่ารถยนต์
ในปี พ.ศ. 2521 ได้มีพระราชกฤษฎีกา กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) ยกฐานะกิ่งอำเภอเขาสวนกวางขึ้นเป็นอำเภอเขาสวนกวาง ส่งผลให้อำเภอเขาสวนกวางได้จัดตั้งขึ้นภายใต้การปกครองของนายอำเภอ โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลเขาสวนกวาง ตำบลนางิ้ว และตำบลดงเมืองแอม ส่งผลให้ชุมชนบ้านทุ่งบ่อได้อยู่ภายใต้อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่นมาจนถึงปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2524 ชาวบ้านเริ่มมีไฟฟ้าใช้จากการนำเข้าผ่านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 เริ่มมีการสร้างถนนคอนกรีตเส้นแรก เนื่องจากถนนในอดีตจะเป็นถนนลูกรัง จึงได้สร้างถนนคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ มีความยาวประมาณ 1,000 เมตร โดยเป็นการสร้างจากแรงงานของชาวบ้านในชุมชน ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากสภาตำบลในขณะนั้น และในปี พ.ศ. 2530 กรมชลประทานเข้ามาทำบ่อกักเก็บน้ำจากหนองน้ำที่มีอยู่แล้ว ส่งผลให้ชาวบ้านมีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตร เรียกหนองน้ำนี้ว่า “หนองขุมดิน” ใต้พื้นดินของชุมชนบ้านทุ่งบ่อเป็นน้ำเค็มแต่สามารถปลูกข้าวได้ เนื่องจากไม่มีการเจาะน้ำขึ้นมาใช้ ในอดีตน้ำที่ใช้อุปโภคและบริโภคเป็นน้ำบนผิวดินซึ่งเป็นน้ำที่มาจากบ่อน้ำ (ส้าง) อยู่ที่ชุมชนบ้านขาม ชุมชนบ้านหนองแวง และชุมชนบ้านหนองเรือน้อย ซึ่งมีระยะห่างประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งในอดีตจะต้องเดินไปหาบน้ำมาจาก
ชุมชนบ้านขาม ต่อมามีการพัฒนาเป็นการใช้รถเข็นในการไปตักน้ำ ต่อมาปี พ.ศ. 2538 กรมทางหลวงชนบทได้เริ่มเข้ามาพัฒนาและปรับปรุงถนนทางหลวง หมายเลข 4003 ขอนแก่น เป็นถนนลาดยาง มีความยาวประมาณ 1,000 เมตร จากนั้นในปี พ.ศ. 2540 กรมพัฒนาที่ดินได้เข้ามาขุดลอกหนองขุมดินเพิ่มเติม นอกจากนั้นยังมีการสร้างโบสถ์
และสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ภายในวัดยางคำในปี พ.ศ. 2541 ประชากรภายในชุมชนเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อง่ายต่อการปกครองดูแล จึงได้แยกหมู่บ้านออกมาเป็นชุมชนบ้านทุ่งบ่อ หมู่ที่ 14 โดยมี นายสุพัตร โนนสว่าง เป็นผู้ใหญ่บ้าน และในปี พ.ศ. 2544 มีปั๊มน้ำมันแห่งแรกในชุมชน ชาวบ้านได้รับความสะดวกสบาย
มากยิ่งขึ้นจากการมีจุดเติมน้ำมัน ส่งผลให้สามารถใช้รถยนต์ในการเดินทางได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องเดินทางไปเติมน้ำมันภายนอกชุมชน
ถัดมาในปี พ.ศ. 2545 มีการจัดระเบียบชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนพัฒนาชุมชนให้ดียิ่งขึ้น คือ การปรับปรุงถนนลูกรังรอบชุมชนเป็นถนนคอนกรีต การขุดลอกคลองน้ำเพื่อการจัดการระบบระบายน้ำรอบชุมชน การสร้างหอพระพุทธกลางบ้าน และสร้างหลักรอบหมู่บ้าน (ชาวบ้านเรียกว่า ตอกซัง) เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายภายในชุมชน และกรมทรัพยากรน้ำได้เข้ามาขุดลอกหนองขุมดินเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อทำระบบประปาที่ปลอดภัย ส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านทุ่งบ่อและชุมชนโดยระแวกมีน้ำเพื่อใช้อุปโภคและบริโภคที่ปลอดภัยและมีปริมาณที่มากขึ้น โดยมีหมู่ที่ 8, 3 และ 14 ที่ใช้ระบบประปาร่วมกัน และในหนองขุมดินมีปลาที่ชาวบ้านสามารถมาจับไปประกอบอาหารหรือขายได้ เช่น ปลาสร้อย ปลาตะเพียน ปลาขาว และปลาตอง เป็นต้น แต่มีการงดจับปลาในฤดูวางไข่ (เดือนมีนาคม) และมีการกำหนดพื้นที่ที่สามารถจับปลาได้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ปลาในหนองน้ำไม่ให้หมดไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 มีการปรับเปลี่ยนโดมกลางบ้านจากไม้เป็นคอนกรีต และในปี พ.ศ. 2554 ได้ก่อตั้งศาลาประชาคมของชุมชน ถัดมาในปี พ.ศ. 2560 มีการจัดกิจกรรมสำคัญ คือ มีโครงการปลูกป่าในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต มีทั้งไม้ยืนต้นและไม้ที่ใช้บริโภคได้ เช่น ต้นขี้เหล็ก เป็นต้น เพื่อให้ชุมชนมีแหล่งอาหารและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่ชุมชน
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2561 มีการปรับปรุงศาลาหนองขุมดิน เพื่อใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่นบุญผะเหวด (พระเวส) สงกรานต์ บุญบั้งไฟ ลอยกระทง และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นภายในชุมชน นอกจากนี้ ชุมชนบ้านทุ่งบ่อยังได้เข้าร่วมโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Tambon One Product: OTOP) เป็นการสร้างอาชีพและเกิดรายได้ให้แก่ชาวบ้านในชุมชนที่ว่างเว้นจากการทำการเกษตรกรรม เนื่องจากการทำเกษตรกรรมไม่ได้ทำตลอดทั้งปี และในปี พ.ศ. 2563 ชุมชนได้เข้าร่วมโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เป็นการนำเอาภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของคนในชุมชนมาแสดงศักยภาพในการรับรองนักท่องเที่ยว และเพิ่มรายได้แก่ชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนโดยอาศัยการท่องเที่ยวชุมชนเป็นจุดดึงดูดโดยมีกรมพัฒนาชุมชนเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความสวยงามของศิลปะและวัฒนธรรม