รูปแบบการสอนที่ใช้พิพิธภัณฑ์เป็นฐานมี 4 ขั้นตอนดังนี้ (นันท์นภัส นิยมทรัพย์, 2567)
1. แนะนำให้รู้
2. ค้นดูให้เห็น
3. เชื่อมโยงให้เป็น
4. สรุปประเด็นแบ่งปัน
ขั้นนำ
(แนะนำให้รู้)
1. ครูให้นักเรียนดูภาพปูนปั้นหน้าคน 3-4 ภาพ และชวนสนทนา
“นักเรียนคิดว่าเป็นหน้าของใคร”
“เป็นคน ไทย หรือคนประเทศอะไร สังเกตจากสิ่งใด”




2. ครูเล่าให้นักเรียนฟังว่าจังหวัดนครปฐมมีการค้นพบโบราณวัตถุที่จัดอยู่ในสมัยทวารวดีหลายชิ้น ซึ่งทำให้คนในปัจจุบันได้ทราบถึงเรื่องราวในอดีตหลายเรื่อง รวมถึงประติมากรรมปูนปั้นรูปใบหน้าคนก็ทำให้เราได้ทราบเรื่องราวในอดีตซึ่งนักเรียนจะเป็นคนหาคำตอบร่วมกัน
3. จากนั้น ครูให้นักเรียนเตรียมตัวเพื่อไปค้นหาคำตอบจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
ขั้นสอน
(ค้นดูให้เห็น)
4. ครูมอบหมายใบงานที่ 1 ใบหน้าใคร...ในพิพิธภัณฑ์ ให้นักเรียนแต่ละคนได้ร่วมกันหาคำตอบในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ตามอัธยาศัย

5. เมื่อกลับสู่ชั้นเรียน นักเรียนจับคู่กันเปรียบเทียบคำตอบในใบงานที่ 1 จากนั้น แล้วรวมกับคู่อื่นอีกครั้ง รวมเป็น 4 คน แล้วทบทวนคำตอบร่วมกัน (เทคนิคคิดเดี่ยว คิดคู่ ร่วมกันคิด: think pair share) ครูสุ่มนักเรียนเฉลยคำตอบร่วมกัน

(เชื่อมโยงให้เป็น)
6. ครูชวนนักเรียนตั้งข้อสังเกต ดังนี้
“จากใบหน้าบุคคลที่พบทำให้นักเรียนทราบว่าในสมัยทวารวดีมีคนชนชาติใดบ้างที่อยู่บริเวณแห่งนี้”
“มีหลักฐานอะไรบ้างที่ทำให้เราได้รู้ว่าพวกเขาเดินทาง ทำอาชีพ มีวิถีชีวิตอย่างไร”
7. นักเรียนแบ่งกลุ่มละ 4-5 คน ทำกิจกรรม “สืบส่องมองหาหลักฐาน” โดยครูกำหนดหลักฐานคือ โบราณวัตถุ 4 ชิ้น ได้แก่ (ก) เศียรพระพุทธรูปดินเผามีแกลบผสม (ข) ใบหน้าชาวอินเดีย และ (ค) ตราประทับดินเผารูปเรือ และ (ง) ให้แต่ละกลุ่มเลือกโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์สมัยทวารวดี 1 ชิ้น

8. นักเรียนร่วมกันค้นคว้าจากพิพิธภัณฑ์หรือเว็บไซต์และสร้างข้อสรุปตามประเด็นที่กำหนด โดยสมาชิกแต่ละคนมีหน้าที่ดังนี้ (เทคนิคเรียนรู้ร่วมกัน: learning together)
สมาชิกคนที่ 1 หาข้อสรุปด้านศาสนา
สมาชิกคนที่ 2 หาข้อสรุปด้านอาชีพ
สมาชิกคนที่ 3 หาข้อสรุปด้านการคมนาคม
สมาชิกคนที่ 4 หาข้อสรุปด้านสังคม
สมาชิกคนที่ 5 หาข้อสรุปด้านอื่นๆ เช่น วัฒนธรรมการแต่งกาย
(สรุปประเด็นแบ่งปัน)
9. นักเรียนเขียนข้อสรุปลงในกระดาษปรู๊ฟแผ่นใหญ่ติดหน้าชั้นเรียน และนำเสนอทีละกลุ่ม อภิปรายร่วมกัน
ขั้นสรุป
10. ครูใช้คำถามนำทางสรุปเพื่อให้นักเรียนสนทนาร่วมกัน ดังนี้
“คนในสมัยปัจจุบันสามารถรู้เรื่องราวในอดีตได้จากสิ่งใด อย่างไร”
“โบราณวัตถุ 1 ชิ้น สามารถบอกเล่นเรื่องราวได้กี่ด้าน”
“เรื่องราว 1 ด้านนั้น หากเราใช้โบราณวัตถุเพียงชิ้นเดียวกับหลายชิ้นในการอธิบาย มีผลต่อความน่าเชื่อถือหรือไม่”
“ในสมัยทวารวดีมีเรื่องอะไรที่นักเรียนสนใจเป็นพิเศษหรือไม่” “เราเรียนรู้เรื่องราวของผู้คนในอดีตเพื่ออะไร”
11. นักเรียนประมวลข้อสรุปของทุกกลุ่มในชั้นเรียนแล้วบันทึกข้อสรุป 5 ด้านจากหลักฐานโบราณวัตถุ ลงในสมุดของตนเอง

