การก่อตั้ง และเหตุการณ์สำคัญของชุมชน
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านห้วยยาง จากบันทึกของหมู่บ้านและการสัมภาษณ์ของนางลําดวน มะปะทัง หลานสาวของผู้ก่อตั้งหมู่บ้านห้วยยาง เดิมทีบ้านห้วยยางก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2471 โดยมีครอบครัวของนายพุฒ มะปะทัง และครอบครัวอื่น ๆ รวม 7 ครัวเรือน อพยพมาจากบ้านตำแย ตําบลดงใหญ่ อําเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เพื่อมาจับจองหาแหล่งทํามาหากิน ค้นพบลำห้วย คือ ลําห้วยยาง จึงได้ลงหลักปักฐานในพื้นที่แห่งนี้ และได้ตั้งชื่อตามนามลําห้วยยาง เรียกชื่อหมู่บ้านว่า ห้วยยาง มีฝ่ายปกครองท้องถิ่นคนแรกคือ นายพุฒ มะปะทัง เป็นผู้ใหญ่บ้านห้วยยางคนแรก ในปี พ.ศ. 2474 และก่อตั้งวัดมรรคผดุงศรี ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกของชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นสถานที่ทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกันของคนในชุมชน ชาวบ้านและกรรมการหมู่บ้านมีส่วนช่วยในการเข้าไปบูรณะวัด และบํารุงศาสนสถานให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2482 มีการก่อตั้งโรงเรียนบ้านห้วยยางสะอาด โดยอาศัยศาลาวัดในการเรียนการสอน หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2512 บ้านห้วยยางได้มีกํานันคนแรก คือ นายโฮม มะปะทัง ซึ่งเป็นกํานันคนเดียวของหมู่บ้าน เนื่องจากไม่มีคนรับตำแหน่งต่อหลังจากที่นายโฮม มะปะทัง เกษียณอายุราชการ ในปีเดียวกันนี้ นายคณิต เนื่องภักดี ครูใหญ่โรงเรียนบ้านยางสะอาด ร่วมกับคณะครูและชาวบ้านย้ายที่ทำการโรงเรียนมายังที่ตั้งปัจจุบัน ได้มีการก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวและเปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 12 เมษายน ปี พ.ศ. 2513
โรงเรียนบ้านห้วยยางสะอาดได้รับงบประมาณจากสภาตําบลมาทําการปรับปรุงอาคารเรียนเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว 3 ห้องเรียนและเปิดขยายชั้นเรียนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กระทั่งชุมชนมีการขยายตัวของจํานวนประชากรเพิ่มมากขึ้น คณะผู้บริหารโรงเรียนและฝ่ายปกครองชุมชนมีการจัดการประชุม เนื่องจากต้องการเปิดขยายชั้นเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ทางกระทรวงศึกษาธิการมีการประเมินว่าโรงเรียนบ้านห้วยยางสะอาดไม่อยู่ในเกณฑ์การขยายชั้นเรียนระดับมัธยมศึกษาตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการขยายชั้นเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ทําให้โรงเรียนบ้านห้วยยางสะอาดเปิดสอนเพียงแค่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มาจนถึง ณ ปัจจุบัน
ต่อมาปี พ.ศ. 2541 แยกหมู่บ้านหมู่ 5 ห้วยยาง ออกเป็นหมู่บ้านหมู่ 15 ห้วยยางศรีวิไล เนื่องจากหมู่บ้านมีการขยายตัวของประชากรเพิ่มมากขึ้นทําให้การดูแลชาวบ้านไม่ครอบคลุม ทั้งนี้หลังจากทําการแยกหมู่บ้าน ชาวบ้านได้รับการดูแลและมีสวัสดิการที่คลอบคลุม รวมถึงได้รับงบประมาณจากภาครัฐ ส่งผลให้หมู่บ้านมีงบประมาณในการจัดการดูแลหมู่บ้านเพิ่มขึ้น และมีการพัฒนาจากเดิมเพิ่มมากยิ่งขึ้น พื้นที่บ้านห้วยยางหมู่ 5 และบ้านห้วยยางศรีวิไลหมู่ 15 มีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านห้วยยางส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือ ทํานา ทําไร่อ้อย และมันสําปะหลัง อีกทั้งยังเลี้ยงโคและกระบือเพื่อใช้เป็นแรงงานในการทํานา
ยุคพัฒนาการสู่การเปลี่ยนแปลงชองชุมชน
ปี พ.ศ. 2525 มีการก่อตั้งกองทุนฌาปนกิจ สมาชิกภายในชุมชนตกลงเข้าร่วมเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตในชุมชนและมิได้ประสงค์หากำไร ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ก่อตั้งศูนย์สาธิตการตลาด ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ฝึกฝนให้คนในชุมชนทำธุรกิจด้านการค้าขาย โดยใช้แนวคิดรวมกันซื้อ รวมกันขาย เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนให้เข้าถึงการอุปโภค บริโภค ได้ในราคาถูก ประหยัด และผลกำไรปันส่วนคืนสู่ชุมชน แต่ปัจจุบันเป็นสถานที่ให้เช่าสำหรับขายของทั่วไป อาทิ ผักสวนครัว วัตถุดิบปรุงอาหาร เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันการคมนาคมมีความสะดวกสบายขึ้น ทำให้คนในชุมชนสามารถเดินทางค้าขายได้ เพื่อเลือกซื้อวัตถุดิบจากสถานที่ต่าง ๆ อย่างหลากหลายและมีราคาถูก ฝ่ายปกครองชุมชนจึงได้เปิดเช่าศูนย์สาธิตการตลาดสำหรัะับคนในชุมชนและบุคคลทั่วไปที่ต้องการซื้อขาย และในปี พ.ศ. 2528 ได้มีการก่อตั้งธนาคารข้าว เพื้่อให้สมาชิกในชุมชนกู้ยืมข้าวไปใช้ในการบริโภคและการทำพันธุ์ในฤดูทำนา และรวบรวมข้าวไว้จำหน่ายในราคายุติธรรม
จนกระทั่งในพี พ.ศ. 2530 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้นำไฟฟ้าเข้ามาสู่ชุมชน ส่งผลให้ชุมชนมีแสงสว่างในที่พักอาศัยและสำหรับการสัญจรบนถนนในช่วงกลางคืน อีกทั้งไฟฟ้ายังช่วยให้คนในชุมชนมีความสะดวกในชีวิตประจำวัน สามารถใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าในการทำเกษตร การอุปโภคและบริโภค
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2531 คนในชุมชนมีการรวมตัวขุดบ่อหนองแสงเพื่อใช้ในการผลิตน้ำเป็นจุดเริ่มต้นให้มีระบบน้ำในชุมชน แต่ขณะนั้น น้ำยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในชุมชน จึงทำให้มีการวางท่อน้ำจากลำห้วยยาง ซึ่งอยู่ใกล้ชุมชนบ่อหนองแสง เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีระยะทางที่ไกล และท่อมีขนาดเล็กก่อเกิดปัญหาท่อตัน ส่งผลให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำได้
ปี พ.ศ. 2532 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้มีการสนับสนุนคนในชุมชนให้จัดตั้งกลุ่มทอผ้าฝ้าย เนื่องจากเล็งเห็นความสามารถของคนในชุมชน โดยสนับสนุนงบประมาณ และกี่ทอผ้า ทำให้คนในชุมชนมีอาชีพเสริมนอกจากการทำเกษตร อีกทั้งยังมีรายได้จาการจำหน่ายผ้าฝ้าย และในปี พ.ศ. 2540 ได้มีการก่อตั้งกองทุนสัจจะ ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากการออมของสมาชิกจำนวนเท่า ๆ กัน ทุกเดือนตามกำลังความสามารภ เพื่อใช้เป็นทุนในการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ซึ่งจะจ่ายคืนเงินสัจจะสะสมเมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพแล้วเท่านั้น ทำให้ชุมชนที่เป็นสมาชิกกองทุนสัจจะมีเงินออมจากการฝากเงินกับกลุ่มกองทุนสัจจะทุกเดือน เสมือนเป็นธนาคารของชุมชน
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2544 ก่อตั้งกลุ่มพันธุ์ข้าวชุมชน มีสมาชิกทั้งหมด 125 คน กิจกรรมหลัก คือ ผลิตพันธุ์ข้าวให้สมาชิกในชุมชน รวมถึงจำหน่ายข้าวให้กรมการข้าว เนื่องจากคนในชุมชนทำการเกษตรเป็นหลัก ต่อมา ในปี พ.ศ. 2548 มีการก่อตั้งโรงสีข้าวน้อย 1 ลูกหิน เป็นโรงสีข้าวแห่งแรกของหมู่บ้าน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนออกสมทบทุน 50,000 บาท ทำให้คนในชุมชนมีความสะดวกสบาย โดยไม่ต้องตำข้าวเปลือก และในปี พ.ศ. 2549 การประปาส่วนภูมิภาคได้เข้ามาสำรวจ และนำน้ำประปาเข้ามาสู่ชุมชน คนในชุมชนจึงมีน้ำใช้ในการอุปโภคและบริโภค
ปี พ.ศ. 2553 มีการพัฒนาโรงสีข้าวเป็น 3 ลูกหิน ทำให้คนในชุมชนสามารถสีข้าวได้รวดเร็วและมีปริมาณมากขึ้น และในปี พ.ศ. 2557 คนในชุมชนร่วมกันนำน้ำจากลำห้วยยางเข้าสู้บ่อหนองแสง โดยใช้แรงโนมถ่วงจนประสบผลสำเร็จ ทำให้มีน้ำประปาเพียงพอต่อความต้องการของคนในชุมชนจนถึงปัจจุบัน
ปี พ.ศ. 2559 สร้างศาลาดอนปู่ตา ภายในชุมชนมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของคนในชุมชน โดยชาวบ้านเรียกดอนปู่ตา มีการทำพิธีไหว้พ่อปู่ในทุก ๆ วันพุธ ซึ่งการทำพิธีกราบไหว้พ่อปู่ต้องผ่านพ่อจ้ำ เป็นบุคคลที่ชาวบ้านถือว่าเป็นผู้นำที่สื่อสารกับพ่อปู่เท่านั้น ศาลดอนปู่ตามีอิทธิพลต่อความเชื่อของชาวบ้านเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของโชคลาภและการเกษตร นอกจากวัดจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนยังมีศาลดอนปู่ตาที่ถือว่าเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจชองคนในชุมชนด้วยเช่นกัน ในอดีตดอนปู่ตาไม่มีศาลาอย่างปัจจุบัน แต่เมื่อมีชาวบ้านถูกฉลากกินแบ่ง จึงได้บริจาคและได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนร่วมระดมทุน เป็นจำนวนเงิน 420,000 บาท ในการสร้างศาลาดอนปู่ตา และเป็นศาลาดอนปู่ตาในปัจจุบัน
ปี พ.ศ. 2562 ก่อตั้งศาลากลางบ้าน เนื่องจากคนในชุมชนไม่มีสถานที่ในการทำกิจกรรมร่วมกัน จึงได้สร้างศาลากลางบ้านขึ้นมา เพื่อให้คนในชุมชนได้มีสถานที่รวมตัวในการทำกิจกรรม ต่อมา ปี พ.ศ. 2564 องค์การบริหารส่วนตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกลาง จังหวัดขอนแก่น ได้มีการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก บ้านห้วยยางศรีวิไล หมู่ 15 นำโดย นายทวี อรัญศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงเมืองแอม ใช้งบปนะมาณ จำนวน 9,444,000 บาท ทำให้การคมนาคมของคนในชุมชนมีความสะดวกสบายขึ้น และในปี พ.ศ. 2565 มีการปรัับปรุงถนนลูกรัง หมู่ 5 ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง เชื่อมเขตตำบลศรีสุขสำราญ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เป็นถนนลาดยางใช้งบประมาณ จำนวน 490,000 บาท ทำให้การคมนาคมระหว่างอำเภอมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น
แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของชุมชนบ้านห้วยยางหมู่ 5 และบ้านห้วยยางศรีวิไลหมู่ 15 ขึ้นอยู่กับการได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยภายนอก และหน่วยงานต่าง ๆ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่เล็งเห็นถึงปัญหาของชุมชน ความต้องการของชุมชน และความสามารถของคนในชุมชน มีการสนับสนุนทางด้านงบประมาณ หัตถกรรม และการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของชุมชนทำให้เกิดความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน ฝ่ายปกครองชุมชน และคนในชุมชน ที่มีความสามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ วิถีชีวิตของตนในชุมชนไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก ยังมีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นของคนในชุมชน คือ ความรู้ความสามารถในด้านเกษตรกรรม ด้านหัตถกรรม และมีการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น