ประวัติการก่อตั้งชุมชน
ยุคก่อตั้งชุมชน
ประวัติการเกิดขึ้นของหมู่บ้านผักหนาม ตามบันทึกของนายทองใบ หมื่นราชา อดีตผู้ใหญ่บ้านกำนัน คนที่ 9 กล่าวไว้ว่า หมู่บ้านบ้านผักหนาม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2442 โดยมีครอบครัวแม่ใหญ่เต๊าะ วงษ์จันทอง ที่อพยพย้ายมาจากจังหวัดมหาสารคาม ครอบครัวพ่อใหญ่แก้ว วันทอง จากอำเภอชำสูง และครอบครัวอื่น ๆ รวม 10 ครัวเรือน เดินทางมาพบพื้นทที่ที่เป็นหนองน้ำ คือ หนองสิม ชาวบ้านจึงมีความเห็นกันที่จะลงหลักปักฐานกันในบริเวณดังกล่าว และเริ่มทำไร่ทำนาตามอาชีพเดิมที่ติดตัวมา แม้ว่าหมู่บ้านจะเริ่มต้นมาได้เป็นอย่างดีแต่ต่อมาเกิดเหตุกการณ์ที่ชาวบ้านในหมู่บ้านได้ไปทอแหจับปลาเพื่อนำมาประกอบอาหาร หลังจากการรับประทานอาหารดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านเกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านในหมู่บ้านจึงเชื่อว่าเกิดขึ้นจากผีและสิ่งไม่ดี ทำให้ภายในหมู่บ้านในขณะนั้นเกิดความหวาดกลัว และเป็นผลให้ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพกลับภูมิลำเนาเดิมของตนเอง เหลือเพียงครอบครัวแม่ใหญ่เต๊าะ วงษ์จันทอง และพ่อใหญ่แก้ว วันทอง ภายหลังมีชาวบ้านกลุ่มใหม่อพยพเข้ามาสมทบและจัดตั้งหมู่บ้านผักหนามขึ้น โดยกลุ่มที่เข้ามาในภายหลังมาจากหลายหมู่บ้านด้วยกัน คือ บ้านแห้ว บ้านคู บ้านโคก โดยมีพ่อใหญ่จันดี ศรีวิชา พ่อใหญ่เสริม แก้วใส พ่อโชติศรีวิชัย พ่อใหญ่แสนศรีวิชา และพ่อใหญ่แจกหมื่นราชา เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งหมู่บ้าน
ต่อมาปี พ.ศ. 2452 บ้านผักหนามได้ก่อตั้งวัดขึ้นเป็นแห่งแรกในชุมชนชื่อ “วัดจอมแจ้ง” ทำให้ชาวบ้านมีสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ทำกิจกรรมและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาร่วมกันของคนในชุมชน และได้จัดตั้งวัดอย่างเป็นทางการ โดยขึ้นทะเบียนวัดอย่างถูกกฎหมายกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในปี พ.ศ.2462 ในปี พ.ศ.2491 ตำบลกระนวน(อำเภอกระนวนในปัจจุบัน) เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอน้ำพอง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอ โดยรวมเอาเขตการปกครองของตำบลกระนวน และตำบลบ้านโนน อำเภอน้ำพอง (ปัจจุบันคืออำเภอซำสูง) จังหวัดขอนแก่น แยกเป็นเขตการปกครอง "กิ่งอำเภอ" เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ตำบลทั้งสอง อยู่ห่างไกลจากที่ตั้งที่ว่าการอำเภอน้ำพองมาก การคมนาคมไม่สะดวก และมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ประชาชนเดือดร้อนประสบปัญหาเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นายเลื่อน นิลประพันธ์ ผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอน้ำพองในขณะนั้น จึงได้ประชุมราษฎร ข้าราชการและกำนัน ผู้ใหญ่บ้านของตำบลกระนวน และตำบลบ้านโนน มีมติขอแยกเขตปกครองของทั้งสองตำบล จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอกระนวน และในปี พ.ศ.2494 ได้มีการอนุมัติงบประมาณก่อสร้างที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจ จนมาถึงปี พ.ศ.2501 ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอกระนวนขึ้นเป็น "อำเภอกระนวน" ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 75 ตอนที่ 55 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2501 อำเภอกระนวนจึงตั้งขึ้นภายใต้การปกครองของนายอำเภอตั้งแต่บัดนั้นสืบมา โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองโก ตำบลหนองกุงใหญ่ ตำบลห้วยโจด ตำบลห้วยยาง ตำบลบ้านฝาง ตำบลดูนสาด ตำบลหนองโน ตำบลน้ำอ้อม และตำบลหัวนาคำ จึงทำให้งบประมาณไม่กระจุกตัวและแบ่งงบประมาณได้เท่าเทียมกันทุกหมู่บ้าน และในปี พ.ศ.2505 วัดจอมแจ้งได้มีการสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ โดยฝ่ายสงฆ์พระครูประโชติ สารธรรม และกำนันบุญ ลงศรี เนื่องจากศาลาการเปรียญหลังเก่าทรุดโทรม เมื่อสร้างเสร็จสิ้นทำให้มีพื้นที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาที่กว้างขวาง ภายหลังในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการก่อสร้างเมรุที่วัดจอมแจ้ง โดยพ่อสมยศ แสงโคก ได้เงินผ้าป่ามาจากกรุงเทพมหานคร จากเดิมที่นำไปฝังในป่าช้า(ปัจจุบันคือวัดป่ามงคลนิมิตร) ได้เปลี่ยนมาฌาปนกิจศพโดยการเผาที่เมรุ และทำให้คนในชุมชนฌาปนกิจศพได้สะดวกมากขึ้น และปี พ.ศ.2537 ได้มีการก่อสร้างอุโบสถฝ่ายพระสงฆ์ เพื่อใช้สำหรับการบวชนาคและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน ในปี พ.ศ. 2543 มีการแยกหมู่บ้านหมู่ 4 ออกเป็นหมู่ 12 บ้านผักหนามชัย เนื่องจากหมู่บ้านมีการขยายตัวเป็นอย่างมาก ทำให้การปกครองไม่ทั่วถึง ทั้งนี้หลังจากแยกแล้วชาวบ้านจะได้รับการดูแลและมีสวัสดิการที่ครอบคลุม ภายหลังปี 2545 มีการก่อตั้งศาลากลางบ้าน เนื่องจากคนในชุมชนไม่มีสถานที่ในการทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งนี้ยังสามารถใช้ในการเก็บอุปกรณ์สำหรับทำกิจกรรมส่วนร่วมของชุมชนได้อีกด้วย
ในด้านประวัติชุมชนด้านการศึกษา เมื่อปี 2464 มีการก่อตั้งโรงเรียนบ้านผักหนาม โดยนายอำเภอน้ำพองเป็นผู้ก่อตั้งด้วยเงินบำรุงการศึกษาประชาบาล เงินช่วยเหลือการประถมศึกษา และอาศัยศาลาวัดจอมแจ้ง เป็นสถานที่เปิดการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนประชาบาล ตำบลกระนวน 6 (บ้านผักหนาม) โดยมีนายเถื่อน มาจันทร์ เป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษามากขึ้น แต่ในปี 2474 โรงเรียนถูกปิดชั่วคราว เนื่องมาจากรัฐบาลไม่มีงบประมาณในการส่งเสริมการศึกษา ภายหลังนายอำเภอน้ำพองได้สั่งให้เปิดโรงเรียนอีกครั้งในปี 2476 โรงเรียนจึงได้เปิดการเรียนการสอนนับแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา ต่อมาปี 2497 ได้ย้ายโรงเรียนจากวัดจอมแจ้ง ออกมาตั้งโรงเรียนใหม่ ซึ่งตั้งชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนบ้านผักหนาม (ผักหนามวิทยา) และมีอาคารเรียนหลังแรก โดยมีการเรียนการสอนเพียงแค่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-4 เพียงเท่านั้น ทำให้คนในหมู่บ้านเข้าถึงการศึกษาได้มากยิ่งขึ้นและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้รับการศึกษา ปี 2503 แผนการศึกษาแห่งชาติได้แบ่งการศึกษาไว้ 2 ขั้น คือ ชั้นประถมศึกษาตอนต้น 3 ปี และชั้นประถมศึกษาตอนปลาย 4 ปี รวมเป็น 7 ปี ปี 2520 แผนการศึกษาชาติได้กำหนดหลักสูตรชั้นประถมศึกษา ให้มีชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนและเป็นการศึกษาภาคบังคับ ทำให้ชาวบ้านมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โรงเรียนบ้านผักหนามได้รับอนุมัติให้เปิดเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา และเป็นโรงเรียนที่ปฏิรูปทางการศึกษา เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปี 2539 จึงทำให้คนในชุมชนได้มีโอกาสในการศึกษาสูงขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเรียนในสถานที่ห่างไกล พร้อมทั้งลดค่าใช้ที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา
ยุคพัฒนาสู่เศรษฐกิจทุนนิยม
ในปี พ.ศ.2519 มีการสร้างโรงงานน้ำตาล KSL (บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด) ขึ้นที่อำเภอน้ำพอง ประกอบกับในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่อ้อยมีราคาสูง ทำให้ชาวบ้านเริ่มหันมาปลูกอ้อยมากขึ้น อีกทั้งอ้อยยังเป็นพืชที่สามารถเก็บได้ 2 รอบ และชาวบ้านเริ่มออกไปทำงานภาคอุตสาหกรรมที่โรงงาน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการทำการเกษตร ต่อมาปี พ.ศ.2521 เนื่องจากมีรถโดยสารประจำทางระหว่างอำเภอกระนวน-เชียงยืน-ขอนแก่นผ่านหมู่บ้าน ส่งผลให้ชาวบ้านมีความสะดวกสบายในการเดินทางเพื่อติดต่อธุระในตัวเมือง ทั้งยังติดต่อกับคนภายนอกได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงคนภายนอกสามารถเดินทางมายังหมู่บ้านได้ง่ายเช่นเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2522 บ้านผักหนามถือเป็นหมู่บ้านแรกของอำเภอกระนวนที่อยู่นอกเขตสุขาภิบาลที่มีไฟฟ้าใช้ โดยมีงบประมาณในการสร้าง 110,000 บาท เป็นเงินช่วยเหลือจากชาวบ้านสมทบทุนจำนวน 30,000 บาท และเงินสมทบจากบริษัทชัยศิริพืชไร่ 80,000 บาท ทำให้ชุมชนมีพื้นที่สว่าง มีความปลอดภัย และสร้างความสะดวกสบายในชุมชน ต่อมาในปี 2524 มีรถยนต์คันแรกของหมู่บ้าน ซึ่งสามารถช่วยเหลือคนในชุมชน อย่างเช่น การเดินทาง ทำธุระส่วนตัว หรือเมื่อมีคนในชุมชนเจ็บป่วยสามารถพาผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที และในปี พ.ศ.2528 มีร้านค้าร้านแรกของชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีความสะดวกสบายมากขึ้น และไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน ปี พ.ศ.2529 มีการสร้างถนนลาดยาง 2 เลน สายกระนวน-เชียงยืน เป็นระยะทาง 40 กิโลเมตร โดยได้รับงบประมาณในการสร้างมาจากสถานทูตออสเตรเลีย ส่งผลให้ระบบการเดินทางเกิดความสะดวกมากขึ้น และมีไฟให้แสงสว่างบนถนน โดยนายอำเภอกระนวนได้ของบประมาณในการสร้างไฟถนนจากเขตทางการขอนแก่น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการคมนาคม และลดความเสี่ยงในการโดนลักขโมยของคนในชุมชน ในปี 2530 มีการก่อตั้งโรงสีข้าวที่ใช้โรงสีมอเตอร์ที่แรก เป็นของพ่อใหญ่ไหล ศรีชมชื่น จึงทำให้คนในชุมชนมีความสะดวกสบาย โดยไม่ต้องตำข้าวเปลือกเหมือนในสมัยก่อน จากนั้นเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม จึงได้ขายโรงสีข้าว นอกจากนี้ในปี 2533 การประปาส่วนภูมิภาคได้เข้ามาสำรวจและได้น้ำประปามาสู่ชุมชน ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านได้ออกสมทบทุน 99,730 บาท คนในชุมชนจึงมีน้ำใช้อุปโภคบริโภค ต่อมาปี 2540 มีการก่อตั้งโรงสีข้าวโรงที่สอง และเลิกใช้โรงสีมอเตอร์เป็นโรงสีไฟฟ้า ทำให้คนในชุมชนมีความสะดวกสบาย สีข้าวได้รวดเร็ว และมีปริมาณมากขึ้น อีกทั้งเจ้าของโรงสีมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายลำและปลายข้าว ในปี พ.ศ.2539 กำนันทองใบ หมื่นราชา ประธานกรรมการบริหารของหมู่บ้าน ได้สร้างถนนคอนกรีตสายแรกของหมู่บ้าน ถือได้ว่าเป็นถนนคอนกรีตนำร่อง ทำให้การคมนาคมขนส่งสะดวกสบายมากขึ้น และในปีเดียวกันนั้นเอง มีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุงใหญ่ และได้แยกหมู่บ้านผักหนาม หมู่ 4 ออกเป็นบ้านผักหนามคำ หมู่ 8 เนื่องจากหมู่บ้านมีพื้นที่ขนาดใหญ่และปกครองยาก ทำให้ไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานภาครัฐอย่างทั่วถึง เมื่อแยกหมู่บ้านออกมาแล้วจึงทำให้คนในหมู่บ้านได้รับการดูแลจากรัฐได้ทั่วถึงมากขึ้น ในปี พ.ศ.2541 มีการขุดลอกคลองชลประทานเพื่อนำมาใช้ในการทำการเกษตร ทำให้เกษตรกรในชุมชนสามารถใช้น้ำจากคลองได้มากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาความแห้งแล้งได้ในบางพื้นที่ของชุมชน ในปี พ.ศ.2547 เกิดโครงการ “กองทุนปุ๋ย” โดยโครงดังกล่าวเป็นการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้าน ที่ทำให้ชาวบ้านสามารถได้รับและนำปุ๋ยมาใช้ในการทำการเกษตร หลังจากการเก็บเกี่ยวและขายผลผลิตทั้งหมด ชาวบ้านได้นำเงินเหล่านั้นมาใช้คืนกองทุน เพื่อใช้หมุนเวียนในการทำการเกษตรครั้งต่อไป นอกจากนี้ในปี 2547 มีโครงการแจกถังขยะ เพื่อลดปัญหาในการทิ้งขยะไม่ถูกที่ ลดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ และช่วยลดมลภาวะในการเผาขยะ ปี 2550 ห้างสรรพสินค้า Tesco Lotus ได้เข้ามาก่อตั้งในอำเภอกระนวน แต่ในช่วงก่อนการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าได้เกิดการคัดค้านจากชาวบ้านในชุมชน เนื่องจากเป็นการขัดผลประโยชน์ของคนในพื้นที่ และหลังจากเปิดบริการแล้วในปี 2558 คนในพื้นที่จึงเล็งเห็นว่า ห้างสรรพสินค้านี้ก่อให้เกิดประโยชน์กับตนเอง เพราะสร้างความสะดวกสบายกับคนในชุมชนมากขึ้น และนำพาความเจริญเข้ามาในชุมชน มีศูนย์รวมสินค้าหลากหลาย เช่น ร้านทอง ร้านเฟอร์นิเจอร์ ร้านหนังสือ ร้านอุปกรณ์เครื่องเขียน ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า และเทคโนโลยี และทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการเข้าไปทำงานในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น และในปี พ.ศ.2551 มีการก่อสร้างโรงแรม ดิ ออร์คิดส์ เฮาส์ ช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้จากการทำงานประจำในโรงแรม ปี พ.ศ.2560 มีร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ชาวบ้านที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถใช้บัตรได้โดยไม่ต้องเดินทางไปไกลไปซื้อของจากร้านค้าในตัวเมือง ทั้งนี้บ้านไร่ไออุ่นรัก โฮมสเตย์ ได้เปิดกิจการ ปี พ.ศ.2562 ซึ่งช่วยสร้างชื่อเสียงให้บ้านผักหนามมากขึ้น เนื่องจากบ้านไร่ไออุ่น มีบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และในปีถัดมา ปี 2563 มีโครงการวางท่อน้ำ เนื่องจากฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมระบายไม่ทัน แต่ยังวางท่อน้ำได้ไม่ทั่วถึงมากนักจึงช่วยให้น้ำที่ท่วมขังภายในหมู่บ้านระบายได้ดีขึ้นไม่มากนัก นอกจากนี้ยังมีโครงการซ่อมถนนเส้นที่ขรุขระ และเพิ่มถนนคอนกรีตรอบ ๆ หมู่บ้านทำให้การคมนาคมสะดวกมากยิ่งขึ้น
บริบททางกายภาพ
ที่ตั้งและอาณาเขต
ตำบลหนองกุงใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตปกครองของอำเภอกระนวน ห่างจากจังหวัดขอนแก่นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 66 กิโลเมตร สามารถเดินทางได้ด้วยรถโดยสารประจำทาง โดยใช้เส้นทางหมายเลข 2152 เพื่อเข้าสู่อำเภอกระนวน และจากตัวเมืองอำเภอกระนวนไปจนถึงบ้านผักหนาม หมู่ที่ 4 เป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร โดยมีเขตติดต่อกับพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ เทศบาลอำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านผักหนามคำ หมู่ที่ 8 ตำบลหนองกุงใหญ่ อำเภอกระนวนจังหวัดขอนแก่น
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านโสกเสี้ยว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองกุงใหญ่ อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น
ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านผักหนามชัย หมู่ที่ 12 ตำบลหนองกุงใหญ่ อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น
เส้นทางการเดินทางภายในชุมชนบ้านผักหนาม หมู่ที่ 4 สามารถจำแนกได้ ดังนี้
1) ถนนเส้นหลักในการเดินทางไปยังอำเภอกระนวน และหมู่บ้านใกล้เคียง คือ ทางหลวงหมายเลข 2152 มีลักษณะเป็นถนนลาดยาง ตั้งแต่บริเวณถนนทางไปอำเภอเชียงยืน จนถึงถนนทางไปอำเภอกระนวน โดยมีบ้านผักหนามอยู่ขั้นระหว่างกลาง
2) ถนนเส้นรองในการเดินทางภายในเขตพื้นที่ชุมชน มีลักษณะเป็นถนนคอนกรีต พบมากสุดในบริเวณกลางหมู่บ้าน หรือตั้งแต่บริเวณทางเข้าหมู่บ้านไปจนถึงทางทิศใต้ของหมู่บ้าน
3) ถนนที่ใช้สำหรับเดินทางไปยังพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านในชุมชนผักหนาม มีลักษณะเป็นถนนลูกรัง เริ่มตั้งแต่บริเวณพื้นที่ดอนบริเวณรอบนอกที่อยู่อาศัยทางทิศตะวันออกเป็นเส้นทางที่เชื่อมกับบ้านโสกเสี้ยว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองกุงใหญ่ อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น และพื้นที่ลุ่มทางทิศเหนือของหมู่บ้าน
(ภาพที่ 1)
ภาพที่ 1 แผนที่การเดินทางจากที่ว่าการอำเภอกระนวนไปยังบ้านผักหนาม หมู่ที่ 4 ตำบลหนองกุงใหญ่ อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น
สภาพภูมิอากาศ
บ้านผักหนาม หมู่ที่ 4 มีสภาพภูมิอากาศไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ดังนี้
ฤดูร้อน เริ่มต้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน และร้อนอบอ้าวมากที่สุดในเดือนเมษายน
ฤดูฝน เริ่มต้นประมาณถึงกลางเดือนมิถุนายนจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน เมื่อมีความชื้นมาก จะส่งผลให้อากาศหนาวเย็น และฝนตกชุก
ฤดูหนาว เริ่มต้นประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ อากาศเริ่มเย็นลง อุณหภูมิลดลง ลมแรง แต่แห้งแล้ง โดยเดือนที่มีอากาศหนาวเย็นมากที่สุดอยู่ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม
สภาพทางกายภาพ
พื้นที่อยู่อาศัย
บ้านผักหนามหมู่ที่ 4 ใช้ถนนทางหลวงหมายเลข 2152 เป็นเกณฑ์ในการแบ่งเขตการปกครองระหว่างบ้านผักหนามคำ หมู่ที่ 8 ตำบลหนองกุงใหญ่ อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น และใช้เส้นทางถนนคอนกรีตกลางบ้านที่เป็นทางไปบ้านโสกเสี้ยว แบ่งขั้นกลางกับบ้านผักหนามชัย หมู่ที่ 12 เนื่องจากมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ทำให้ยากต่อการปกครอง ปัจจุบันบ้านผักหนาม หมู่ที่ 4 มีจำนวนครัวเรือน ทั้งหมด 232 ครัวเรือน พร้อมกับประชากร 841 คน แบ่งออกเป็นเพศชาย 401 คน และเพศหญิง 440 คน ประชากรส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน (15-59 ปี) รองลงมาเป็นวัยเด็ก (ต่ำกว่า 15 ปี) และผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปี) จุดเด่นที่สำคัญของหมู่บ้าน คือ มีพื้นที่ในทำการเกษตรทั้งหมด 3750 ไร่ คนในหมู่บ้านผักหนาม หมู่ที่ 4 ประกอบอาชีพเพาะปลูก ทั้งหมด 232 ครัวเรือน ซึ่งถือได้ว่าหมู่บ้านผักหนาม มีจุดเด่นด้านการทำเกษตรมากกว่าหมู่บ้านอื่น เนื่องจากมีการแบ่งเขตการปกครอง ออกเป็น 3 หมู่บ้าน ทำให้พื้นที่อยู่อาศัยมีขนาดในการปลูกสร้างบ้านเรือน เล็กลงและมีการจัดวางแผนผังบ้านเป็นสัดส่วนมากขึ้น จึงไม่มีการแบ่งแยกเป็นคุ้มเช่นในอดีต (ภาพที่ 2)
ภาพที่ 2 แผนที่ชุมชนบ้านผักหนาม หมู่ที่ 4 ตำบลหนองกุงใหญ่ อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น
พื้นที่เกษตรกรรม
บ้านผักหนาม หมู่ที่ 4 มีพื้นที่เกษตรกรรมที่กระจายไปทางทิศเหนือจนถึงทิศตะวันออก ที่อยู่ติดกับพื้นที่บ้านโสกเสี้ยว หมู่ที่ 2 โดยมีครัวเรือนทั้งหมด 232 ครัวเรือน ในแต่ละครัวเรือนมีที่ดินทำกินของตนเอง ส่วนใหญ่ถือครองเอกสารสิทธิ์ที่ดินประเภทโฉนดที่ดิน มีบางส่วนถือครองเอกสาร น.ส. 3 และ ส.ค. 1 โดยเฉพาะในพื้นที่ทิศตะวันออกลักษณะของพื้นที่แบ่งเป็นพื้นที่ลุ่มและดอน ดินเป็นดินร่วนปนทราย เหมาะสำหรับการทำนานาหว่าน ชาวบ้านปลูกพืชหลายชนิดรวมถึงอ้อย มันสำปะหลัง และข้าว รวมถึงข้าวโพดและพืชผักสวนครัวในแปลงผักรวมโดยใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ “ห้วยวังไฮ” ที่เกิดจากการไหลมาของน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ไหลผ่านอำเภอน้ำพอง และแตกออกไปเป็นหนองสิม สำหรับให้ชาวบ้านใช้ในการเกษตร ทางด้านทิศตะวันตกมีบ่อน้ำบาดาล 1 แห่ง สำหรับใช้ในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรของเจ้าของที่ดินบริเวณนั้น และขายน้ำให้กับเกษตรกรในฤดูแล้ง เพื่อใช้ในการทำการเกษตร ในหมู่บ้านผักหนามชัย หมู่ 12 เกษตรกรมีการเช่าพื้นที่ปลูกข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง คละกัน โดยข้าวจะขายให้โรงสีและร้านชัยเจริญ ในอำเภอเมืองกระนวน ส่วนอ้อยจะมีนายทุนจากโรงงานน้ำตาลมารับจากเกษตรกรภายในหมู่บ้าน และมันสำปะหลังส่งออกไปขายยังบริเวณลานมัน ในส่วนของบ้านผักหนามหมู่ 8 ที่ไม่มีคลองส่งน้ำ ชาวบ้านจะขุดสระเก็บน้ำฝนไว้ใกล้กับพื้นที่ทำกินของตนเองเพื่อรองรับน้ำฝนไว้ใช้สำหรับการเพาะปลูก นอกจากนี้ชาวบ้านยังปลูกพืชผักสวนครัว เช่น คะน้า ต้นหอม พริก กะเพรา มะนาว ใบแมงลัก ผักบุ้ง กะหล่ำปลี และผักสลัด ซึ่งสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ทั้งในที่ดินของตนเองและในแปลงผักรวม โดยการทำการเกษตรของชาวบ้านยังขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำและราคาผลผลิตแต่ละปี
ภาพที่ 3 แผนที่ทางกายภาพชุมชนบ้านผักหนาม หมู่ที่ 4 ตำบลหนองกุงใหญ่ อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น
ภาพที่ 4 แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินชุมชนบ้านผักหนาม หมู่ที่ 4
ตำบลหนองกุงใหญ่ อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น
พื้นที่เลี้ยงสัตว์
บ้านผักหนามชัย หมู่ที่ 4 แบ่งพื้นที่เลี้ยงสัตว์ออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่บริเวณที่อยู่อาศัย และพื้นที่ว่างจากการทำการเกษตร โดยเลี้ยงสัตว์ปีกบริเวณใต้ถุนบ้านและบริเวณพื้นที่ว่างจากการเกษตร ผ่านการเลี้ยงระบบปิด และเลี้ยงเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นบางส่วน เช่น เป็ดพันธุ์บาบารี่ ไก่บ้านเลี้ยงที่บริเวณที่อยู่อาศัย และไก่ชนเลี้ยงบริเวณนา นอกจากนี้ยังเลี้ยงสุกรและโค เพื่อขายในช่วงที่ต้องการใช้เงินก้อน ไม่ได้เลี้ยงขายประจำ ผ่านพ่อค้าคนกลาง (นายฮ้อย) เนื่องจากเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ จึงต้องการใช้พื้นที่ในการเลี้ยง สุกร มี 2 ครัวเรือนที่เลี้ยง ครัวเรือนแรกเลี้ยง 4 – 5 ตัว ครัวเรือนที่สองเลี้ยง 10 – 15 ตัว ครัวเรือนที่เลี้ยงโค 4 – 5 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 7 – 8 ตัว โดยเลี้ยงที่พื้นที่ว่างทางการเกษตรและที่บ้าน หากเลี้ยงในพื้นที่บริเวณที่อยู่อาศัยจะมีการเกี่ยวหญ้าให้โคแทนการเลี้ยงแบบปล่อยตามพื้นที่ทางการเกษตร นอกจากนี้ยังมีการปลูกหม่อนไหมที่บ้าน เพื่อมาเป็นอาหารแก่ตัวไหม และนำมาทอผ้า ในส่วนของปลา จะมีการแบ่งเลี้ยงใน 2 พื้นที่ได้แก่ พื้นที่นา ชาวบ้านจะทำการเลี้ยงปลาตอง ปลาช่อน ปลาดุก ปลาตะเพียน และปลาแขยงจุด และพื้นที่อยู่อาศัย จะเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน ปลานัย และปลายี่สก โดยเลี้ยงในบ่อส่วนตัวภายในบริเวณบ้าน
พื้นที่สาธารณะ
บ้านผักหนาม หมู่ที่ 4 มีพื้นที่สาธารณะสำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกันของชาวบ้าน ได้แก่ ศาลาประชาคม หรือศาลากลางบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านจะมารวมตัวกันเพื่อประกอบกิจกรรมต่าง ๆ กิจกรรมทางศาสนา เช่น การรวมตัวกันเพื่อจักสานตะกร้า เพื่อเป็นการเตรียมงานบุญกฐินประจำปี ในอดีตยุ้งข้าวจะมีการรวมข้าวเป็นกองกลางซึ่งได้มาจากแต่ละบ้าน เก็บไว้เป็นส่วนรวมสำหรับงานบุญ ซึ่งจะนำข้าวตรงส่วนนั้นมาประกอบอาหารและขาย เงินทุนตรงส่วนนั้นจะนำมาใช้สำหรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้าน แต่เนื่องจากมีการขโมยข้าว ปัจจุบันจึงเปลี่ยนเป็นการนำข้าวไปไว้ที่ยุ้งข้าวตามประสงค์ของแต่ละบ้าน จากนั้นขายเพื่อเก็บเป็นเงินทุนไว้ทำกิจกรรมต่าง ๆ อีกทั้งยังมีพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นส่วนกลางของทุกหมู่บ้าน ในตำบลหนองกุงใหญ่ ซึ่งกระจายงบประมาณให้แต่ละหมู่บ้าน ทุกหมู่บ้านยังสามารถยื่นเรื่องของบประมาณสนับสนุนผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลได้ เช่น การทำถนน การไฟฟ้า ประปา อีกทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพให้ผู้คนในตำบลอีกด้วย เช่น 1 ตำบล1 ผลิตภัณฑ์ 32
พื้นที่แหล่งน้ำ
บ้านผักหนาม หมู่ที่ 4 ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ ได้แก่ ห้วยวังไฮ และหนองสิม สำหรับทำการเกษตรและหาอาหาร เนื่องจากต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ประกอบกับไม่มีคลองชลประทานเพื่อกักเก็บน้ำ จึงทำให้ชาวบ้านในหลายครัวเรือนขุดบ่อน้ำไว้เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้สอยส่วนตัว