Aquaman 1 เป็นภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่สมัยใหม่ที่ได้รับกระแสตอบรับดีและทำกำไรให้กับผู้สร้างอย่างมหาศาลมากกว่าภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ที่ผลิตจากค่ายเดียวกัน นอกเหนือจากเหตุผลด้านโปรดักชันและนักแสดงแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่น่าจะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมากมายหลายเจเนอเรชัน คือเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ที่มีลักษณะเป็น‘สูตรสำเร็จ’ ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าเข้าถึง เข้าใจ และคาดเดาเนื้อเรื่องได้ง่าย คล้ายกับนิทานพื้นบ้านที่ผู้ฟังมักจะชอบฟังเรื่องราวที่คุ้นเคย มีเนื้อเรื่องที่มีลำดับพฤติกรรมและลักษณะพฤติกรรมของตัวละครที่คาดเดาได้
เมื่อวิเคราะห์ลักษณะสูตรสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง Aquaman 1 แล้ว อาจสังเกตได้ว่าเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้คล้ายคลึงกับโครงเรื่องของนิทานมหัศจรรย์[1] อยู่หลายส่วน กล่าวคือ โครงเรื่องเป็นการผจญภัย มีความมหัศจรรย์เหนือวิสัยมนุษย์หลายอย่าง มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับราชสำนัก ตัวเอกต้องต่อสู้กับตัวโกง กระทั่งได้รับชัยชนะในที่สุด ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สามารถวิเคราะห์เนื้อเรื่องของภาพยนตร์ Aquaman 1 ด้วย ‘ทฤษฎีโครงสร้างนิทาน’ ของวลาดิมีร์ พรอพพ์ นักคติชนวิทยาชาวรัสเซียได้
วลาดิมีร์ พรอพพ์ กล่าวถึงทฤษฎีโครงสร้างนิทานไว้ครั้งแรกไว้ในหนังสือ Morphology of the Folktale อธิบายข้อเสนอที่เขาได้มาจากการศึกษาจากนิทานมหัศจรรย์ของรัสเซีย 100 เรื่อง จนได้แนวคิดที่ว่า นิทานหนึ่งเรื่องเปรียบเสมือนประโยคหนึ่งประโยคที่ประกอบด้วย ประธาน กิริยา กรรม ซึ่งจะเรียงสิ่งใดมาก่อนก็แล้วแต่ลักษณะเฉพาะของภาษานั้นๆ นิทานก็เช่นเดียวกัน เพราะนิทานเรียงร้อยพฤติกรรม (function) ของตัวละครไปตามลําดับจนจบเรื่อง นอกจากนี้ พรอพพ์ยังพบว่านิทานแต่ละเรื่องมีลำดับพฤติกรรมที่คล้าย ๆ กัน ในขณะที่ผู้กระทำหรือตัวละครที่มาทำพฤติกรรมนั้นอาจเปลี่ยนไป เช่น ในนิทานมหัศจรรย์หลายเรื่องจะมีพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำๆกันอย่างสม่ำเสมอ พรอพพ์จะแทนค่าพฤติกรรมหลักที่สำคัญในนิทานด้วยตัวอักษร ตัวเลข และสัญลักษณ์ เช่น พฤติกรรมตัวโกง จะแทนด้วยตัวอักษร A พฤติกรรมตัวโกงได้รับข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอก จะแทนด้วยสัญลักษณ์ ζ2 พฤติกรรมความโชคร้ายหมดไปเพราะการใช้ของวิเศษ จะแทนด้วยตัวอักษรและตัวเลข K5 เป็นต้น
เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่อง Aquaman 1 เล่าถึง อาเธอร์ ลูกผสมคนหนึ่งที่ต้องพลัดพรากจากแม่ซึ่งเป็นชาวแอตแลนติสจึงต้องเติบโตมากับพ่อในฐานะมนุษย์ธรรมดา จนวันหนึ่ง ออร์ม ราชาแห่งแอตแลนติสผู้เป็นน้องชายต่างพ่อของอาเธอร์ประกาศสงครามกับชาวโลกบนบก ทำให้อาเธอร์ต้องเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปหยุดน้องชาย อาเธอร์ได้เข้าไปในอาณาจักรแอตแลนติสและได้ประลองกับออร์มแต่พ่ายแพ้ เมร่า คู่หมั้นของออร์มที่ไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามจึงช่วยเขาหนีออกมาและพาอาเธอร์ไปหาตรีศูลที่สาบสูญเพื่อนำกลับมาเอาชนะออร์ม อาเธอร์สามารถเอาชนะบททดสอบต่าง ๆ จนสามารถครอบครองตรีศูลโบราณได้ จากนั้นก็รีบกลับไปหยุดสงครามที่น้องชายจะก่อขึ้นและสามารถเอาชนะออร์มได้ด้วยพลังของตรีศูล ออร์มยอมแพ้และถูกคุมขัง อาเธอร์จึงอภิเษกกับเมร่าและขึ้นเป็นราชาแห่งแอตแลนติสแทน และสุดท้ายอาเธอร์ก็ได้กลับบ้านไปหาพ่อในที่สุด
เมื่อวิเคราะห์ตาม‘ทฤษฎีโครงสร้างนิทาน’แล้วจะพบว่า ภาพยนตร์เรื่องอควาแมนมีพฤติกรรมที่ซ้ำกับในนิทานเรื่องอื่น ๆ ที่พบได้ทั่วไปในนิทานทั่วโลก เช่น
พฤติกรรมการขาด - การขาดความรัก (a4) ของอาเธอร์ที่ขาดแม่ ไม่ต่างอะไรจาก‘สโนว์ไวท์’ที่พระมารดาสิ้นพระชนม์ หรือ‘ซินเดอเรลลา’ที่พ่อเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก
พฤติกรรมตัวเอกเดินทางออกจากบ้าน (↑) และตัวเอกกลับบ้าน (↓) ที่ในภาพยนตร์ อาเธอร์ต้องจากบ้านที่คุ้นเคยเพื่อออกไปทำภารกิจจนได้กลับบ้านในท้ายที่สุด ก็คล้ายกับนิทานเรื่อง‘จันทโครพ’ ตลอดจนตัวเอกนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ชื่อดังของไทยหลายๆ เรื่องที่เดินทางออกจากบ้านเพื่อไปเรียนวิชา ต้องต่อสู้กับอุปสรรคนานัปการจนได้กลับบ้านเมืองในตอนท้ายเรื่อง
พฤติกรรมงานยากที่ตัวเอกถูกทดสอบให้ทำ (M) และตัวเอกทำงานสำเร็จ (N) เป็นพฤติกรรมที่พบได้ในนิทานมหัศจรรย์เกือบทุกเรื่อง เช่นในนิทานเรื่อง‘สังข์ทอง’ พระสังข์ถูกทดสอบให้ตีคลีกับพระอินทร์จนชนะได้สำเร็จ ความยากลำบากนี้ก็ดูไม่แตกต่างจากอุปสรรคและปัญหาของอาเธอร์มากนัก
พฤติกรรมตัวเอกได้ของวิเศษ - ของวิเศษถูกค้นพบ (F5) และ ความโชคร้ายหมดไปเพราะการใช้ของวิเศษ (K5) ตรงกับเหตุการณ์ที่อาเธอร์ต้องออกเดินทางตามหาตรีศูลและใช้ตรีศูลเอาชนะออร์มได้สำเร็จ ก็มีความคล้ายคลึงกับในเรื่อง‘อะลาดิน’ ที่อะลาดินได้ตะเกียงวิเศษมาและใช้เอาชนะจาฟาร์
พฤติกรรมการแต่งงาน/การขึ้นครองบัลลังก์ (W**) สูตรสำเร็จของตอนจบในนิทานมหัศจรรย์แทบทุกเรื่อง อย่างอะลาดินที่ได้แต่งงานกับเจ้าหญิงจัสมินและพระสังข์ที่ได้ขึ้นครองบัลลังก์ ภาพยนตร์เรื่อง Aquaman 1 ก็ดำเนินเรื่องตามสูตรสำเร็จนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ ทฤษฎีโครงสร้างนิทานที่นำมาใช้วิเคราะภาพยนตร์นั้น ไม่สามารถวิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่อง Aquaman ได้ครบทุกแง่มุม เนื่องจากนิทานมหัศจรรย์ทั่วไปมักจะเล่าเพียงแต่เรื่องของตัวเอกเพียงอย่างเดียว เมื่อนำทฤษฎีมาใช้จึงทำให้สามารถวิเคราะห์ได้จากมุมมองของตัวละครใดตัวละครหนึ่งที่เป็นตัวละครหลักเท่านั้น เช่นที่ผู้เขียนใช้วิธีมองจากมุมของอาเธอร์ ต่างจากภาพยนตร์เรื่อง Aquaman ที่สร้างให้แต่ละตัวละครมีเรื่องราว เหตุผลของการกระทำและภูมิหลังของตนเอง ตามอย่างวิธีการสร้างภาพยนตร์สมัยใหม่
อย่างไรก็ตาม การนำทฤษฎีโครงสร้างนิทานข้างต้นมาวิเคราะห์เนื้อเรื่องของภาพยนตร์ Aquaman 1 ทำให้สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่า เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบมีลักษณะการดำเนินเรื่องที่เป็น “สูตรสำเร็จ’ และ ‘เป็นสากล’ มีรูปแบบโครงเรื่องแบบนิทานมหัศจรรย์ในเนื้อเรื่องหลักเกือบทุกเหตุการณ์
ดังนั้น นิทานพื้นบ้านหรือคติชนไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือล้าหลังเลย ในทางตรงกันข้าม ความรู้เกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านและคติชนวิทยาจะช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจถึงลักษณะร่วมของมนุษย์ ที่ถึงแม้ว่าจะมีวิถีปฏิบัติและวัฒนธรรมแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม แต่ก็มีพฤติกรรม และระบบความคิดที่คล้ายคลึงกัน ความเข้าใจในความเหมือนและต่างนี้เอง ทำให้เกิดผลงานสร้างสรรค์ต่อยอดจากนิทานพื้นบ้านไปสู่สื่อบันเทิงที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน แม้ว่าผู้ชมจะไม่รู้ถึงกระบวนการสร้างความคุ้นเคยนี้ก็ตาม
รายการอ้างอิง
ประคอง นิมมานเหมินท์. (2551). นิทานพื้นบ้านศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 3). โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ศิราพร ณ ถลาง และ พิชญาณี เชิงคีรี. (2557). ทฤษฎีโครงสร้างนิทานของวลาดิมีร์ พรอพพ์. ใน ไวยากรณ์ของนิทาน : การศึกษานิทานเชิงโครงสร้าง (พิมพ์ครั้งที่ 2, น. 17-47). โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Britannica, T. Editors of Encyclopaedia (2023, October 10). Atlantis. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/topic/Atlantis-legendary-island
Wan, J. (Director). (2018). Aquaman [Film]. Warner Bros. Entertainment Inc.
[1] ในหนังสือนิทานพื้นบ้านศึกษา ของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์ ได้บัญญัติคำว่า "นิทานมหัศจรรย์" ขึ้น ใช้ในความหมายเดียวกับคำภาษาอังกฤษว่า "Fairy tale" เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากการใช้คำว่า "เทพนิยาย" ที่ใช้อยู่เดิม เนื่องจากนิทานมหัศจรรย์หลายเรื่องไม่มีตัวละครเทวดาหรือนางฟ้า มีเพียงความมหัศจรรย์เหนือธรรมชาติอยู่ในเนื้อเรื่อง ดังนั้น ผู้เขียนจึงจะเลือกใช้คำว่า "นิทานมหัศจรรย์" ในบทความต่อจากนี้