วิวัฒนาการพระคเณศในสังคมไทย: จากสิทธิบดีสู่ครูหมอช้าง และบรมครูศิลปวิทยาการ
พระคเณศ หรือที่ชาวไทยนิยมเรียกว่า “พระพิฆเนศ” ทรงเป็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่ได้รับการเคารพบูชาอย่างแพร่หลายมากที่สุดพระองค์หนึ่ง คติการบูชาของพระองค์แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคอนุทวีปอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงเอเชียตะวันออก พระองค์ทรงได้รับความเคารพในทุกนิกายของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กระทั่งมีนิกายที่นับถือพระองค์เป็นเทพสูงสุด คือนิกายคาณปัตยะ นอกจากนี้ การบูชาพระคเณศก็ยังพบในศาสนาพุทธและศาสนาเชนด้วย
มีข้อสันนิษฐานว่าพระคเณศทรงเป็นเทพพื้นถิ่นของชาวมุนดา หรือชาวอติวาสี ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองอินเดียโบราณกลุ่มหนึ่ง คนกลุ่มนี้พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก และเป็นกลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับช้างป่า โดยมีการบูชาช้างเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์และเป็นกลุ่มคนที่จับช้างป่ามาเลี้ยงเป็นช้างบ้าน พระคเณศจึงมีฐานะเป็นเทพของคนกลุ่มนี้ ครั้นศาสนาพราหมณ์ของชาวอารยันเข้ามาสู่อนุทวีปอินเดีย ก็เกิดการผนวกเทพท้องถิ่นให้เข้ามาเป็นเทพในศาสนาตน พระคเณศก็เช่นกัน พระองค์ถูกรับเข้ามาในศาสนาพราหมณ์ ในฐานะที่ทรงเป็นพระโอรสของพระอิศวรและพระปารวตี พระองค์ทรงเป็นเทพแห่งอุปสรรค รวมถึงเป็นผู้อำนวยความสำเร็จด้วยเช่นกัน ในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พระคเณศทรงเป็นปฐมบูชา การบูชาเทพองค์ใดในคติพราหมณ์-ฮินดู ก็ต้องเริ่มจากการบูชาพระคเณศก่อนเสมอ หาไม่แล้วพิธีบูชานั้นย่อมไร้ผล เพราะพระคเณศทรงเป็นเทพพื้นเมืองอินเดียชั้นเก่า มีมาก่อนคณะเทพอารยันและเทพเจ้าอื่นที่มาในสมัยหลัง รวมถึงพระองค์ก็เป็นผู้ประทานความสำเร็จ พิธีกรรมทั้งปวงจึงไม่อาจขาดซึ่งพระคเณศ
คติการนับถือพระคเณศรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่งภายใต้ร่มเงาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เมื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเผยแผ่ไปถึงที่ใด คติการนับถือพระคเณศก็จาริกไปถึงที่นั่น ไทยเป็นหนึ่งในดินแดนที่รับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมาจากอินเดียผ่านเส้นทางการค้าที่มีมาแต่โบราณ คติการนับถือพระคเณศจึงค่อยๆ เติบโตในไทย นับตั้งแต่สมัยก่อนกรุงสุโขทัย กระนั้น คติพระคเณศที่ลงหลักปักฐานในไทยก็เป็นคติที่แตกต่างไปจากอินเดียต้นฉบับ กล่าวคือคนไทยพื้นถิ่นนับถือพระองค์ในฐานะครูคชกรรม อันเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการจับ การขี่ ไปจนถึงวิชาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับช้างทั้งปวง โดยปรากฏหลักฐานในคตินี้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เรื่อยไปจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระคเณศก็ยังปรากฏอยู่ในสมุดภาพพระไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นสมุดภาพรวมรูปเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยในสมุดภาพดังกล่าว พระคเณศทรงใช้พระนามว่า “พระโกญจนาเนศวร” ซึ่งเป็นเทพที่ให้กำเนิดช้างตระกูลต่างๆ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ ได้อธิบายว่าพระนามนี้มีที่มาจากคำสันสกฤต คำว่า เกราญจนาเนศวร (เกราญจน+อานน+อีศวร) แปลว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือเขาเกราญจะ ซึ่งหมายถึงพระขันทกุมาร โอรสอีกองค์หนึ่งของพระอิศวร ซึ่งเป็นเทพแห่งสงคราม ผู้ปราบเหล่าอสูรแห่งเขาเกราญจะ แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจของคนไทยในอดีตที่มองว่าเทพทั้งสองเป็นเทพองค์เดียวกัน นอกจากนี้ก็ยังมีการเรียกพระองค์ภายใต้พระนามว่าพระพิเนก และพระพินาย ซึ่งคติไทยถือว่าเป็นเทพคนละองค์ กระนั้นรากศัพท์ของคำทั้งสอง ก็มีที่มาจากคำสันสกฤต คำว่า วิฆเนศฺ และวินายก ซึ่งคำทั้งสองนี้ล้วนเป็นหนึ่งในพระนามของพระคเณศทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ศาสตร์คชกรรมนับว่าเป็นองค์ความรู้สำคัญในสังคมไทยที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับช้าง โดยปรากฏพราหมณ์ทั้ง 3 ประเภทในราชสำนัก ได้แก่ พราหมณ์โหรดาจารย์ มีหน้าที่ในการประกอบพระราชพิธีต่างๆ พราหมณ์ปุโรหิต มีหน้าที่เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี และพราหมณ์พฤฒิบาศ อันเป็นพราหมณ์ผู้ชำนาญในศาสตร์เกี่ยวกับช้าง คนกลุ่มนี้นับถือพระคเณศเป็นครูช้าง และเรียกขานพระองค์ภายใต้พระนาม พระเทพกรรม์ หรือพระเทวกรรม์ ซึ่งเป็นคำที่ไม่ปรากฏในคติฮินดูดั้งเดิม และมีความเป็นไปได้ว่าเกิดการปะปนกับคำว่า ปะกำ ที่หมายถึงผีครูปะกำ อันเป็นผีครูวิชาช้างที่เหล่าหมอช้างเคารพบูชา และพราหมณ์พฤฒิบาศก็มีที่มาจากหมอช้างพื้นเมืองที่บูชาผีครูปะกำ ครั้นคนเหล่านี้เข้าสู่ระบบราชสำนัก ก็เกิดการ “บวช” ให้กลายเป็นพราหมณ์ และรับเอาเทพจากศาสนาพราหมณ์อย่างพระคเณศที่มีพระพักตร์เป็นช้าง มาเป็นครูหมอช้างที่สำคัญไม่ต่างจากผีครูปะกำพื้นถิ่น แม้แต่พระนาม “เทพกรรม์” ก็มีรากมาจากคำเรียกผีครูหมอช้างเดิม ซึ่งคติการนับถือพระคเณศในฐานะครูคชกรรมนั้นไม่ปรากฏในคติฮินดูดั้งเดิม และอาจกล่าวได้ว่าเป็นคติที่พัฒนาขึ้นภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปนี้
พระคเณศทรงมีบทบาทเป็นครูหมอช้างเรื่อยมา กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 เหล่าชนชั้นนำต่างให้ความสนใจในการศึกษาว่าด้วยภารตวิทยา ในฐานะที่เป็น “ครู” ของอารยธรรมไทย โดยเฉพาะรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในองค์ความรู้ด้านนี้เป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนถึงทรงมีพระราชศรัทธาในพระคเณศ งานพระราชนิพนธ์ของพระองค์หลายชิ้น ล้วนกล่าวถึงพระคเณศในฐานะของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ประทานความรู้และความสำเร็จ รวมถึงทรงยกย่องพระคเณศให้เป็นบรมครูศิลปวิทยาการ แทนที่พระสรัสวตี เทพนารีแห่งอักษรศาสตร์ ศิลปะ และการละคร แม้พระสรัสวตีจะมีบทบาทค่อนข้างน้อยในสังคมไทย แต่บทไหว้ครูละครสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ก็ยังปรากฏคำไหว้พระสรัสวตี หรือแม้แต่ในหนังสือจินดามณี อันเป็นตำราด้านอักษรศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ปรากฏบทไหว้พระสรัสวตี สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของพระสรัสวตีที่มีมาก่อนพระคเณศ ในฐานะที่ทรงเป็นคุรุเทวีแห่งศิลปวิทยาการ กระนั้น คติการนับถือพระสรัสวตีในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 ก็เริ่มเสื่อมสูญไปจากสังคมไทยมากแล้ว รวมถึงรัชกาลที่ 6 ก็ทรงถ่ายโอนบทบาทด้านอักษรศาสตร์และศิลปวิทยาการอันเป็นของพระสรัสวตีที่มีมาแต่เดิม ให้กลายเป็นบทบาทของพระคเณศแทน ครั้นรัชกาลที่ 6 ทรงก่อตั้งวรรณคดีสโมสรในปีพ.ศ. 2457 ก็ทรงอัญเชิญพระคเณศเป็นตราสัญลักษณ์ ซึ่งต่อมาแม้วรรณคดีสโมสรจะยุติบทบาทลง แต่กรมศิลปากรก็ได้นำดวงตราพระคเณศมาเป็นตราประจำกรม พระคเณศจึงกลายเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการ และการศึกษาของไทยอย่างเต็มรูปแบบ
ด้วยวัฒนธรรมอันสืบทอดจากคติพระราชนิยมในรัชกาลที่ 6 เทพเจ้าแห่งสติปัญญา ความรู้ และศิลปวิทยาการทั้งปวงจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทจากพระสรัสวตีมาเป็นพระคเณศ และเป็นคตินิยมแพร่หลายสืบมาจนถึงปัจจุบัน แต่คติการนับถือพระสรัสวตีในฐานะเทวีแห่งศิลปศาสตร์ก็มิได้สูญหายและยังมีตกทอดมาอยู่บ้าง เช่น รางวัลตุ๊กตาทองหรือรางวัลพระสุรัสวตี อันเป็นรางวัลสำคัญในวงการภาพยนตร์ไทย หรือพระสรัสวตีในฐานะสัญลักษณ์ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น กระนั้นก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าคติพระราชนิยมในรัชกาลที่ 6 ก็กลายเป็นกระแสความเชื่อที่ทรงอิทธิพลในสังคมไทยเป็นอย่างสูง มากยิ่งกว่าคติครูหมอช้างที่เริ่มสูญหายไปตามกาลเวลา และก็มีพัฒนาการที่แตกแขนงไปจากคติฮินดูดั้งเดิมอย่างชัดเจน
แม้คติการนับถือพระคเณศที่ปรากฏในสังคมไทย จะแตกต่างจากคติดั้งเดิมของอินเดียอยู่มาก แต่วัฒนธรรมย่อมมีความลื่นไหลในรูปแบบของตนเอง มีความเปลี่ยนแปลงและมีการปรับปรุงให้เข้ากับสังคมและสภาพแวดล้อม รวมถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง กรณีการปรับเปลี่ยนของพระคเณศ จึงถือเป็นกรณีศึกษาทางคติชนวิทยา ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงในคติความเชื่อที่น่าสนใจ เนื่องจากความลื่นไหลของวัฒนธรรมล้วนไร้ซึ่งความถูกผิด ตลอดจนถึงยังคงมีความงดงามและพัฒนาการเฉพาะที่น่าสนใจ ซึ่งแต่ละพื้นที่ล้วนนำมาปรับใช้ให้เหมาะแก่ท้องถิ่นของตน กรณีศึกษาเรื่องพระคเณศในสังคมไทยก็เป็นเช่นเดียวกัน