ความเท่าเทียมทางสังคมของคนชาติพันธุ์ “แขกมุสลิม” ในสังคมชาตินิยมแบบไทย
ของ
วริศ ดาราฉาย

บทนำ
“ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” วลีคุ้นหูข้างต้นนี้ มาจากท่อนแรกของเพลงชาติไทย[1] แบบคำร้องปัจจุบันที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หากร้องเพลงท่อนดังกล่าวนี้ให้คนไทยฟัง ทุกคนย่อมสามารถร้องต่อจนจบบทเพลงได้อย่างชำนาญและไม่ติดขัด เพราะหากติดขัดแล้ว อาจจะเป็นที่น่าสงสัยของคนไทยบางกลุ่มได้ว่า คนที่ร้องเพลงชาติไทยไม่ได้นี้ไม่น่าจะเป็นคนไทย ดังจะเห็นได้จากสื่อบันเทิงคดีต่าง ๆ ที่มักจะกำหนดตัวละครที่เป็นต่างชาติ หรือที่รุนแรงกว่าคือ “ต่างด้าว” ให้เป็นบุคคลที่ร้องเพลงชาติไม่ได้ หรือร้องได้แต่ไม่ร้องชัด ตัวละครดังกล่าวมักจะถูกทำให้เป็นที่ขบขันสำหรับตัวละครอื่น ๆ ในเรื่อง อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเชื้อชาติที่ถูกทำให้แปลกแยกและด้อยค่าให้เป็นเพียงตัวละครที่สร้างเสียงหัวเราะในเชิงเย้ยหยันเท่านั้น
“แขกมุสลิมในสังคมไทย” หรือบ้างก็เรียก “ชาวไทยเชื้อสายแขกมุสลิม” ไม่เพียงเป็น “ต่างด้าว” ในสังคมไทย ทว่ายังถูกด้วยค่าให้เป็นเพียง “คนนอก” ในสังคม ทั้งที่หากพิจารณาความเป็นไทยที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ “เชื้อชาติไทย” แล้ว จะพบว่าความเป็นไทยหลาย ๆ ประการก็ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของชาวแขกมุสลิมอยู่มาก ทั้งในด้านอาหาร การแต่งกาย ศิลปกรรม หรือแม้กระทั่งภาษา อาจกล่าวได้เลยว่า ส่วนหนึ่งของความเป็นไทยซึ่งคน (ที่เชื่อว่าตนมี) ชาติพันธุ์เป็นไทยแท้ ๆ หวงแหนเอาไว้กับตนนั้นก็มีรากฐานมาจากชาวแขกมุสลิม ทว่าชาวแขกมุสลิมกลับถูกนับว่าเป็น “คนอื่น” ในสังคมไทย เป็นไปได้หรือไม่ว่ามีปัจจัยบางประการที่ทำให้คนชาติพันธุ์ไทยมองคนชาติพันธุ์ตนเองสูงส่งกว่าคนชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่มักเป็นคนส่วนน้อยในสังคม และมองคนชาติพันธุ์อื่น ๆ เป็นเพียงคนนอกหรือผู้อาศัยเท่านั้น ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเป็นไปของสังคมไทยเหล่านี้ อาจนำไปสู่ความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่มีแนวโน้มแตกแยกระหว่างคนชาติพันธุ์ไทยและชาติพันธุ์แขกมุสลิม ซึ่งความแตกต่างทางอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ระหว่างคนทั้งสองกลุ่มนี้ ไม่ได้นำมาซึ่งเสียงหัวเราะของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเช่นที่ปรากฏในสื่อบันเทิงคดี ทว่าจะทวีความรุนแรงจนอาจนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมไทยได้ในที่สุด
การศึกษาไทย : แผ้วถางสู่สังคมพหุวัฒนธรรมหรือพอกพูนความเป็นชาตินิยมในสังคม ?
การที่สังคมจะเป็นไปในทิศทางใด ๆ ได้นั้น ย่อมเกิดจากคนในสังคมซึ่งเป็นผลิตผลของสถาบันทางสังคมนั้น ๆ เป็นสำคัญ “สถาบันทางการศึกษา” หรือโรงเรียน นับได้ว่าเป็นสถาบันทางสังคมระดับพื้นฐานที่มีความสำคัญในการอบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชน ซึ่งต่อมาจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ให้มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ดี สถาบันการศึกษาของไทยในหลายยุคหลายสมัย ไม่เพียงทำหน้าที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ ทว่ากลับปลูกฝังชุดความคิดที่จะนำไปสู่การมีทัศนคติต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวตามขนบแนวทางที่ผู้ต้องการปลูกฝังต้องการอย่างมีนัยยะสำคัญ หนึ่งในนั้นคือ การปลูกฝังความเป็นชาตินิยม ที่จะนำไปสู่การมีทัศนคติของคนไทยที่มีต่อการเป็นคนชาติพันธุ์ไทยและต่อคนชาติพันธุ์อื่นตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน
ชาตินิยม ถูกใช้ในฐานะเครื่องมือของชนชั้นปกครองไทยตั้งแต่สมัยจักรวรรดินิยม ในขณะนั้นประเทศไทยหรือประเทศสยามเป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ ไม่ได้เป็นมหาอำนาจเทียบเท่าประเทศจักรวรรดิอื่น ๆ ที่กำลังแสวงหาดินแดนอาณานิคม ไทยหรือสยามในขณะนั้นจึงตกอยู่สภาวะของการเป็นผู้ถูกล่า ผู้ปกครองไทยหรือสยามในขณะนั้น นอกจากจะต้องพัฒนาความรู้และวิทยาการของบ้านเมืองให้เท่าทันโลกตะวันตก และเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศผ่านการใช้กำลังทหารแล้ว ยังจำเป็นต้องอาศัยความเป็นปึกแผ่นของคนในชาติผ่านการปลูกฝังลัทธิชาตินิยมอีกด้วย อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงแล้ว สังคมไทยหรือสยามในยุคก่อนหน้า คนไทยหรือคนสยามก็มักถือว่าชาติพันธุ์ของตนสูงส่งกว่าชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่เข้ามาอาศัยในแผ่นดินของไทย รวมถึงชาติพันธุ์อื่นที่เข้ามาค้าขาย หรือติดต่อสัมพันธ์ทางการทูต กล่าวคือ คนชาติพันธุ์ไทยมีพื้นฐานความคิดที่ให้คุณค่ากับชาติและเชื้อชาติของตนว่ามีความสูงส่งเหนือกว่ากลุ่มชนอื่น ๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การที่ผู้ปกครองรัฐในขณะนั้นตัดสินใจใช้ชาตินิยมเป็นเครื่องมือสร้างความเป็นปึกแผ่นของคนในชาติจึงได้ผลดี และผู้ปกครองรัฐในสมัยต่อ ๆ มา ก็มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการใช้งานเครื่องมือดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมุ่งเน้นไปที่การศึกษาของเยาวชนในชาติเป็นสำคัญ ดังที่เด่นพงษ์ แสนคำ (2561, หน้า 148) ซึ่งได้ศึกษาการสร้างแนวคิดชาตินิยมผ่านทางการศึกษา วัฒนธรรม และงานนิพนธ์ พบว่า รัฐไทยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการสร้างพลเมืองดีผ่านการสร้างแนวคิดชาตินิยม และปลูกฝังแนวคิดดังกล่าวให้เยาวชนในชาติ การที่พลเมืองยึดมั่นในแนวคิดชาตินิยมเหมือนกันก็จะส่งผลให้การปกครองของรัฐเป็นไปได้โดยง่าย “พลเมืองไทยที่ดี” จึงเป็นผลผลิตของแนวคิดชาตินิยมที่รัฐไทยในขณะนั้นต้องการ
ภายใต้กรอบความคิดแบบชาตินิยมที่ได้รับการปลูกฝังในผ่านระบบการศึกษาไทยมาเป็นระยะเวลานาน คนไทยบางส่วนเชื่อว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้าง พร้อมเปิดรับความแตกต่างและความหลากหลายเสมอ ระบบการศึกษาของไทยดังที่กล่าวมาก็มุ่งเน้นให้เยาวชนเป็น “พลเมืองไทยที่ดี” ในอุดมคติ ตามขนบที่สังคมไทยกำหนดไว้ แม้แต่ในประเด็นเรื่องความแตกต่างทางชาติพันธุ์ก็ตาม สังคมไทยในทัศนะของคนเหล่านี้ถือว่าเปิดกว้าง ยอมรับคนต่างชาติพันธุ์ ไม่แบ่งแยก ดังจะเห็นได้จากส่วนหนึ่งของแบบเรียน ชุด นิทานร้อยบรรทัด ซึ่งกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุให้เป็นหนังสือสอนอ่านวิชาภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นประถม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 ความว่า “มีเด็กเจ๊กเด็กแขกแปลกแปลกชาติ ล้วนรักกันราวกับญาติไมตรีเพ่ง การชิงชังเป็นความชั่วต่างกลัวเกรง ยึดถือเพลงปลูกรักปักจิตใจ” (หลวงสำเร็จวรรณกิจ, 2518, หน้า 24)
จะเห็นได้ว่า แบบเรียนดังกล่าวมุ่งสั่งสอนให้เยาวชนไม่ชิงชังคนต่างชาติพันธุ์ ส่งเสริมให้รักและมีไมตรีที่ดีต่อกัน ภายใต้ความคิดที่ว่าสังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ และสังคมไทยก็ให้ความสำคัญกับความหลากหลายเหล่านั้นด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อหันกลับมาพิเคราะห์สภาพสังคมไทยจริง ๆ จะพบว่า คนชาติพันธุ์ไม่ได้รับการยอมรับหรือมีสิทธิเท่าเทียมกันกับคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติพันธุ์แขกมุสลิมที่ถูกเลือกปฏิบัติและมีสิทธิทางสังคมในสังคมไทยน้อยกว่าชาติพันธุ์อื่น ๆ ดังจะได้กล่าวต่อไป
ความแตกต่างทางความเชื่อ : อุปสรรคที่เป็นฐานรากแห่งความ “แปลกแยก” และ “เป็นอื่น”
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นพบว่า “คนไทย” ผูกพันกับคนชาติพันธุ์ “แขกมุสลิม” มาเป็นระยะเวลานานนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ (2556, หน้า 80-82) ได้อธิบายการเข้ามาของแขกมุสลิมในไทยจากการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า มีแขกมุสลิมชาวอิหร่าน เดินเรือเข้ามาถึงดินแดนแถบนี้ราวพุทธศตวรรษที่ 6 และในระยะต่อมาก็นิยมเดินทางมาเพื่อค้าขายมากขึ้น จนกระทั่งในสมัยอยุธยา ก็ปรากฎว่ามีชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่อยู่บริเวณทิศใต้ นอกเกาะเมืองอยุธยา หลังจากนั้นแขกมุสลิมก็มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ของไทยเสมอมา
การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของแขกมุสลิมจากที่ต่าง ๆ กัน ทำให้ในปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพลเมืองเชื้อสายแขกมุสลิมจากหลากหลายแหล่งที่มา ทั้งจากอิหร่าน คาบสมุทรอาหรับ อินเดีย ชวา มลายู และอื่น ๆ กระจายตัวไปตามบริเวณต่าง ๆ แม้จะมาจากต่างที่มา แต่เราก็นับว่าคนเหล่านี้เป็นแขกมุสลิมโดยอาศัยเกณฑ์ด้านเชื้อชาติและศาสนา โดยมุ่งเน้นที่ศาสนาเป็นสำคัญ กล่าวคือ จำเป็นต้องนับถือศาสนาอิสลามเท่านั้นจึงจะเป็นแขกมุสลิมได้ และด้วยศาสนานี้เอง ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ชาติพันธุ์แขกมุสลิมแตกต่างจากชาติพันธุ์อื่น ๆ ในประเทศไทย รวมทั้งคนไทยเอง ข้อแตกต่างด้านความเชื่อทางศาสนานี้เองส่งผลให้แขกมุสลิมได้รับการปฏิบัติจากชาวไทยไม่ดีนักเมื่อเทียบกับคนชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ยังพอมีลักษณะร่วมบางประการกับชาวไทย เช่น ชาติพันธุ์ลาว ที่ถึงแม้จะถูกชาวไทยมองว่าด้อยกว่า แต่เนื่องจากความคล้ายคลึงด้านภาษา และการนับถือพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกันก็ช่วยผ่อนความรุนแรงลงได้มากแม้จะไม่ใช่ทั้งหมดก็ตาม
ความแตกต่างทางความเชื่อนี้เองที่ส่งผลให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกไปจากความเป็นคนไทย มากกว่าชาติพันธุ์อื่น ๆ ประกอบกับพื้นฐานความเป็นชาตินิยมของคนไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มลดตามแต่ละยุคสมัยส่งผลให้การเป็นคนชาติพันธุ์แขกมุสลิมในสังคมไทยนั้นลำบากและไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างที่สมควรได้รับนัก ทั้งยังถูกจับตามองจากรัฐอีกด้วย ดังเช่นที่คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (2470, หน้า 97-98) ได้บันทึกเหตุการณ์กรณีที่รัฐไทยรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีประกาศ “ห้ามมิให้ไทยและมอญเข้ารีตนับถือสาสนามหะหมัด[2]” ความว่า
ด้วยพวกเข้ารีดแลพวกที่ถือสาสนามหะหมัด เปนคนที่อยู่นอกพระพุทธสาสนา เปนคนที่ไม่มีกฎหมายและไม่ประพฤติตามพระพุทธวจนะ ถ้าพวกไทยซึ่งเปนคนพื้นเมืองนี้ตั้งแต่กำเนิดไม่นับถือและไม่ประพฤติตามพระพุทธสาสนาถึงกับลืมชาติกำเนิดของตัว ถ้าไทยไปประพฤติและปฏิบัติตามลัทธิของพวกเข้ารีดและพวกมหะหมัด ก็จะตกอยู่ในฐานความผิดอย่างร้ายกาจ เพราะฉนั้นเปนอันเห็นได้เที่ยงแท้ว่า ถ้าคนจำพวกนี้ตายไป ก็ต้องตกนรกอเวจี ... ให้เจ้าพนักงารจับกุมคนไทยและมอญที่ไปเข้าพิธีเข้ารีดและมหะหมัด ดังว่ามานี้ ส่งให้ผู้พิพากษาชำระและให้ผู้พิพากษาวางโทษถึงประหารชีวิต
จะเห็นได้ว่า แม้ว่าชาติพันธุ์แขกมุสลิมจะปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และมีอิทธิพลหลายประการต่อวัฒนธรรมและความเป็นไทย ทว่ากลับถูกจัดให้เป็น “คนนอก” หรือ “คนอื่น” สำหรับคนไทยอยู่ดี แม้จะปรากฎว่าไทยกับประเทศของคนชาติพันธุ์แขกมุสลิมมีความสัมพันธ์กันมานานแล้วก็ตาม ความแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์ในประเด็นทางด้านความเชื่อนี้เองที่ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติและเกิดข้อจำกัดในการใช้ชีวิตของชาติพันธุ์กลุ่มที่น้อยกว่า ดังกรณีตัวอย่างที่ยกมานั้น แม้ว่ารัฐไทยจะเปิดกว้างเรื่องการนับถือศาสนาของชาวต่างชาติ แต่สำหรับชาวไทยด้วยกันเองนั้น การเปลี่ยนไปมีความเชื่อตามความศรัทธาถือเป็นสิ่งต้องห้าม จากกรณีตัวอย่างนี้ ชี้ให้เห็นทัศนะของผู้ปกครองรัฐไทยในสมัยดังกล่าวที่มองว่าอิสลามซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญยิ่งของคนชาติพันธุ์แขกมุสลิมนั้นด้อยกว่าพระพุทธศาสนาที่ชาวไทยนับถือ ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นลักษณะของชาตินิยมแบบไทยอย่างหนึ่งคือ ชาตินิยมแบบไทยนั้น ไม่เพียงมุ่งเน้นให้เกิดความรักและหวงแหนในชาติกำเนิดไทย ความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติไทย และความเป็นไทยในมิติด้านภาษาวัฒนธรรม ประเพณีเท่านั้น แต่ยังผูกโยงการนับถือศาสนาพุทธกับความเป็นชาติพันธุ์ไทยอีกด้วย ดังนั้น ภาพการเป็นคนไทยที่ดีตามรูปแบบสังคมชาตินิยมสำหรับผู้ปกครองรัฐไทยในหลาย ๆ ยุคสมัยคือ คนไทยไม่เพียงต้องรักและหวงแหนในชาติไทยและความเป็นชาติไทย แต่ต้องนับถือศาสนาพุทธด้วย ศาสนาพุทธจึงถือเป็นเงื่อนไขและลักษณะเด่นของความเป็นชาตินิยมแบบไทยมาเป็นระยะเวลานาน เมื่อนำมาพิจารณาในประเด็นที่ว่า เพราะเหตุใด แขกมุสลิมจึงถูกเลือกปฏิบัติและมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตและดำรงอัตลักษณ์ของตนในสังคมไทยมากกว่าชาติพันธุ์อื่น ๆ ก็จะทำให้เราเข้าใจได้ว่า ศาสนาเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในฐานะปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างคนชาติพันธุ์กับคนไทย ในรูปแบบที่ว่า หากคนชาติพันธุ์นั้นโดยส่วนมากนับถือศาสนาเดียวกันกับคนไทย คือ ศาสนาพุทธ คนไทยก็จะมีแนวโน้มที่จะยอมรับและสามารถกลมกลืนกันกับคนชาติพันธุ์นั้น ๆ ได้ เช่น ชาติพันธุ์ลาว มอญ เขมร หรือแม้กระทั่งจีน ในขณะที่แขกมุสลิมนับถือศาสนาอื่น สังคมชาตินิยมแบบไทยดังกล่าวจึงมีแนวโน้มไม่ยอมรับและไม่อาจกลมกลืนกันได้” อย่างไรก็ดี แขกมุสลิมหลาย ๆ กลุ่มเองก็ไม่ได้ต้องการละทิ้งอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ของตนด้วย แขกมุสลิมส่วนมากยังคงยึดถือและธำรงรักษาแนวทาง ความเชื่อ วัฒนธรรม อันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มของตนเอาไว้ภายใต้การถูกเลือกปฏิบัติและข้อจำกัดทางสังคมตลอดมา
แม้ว่าในสังคมปัจจุบัน ความเป็นชาตินิยมมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังคงมีอิทธิพลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อสังคมไทยยุคปัจจุบัน สาเหตุสำคัญที่ทำให้ความคิดชาตินิยมลดลงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพลเมืองรุ่นใหม่ ๆ เริ่มมีความตระหนักและตื่นรู้ทางการเมืองมากขึ้น ชาตินิยมที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความสะดวกแก่ผู้ปกครองในสมัยก่อน ๆ จึงไม่ได้ผลอย่างที่เคยเป็นนักในยุคสมัยปัจจุบัน แม้ว่าจะมีกลุ่มอนุรักษ์นิยมบางกลุ่มที่ยังคงยึดมั่นในความเป็นชาตินิยมอย่างหนักแน่น พยายามให้สังคมไทยปัจจุบันกลับมาเป็นสังคมชาตินิยมแบบไทยอย่างเข้มข้นเช่นในอดีตก็ตาม อย่างไรก็ดี แม้ความเป็นชาตินิยมดูจะลดความรุนแรงลง ทว่าชาติพันธุ์แขกมุสลิมก็ยังคงไม่ได้รับการยอมรับในสังคมมากนัก กลับกัน ในช่วงระยะ 50 ปีที่ผ่านมานี้ มีแนวโน้มว่าความเกลียดชังชาวแขกมุสลิมจะเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตด้วยซ้ำ ทั้งนี้ เกิดจากประเด็นปัญหาเรื่องศาสนาและความไม่ลงรอยระหว่างกลุ่มความเชื่อที่แตกต่าง ตัวอย่างที่สำคัญ คือ ปัญหาความรุนแรงที่บริเวณชายแดนภาคใต้ ที่นำไปสู่ภาวะหวาดกลัวอิสลามในที่สุด นอกจากนี้ยังมีสื่อต่าง ๆ ที่รายงานเรื่องราวความรุนแรงที่บริเวณดังกล่าวรวมถึงรัฐที่พยายามสร้างความเป็น “ศัตรู” ให้กับชาวชาติพันธุ์แขกมุสลิม โดยเฉพาะชาติพันธุ์แขกมลายูมุสลิมบริเวณชายแดนใต้
“ปัญหาพื้นฐานของความขัดแย้งและภาวะหวาดกลัวอิสลามคือความเข้าใจแบบเหมารวม เช่น การเหมารวมว่ามุสลิมทุกคนมีความเหมือนกันและนิยมความรุนแรงเหมือนกันดังนั้นมุสลิมจึงน่ากลัวและเป็นอันตราย” (เอกรินทร์ ต่วนศิริ และอันวาร์ กอมะ, 2562, หน้า 24) ภาวะหวาดกลัวอิสลามถือเป็นปัจจัยใหม่ที่เข้ามารับช่วงต่อจากแนวความคิดชาตินิยม นำไปสู่การเหมารวมว่ามุสลิมทุกคนเป็นอันตราย ภาวะหวาดกลัวอิสลามนี้ เกิดจากปัจจัยทั้งจากภายนอกและจากภายใน กล่าวคือ ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ และในภาคอื่น ๆ ประปราย รวมทั้งท่าทีของรัฐที่รับมือกับปัญหาดังกล่าวเป็นปัจจัยภายใน ในขณะที่ ปัจจัยภายนอก คือ อิทธิพลจากแนวคิดและสื่อตะวันตก รวมทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างศาสนาในต่างประเทศ
สำหรับประเทศไทย ปัญหาความไม่ลงรอยกันระหว่างแขกมุสลิมและคนไทยมักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่แขกมุสลิมเป็นคนกลุ่มน้อย และคนไทยที่มีแนวคิดชาตินิยมเป็นพื้นฐานและนับถือศาสนาพุทธเป็นคนส่วนใหญ่ ปัญหาดังกล่าวมักเริ่มต้นจากการที่แขกมุสลิมต้องการพื้นที่ในการแสดงอัตลักษณ์ของตน เช่น ใช้สิทธิ์แต่งกายตามหลักการของศาสนา หรือก่อสร้างศาสนสถานสำหรับประกอบพิธีกรรม ทว่าคนไทยที่มีแนวคิดชาตินิยมเหล่านี้มักไม่เห็นด้วย และต่อต้านอย่างรุนแรง จนอาจนำไปสู่การแตกความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา ซึ่งจะมีผลกระทบรุนแรงและเป็นวงกว้างมากกว่าในอดีตที่เป็นเป็นเพียงการจำกัดสิทธิ์และเสรีภาพของคนชาติพันธุ์เพียงอย่างเดียว ปัญหาความเกลียดชังและภาวะหวาดกลัวอิสลามนี้ จึงนับเป็นปัญหาและปัจจัยใหม่ที่สำคัญ ส่งผลทางตรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ของแขกมุสลิมกับคนไทยในช่วงเวลาปัจจุบัน
การกลายเป็นไทย : การต่อสู้ทางคุณค่าระหว่างการรักษาอัตลักษณ์กับการถูกยอมรับจากสังคม
ในสังคมที่ต้องตกเป็นพลเมืองชั้นรองที่ถูกจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรมี และต้องแบกรับความกดดันและความรู้สึกเป็น “คนนอก” ซ้ำในบางครั้งยังถูกเกลียดชังเพียงเพราะต้องการดำรงอัตลักษณ์ของตนเอง แม้ว่าแขกมุสลิมจะมีความโดดเด่นด้านการดำรงรักษาอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และรูปแบบการใช้ชีวิตไว้ได้มากกว่าชาติพันธุ์อื่น ซึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของศาสนาอิสลามที่มีขนบการดำเนินชีวิตที่เป็นรูปแบบเฉพาะ รวมถึงหลักปฏิบัติในฐานะมุสลิมต่าง ๆ ที่ไม่เอื้อให้เกิดการผสานกับการผสมผสานกับวัฒนธรรมนอกศาสนา อย่างไรก็ตาม คนชาติพันธุ์แขกมุสลิมไม่น้อยเลือกที่จะละทิ้งอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ตนเอง และปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตจนกลมกลืนและกลายเป็นคนไทยไปในที่สุด
การกลายเป็นคนไทยของชาติพันธุ์แขกมุสลิมผูกพันกับความเชื่อทางศาสนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชาวแขกมุสลิมบางคนเปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยนับถือ ด้วยปัจจัยต่าง ๆ กัน แต่ปรากฎเหตุการณ์การกลายเป็นไทยของคนชาติพันธุ์แขกมุสลิมโดยการเปลี่ยนศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีความน่าสนใจเหตุการณ์หนึ่ง นั่นก็คือเหตุการณ์การเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธของเจ้าพระยาเพ็ชร์พิไชย (ใจ) กล่าวคือ
ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปถวายนมัสการพระพุทธบาท พระยาเพ็ชรพิชัย (ใจ) จึงได้กราบบังคมทูลขอตามเสด็จพระราชดำเนินด้วย พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชโองการตรัสประพาสว่า พระยาเพ็ชรพิชัยเป็นแขกไปพระบาทไม่ได้ ถ้าทิ้งเพศแขกมารับรีตไทยจึงจะให้ไปด้วย ฝ่ายพระยาเพ็ชรพิชัย (ใจ) จึงรับพระราชโองการใส่เกล้าฯ แล้วกราบทูลพระกรุณาว่าข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับพระราชทานเป็นไทยตามกระแสพระราชโองการดำรัสสั่ง ขณะนั้นจึงทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระยาเพ็ชรพิชัยตามเสด็จพระราชดำเนินได้ ครั้นเสด็จพระราชดำเนินประทับที่พระพุทธบาทแล้ว พระยาเพ็ชรพิชัย (ใจ) ก็สมาทานศีลเฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ปฏิญาณตนว่าว่าจะรับปรนนิบัติพระไตรสรณาคมณ์ และประพฤติตามพระบรมพุทโธวาท(พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน), พระยาวรเทพ (เถื่อน), เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ), และ พระพรหมาธิบาล (จอน), 2513)
หลังจากเหตุการณ์นี้ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงแต่งตั้งให้พระยาเพ็ชรพิชัย (ใจ) ขึ้นเป็นเจ้าพระยา และได้พระราชทานตำแหน่งให้สูงขึ้นด้วย
จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธของพระยาเพ็ชรพิชัย (ใจ) ทำให้ได้รับการยอมรับจากสังคม กล่าวคือ หากคนชาติพันธุ์ผ่านกระบวนการกลายเป็นคนไทยแล้ว ก็มักจะได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น นี่ไม่เพียงชี้ให้เห็นว่า สังคมชาตินิยมไทยให้ความสำคัญกับเชื้อชาติและศาสนาเป็นอย่างยิ่ง แต่กรณีที่ยกมากล่าวนี้ยังชี้ให้เห็นในทางกลับกันด้วยว่า คนชาติพันธุ์ในไทยบางส่วนเองก็มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงและสามารถยอมรับการกลายเป็นคนไทยได้ แม้ว่ากระบวนการกลายเป็นคนไทยนั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเดิมที่เคยมีมาและความเชื่อดั้งเดิมที่เคยยึดถือ รวมถึงละทิ้งอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของตนไปด้วย เพื่อแลกกับความก้าวหน้าในการทำงาน คุณภาพชีวิตและสิทธิเสรีภาพที่จะเพิ่มมากขึ้นในฐานะคนไทยคนหนึ่ง การเปลี่ยนศาสนาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้กระบวนการกลายเป็นคนไทยของคนชาติพันธุ์ จึงถือเป็นเครื่องย้ำเตือนได้ว่า สังคมไทยตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น มิได้เป็นสังคมแห่งความเท่าเทียมระหว่างชาติพันธุ์ และไม่ได้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่งดงามด้วยความแตกต่างและหลากหลายของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์เช่นที่คนไทยบางส่วนเชื่อเลย
บทสรุป
จากที่ได้กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า สังคมไทยที่เราได้รับการปลูกฝังมาเสมอว่าเป็นสังคมที่ดีเลิศ เป็นสังคมที่เปิดกว้างเพื่อทุกคน อันเป็นเครื่องแสดงว่าสังคมจะมีแต่ความสุขสันต์นั้นไม่เป็นจริงไปเสียทั้งหมด ในขณะที่บางมุมของสังคมไทย คนชาติพันธุ์อย่างแขกมุสลิมกลับได้รับความยากลำบากในการแสดงความเป็นตัวตน อันเป็นสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายที่จะแสดงอัตลักษณ์ของตนได้เท่าที่ไม่เบียดเบียนใคร สังคมไทยให้คุณค่ากับการเป็นคนไทยมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่เป็นส่วนสำคัญของสังคมไม่น้อยกว่ากัน ไม่เพียงมีรากฐานทางวัฒนธรรมที่ยกย่องความเป็นชาติของตนและด้อยค่าวัฒนธรรมอื่นที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ สังคมไทยยังได้รับการปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมผ่านการศึกษาไทยที่ช่วยส่งเสริมความคิดดังกล่าวให้พอกพูนขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ขนบทางความเชื่อไม่เพียงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ทว่ากลับหลอมรวมกลายเป็นสิ่งที่เหนี่ยวรั้งความเท่าเทียมทางสังคมอีกด้วย ชาตินิยมแบบไทยที่ประกอบสร้างขึ้นจากการให้ความสำคัญกับเชื้อชาติไทยและศาสนาพุทธเป็นสำคัญนี้ จึงเป็นปัญหาที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งที่ทำให้ความเท่าเทียมทางสังคมของคนชาติพันธุ์ไม่อาจมีขึ้นได้จริง ๆ ในสังคมไทย ทั้ง ๆ ที่ชาวไทยหลาย ๆ คนเชื่อว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่พร้อมรับความแตกต่างทางเชื้อชาติ และงดงามด้วยความแตกต่างและหลากหลายก็ตาม
เช่นนั้นแล้ว ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่เราจะหันกลับมาพิจารณาสังคมไทยของเราอีกสักครั้งหนึ่ง เพื่อแสวงหาความหมายของความเป็นไทยที่แท้จริง ที่ไม่ได้จำกัดเชื้อชาติและศาสนา แต่เป็นสังคมที่ทุกคนให้คุณค่ากับการเป็นตัวของตัวเอง และสามารถรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ได้อย่างภาคภูมิ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนอื่น ถึงเวลาแล้วหรือไม่เราจะตระหนักได้ว่า คนชาติพันธุ์อย่างแขกมุสลิมก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและความเป็นไทยที่สมควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเช่นกัน
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส. (2470). ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙ เรื่อง จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ กับ ครั้งกรุงธนบุรีแลกรุงรัตนโกสินทรตอนต้น ภาคที่ ๖. โรงพิมพ์ศรีหงส์.
จุฬาราชมนตรี (เชน), พระยา, วรเทพ (เถื่อน), พระยา, ทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ), เจ้าพระยา, และ พรหมาธิบาล (จอน), พระ. (2513). จดหมายเหตุประถมวงศกุลบุนนาคและเรื่องราชทูตสยามไปกรุงฝรั่งเศส. โรงพิมพ์พระจันทร์.
จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. (2544). บทบาทและหน้าที่ของขุนนางกรมท่าขวาในสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2153-2435). [วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต]. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เด่นพงษ์ แสนคำ. (2561). การสร้างแนวคิดชาตินิยมไทยผ่านทางการศึกษา วัฒนธรรม และงานนิพนธ์. วารสารนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สาขามนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์, 8(3), 142-168.
พิเชฐ สายพันธ์. (2564). ทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาติ (Critical Race Theory) และการกลับมาของปัญหาอคติการเหยียดเชื้อชาติ. วารสารมานุษยวิทยา, 4(2), 252-260.
สำเร็จวรรณกิจ, หลวง. (2515). นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 1-10. พระนคร: โรงพยาบาลส่วนท้องถิ่นกรมการ ปกครอง
สุจิตต์ วงศ์เทศ. (2559). “แขก” มุสลิม ในความเป็นไทย. RUSAMILAE JOURNAL, 34(1). https://so05.tci-thaijo.org/index.php/rusamelae/article/view/62928
เอกรินทร์ ต่วนศิริ และอันวาร์ กอมะ. (2562). ความสัมพันธ์ที่เปราะบางระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในสังคมไทย. วารสารอิสลามศึกษา, 10(2), 14-26.
ภาษาอังกฤษ
Yamirudeng, M. (2017). What it means to be Malay Muslims: The Role of Language in Ethnic Identity Construction and Ethnic Maintenance of Thai-Malay Muslims. Journal of Humanities and Social Sciences, 13(1), 37–68. https://so03.tcithaijo.org/index.php/eJHUSO/article/view/97632