ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ประเทศกัมพูชาและประเทศไทยเกิดข้อขัดแย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในมรดกของทั้งสองชาติหลายประเด็นด้วยกัน ทั้งความเห็นที่ไม่ลงรอยกันจนเป็นที่ถกเถียงในระดับประชาชนทั่วไปเรื่องที่มาของประเพณีและศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น ต้นกำเนิดศิลปะการต่อสู้ “มวยไทย-กุนขแมร์” ไปจนถึงข้อพิพาทระดับประเทศ เช่น กรณีพิพาทเรื่องพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร หรือ กรณีแย่งชิงกันเป็นเจ้าของมรดกโลกการแสดงโขน
เมื่อพิจารณาหาสาเหตุของข้อขัดแย้งเหล่านี้แล้ว เราอาจสามารถอธิบายได้ด้วยคำว่า “วัฒนธรรมร่วม” กล่าวคือ ผู้คนทั้งสองชนชาติ (หรืออาจรวมถึงชนชาติอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย) เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมร่วมกันมาตั้งแต่ก่อนมีเส้นแบ่งพรมแดนรัฐชาติ แม้กระทั่งในสมัยประวัติศาสตร์ ชนชาติไทยและเขมรต่างก็ติดต่อปฏิสัมพันธ์กันหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อค้าขาย หรือทำสงครามกวาดต้อนผู้คน ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้มากมาย ตามแต่ว่าในช่วงเวลาหนึ่งชนชาติใดจะมีอำนาจทางการเมืองมากกว่ากัน ดังนั้น วัฒนธรรมไทยและกัมพูชาจึงผสมอยู่ปะปนกันในพื้นที่ของทั้งสองประเทศ เมื่อแต่ละประเทศนำวัฒนธรรมไปปรับใช้หรือพัฒนาต่อเรื่อยมาหลายชั่วอายุคน จึงอาจระบุชี้ชัดไม่ได้ว่าใครเป็นเจ้าของวัฒนธรรมเหล่านี้กันแน่
ความเป็น “วัฒนธรรมร่วม” ของไทยและกัมพูชากลับสร้างปัญหาขัดแย้งให้ทั้งสองฝ่าย เมื่อต่างฝ่ายต่างแบ่งแยกความเป็นชาติ ปลูกฝังแนวคิดชาตินิยม พยายามสร้างสรรค์เอกลักษณ์และความแตกต่างให้กับประเทศของตนเองมาเป็นระยะเวลานานจนส่งผลกระทบกระเทือนถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน เกิดเป็นรอยร้าวที่บาดลึกมาจนถึงปัจจุบัน รอยร้าวนี้มิได้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด หากแต่ฝังลึกอยู่ในความสัมพันธ์ของไทย-กัมพูชามาแล้วหลายร้อยปี กระทั่งสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านวัฒนธรรม ในบทความนี้ ผู้เขียนจะยกตัวอย่างจากกรณีศึกษานิทานพื้นบ้านเขมร เรื่อง พระโค-พระแก้ว ซึ่งมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

รูปจาก ASEAN Skyline - 🇰🇭🇰🇭🇰🇭🇰🇭🇰🇭 Preah Ko Preah Keo statue in Kampong... | Facebook
ตำนานพระโค-พระแก้วเป็นนิทานพื้นบ้านที่เล่าถึงการเสียเมืองละแวกของกัมพูชา เรื่องราวเล่าถึง ชาวนาที่อาศัยอยู่ในเมืองละแวกคู่หนึ่ง ภรรยาปีนต้นมะม่วงและตกลงมาเสียชีวิตในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ ครรภ์ของนางจึงแตกออกมาเป็นลูกแฝด แฝดผู้พี่เป็นวัว จึงมีชื่อว่า พระโค มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ส่วนแฝดผู้น้องเป็นคน มีชื่อว่า พระแก้ว เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวว่าครอบครัวนี้มีลูกเป็นวัว จึงพากันขับไล่พ่อและลูกทั้งสองออกไป
ต่อมาเมื่อพ่อเสียชีวิตลง สองพี่น้องจึงต้องดูแลกันเอง พระโคเลี้ยงดูพระแก้วด้วยการเคี้ยวหญ้าแล้วเสกออกมาเป็นอาหาร รวมทั้งเสกสิ่งของต่าง ๆ ให้พระแก้วด้วย เมื่อชาวบ้านทราบก็เกิดละโมบ คิดจะจับพระโคฆ่าเอาทรัพย์สินที่อยู่ในท้อง พระโคจึงบอกให้พระแก้วจับหางตนไว้แล้วพาเหาะหนีกันไป
ต่อมาพระแก้วได้แต่งงานกับนางเภา ธิดาของพระบาทรามาเชิงไพร กษัตริย์ผู้ครองเมืองละแวก กิตติศัพท์เรื่องพระโค-พระแก้วล่วงรู้ไปถึงกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาปรารถนาได้พระโค-พระแก้วมาไว้ในพระนครศรีอยุธยาจึงส่งทูตมาเพื่อท้าประลองชิงบ้านเมือง พระโคเป็นตัวแทนของเมืองละแวกแปลงกายไปร่วมประลอง ครั้งแรกเป็นการประลองการแข่งชนไก่ ครั้งที่ 2 เป็นการชนช้าง พระโคสามารถเอาชนะการประลองได้ทั้งสองครั้งได้ ต่างจากการประลองครั้งที่ 3 ที่เป็นการชนวัว พระโครู้ว่าตนไม่สามารถเอาชนะโคยนต์ของกรุงศรีอยุธยาได้ จึงวางอุบายให้พระแก้วกับนางเภา จับหางแล้วเหาะหนีไป แต่ทหารสยามยกทัพติดตามมา ทำให้นางเภาตกลงมาเสียชีวิต ส่วนพระโคและพระแก้วถูกจับได้ ทําให้เสียเมืองละแวกแก่สยามในที่สุด พระโคและพระแก้วถูกจับตัวไปยังกรุงศรีอยุธยา ทำให้สรรพวิทยาและของวิเศษทั้งหมดที่อยู่ในท้องพระโคถูกนํามาไว้ที่กรุงศรีอยุธยา เป็นเหตุให้สยามเจริญรุ่งเรือง ต่างจากเขมรก็เสื่อมอำนาจลงเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน
นักวิชาการตีความนิทานเรื่องพระโค-พระแก้วไปในหลายทิศทาง ทั้งในเชิงรูปธรรมและเชิงนามธรรม ในเชิงรูปธรรมนั้น ชาวเขมรบางส่วนเชื่อว่าพระโคในนิทานเรื่องนี้คือประติมากรรมสำริดรูปพระโคนนทิ และพระแก้วก็คือพระแก้วมรกตนั่นเอง ในขณะที่รองศาสตราจารย์ศานติ ภักดีคำ เสนอความเห็นว่าพระโคน่าจะหมายถึงประติมากรรมพระโค และพระแก้วก็หมายถึงพระยาแก้ว เชื้อพระวงศ์เขมรองค์สำคัญ ส่วนในเชิงนามธรรม มีผู้เสนอว่า พระโคเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ เกี่ยวเนื่องกับพระโคนนทิในศาสนาพราหมณ์ และพระแก้วก็มีนัยยะสื่อถึงความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา หรืออาจตีความได้อีกนัยหนึ่งว่าพระโคหมายถึงความรู้และศิลปวัฒนธรรมที่ไทยรับมาจากการกวาดต้อนผู้คน และพระแก้วก็หมายถึงอำนาจทางการเมือง แต่ไม่ว่าจะตีความพระโค-พระแก้วไปในทิศทางใดก็ตาม การตีความทั้งหมดแสดงให้เห็นจุดร่วมอย่างหนึ่งว่า พระโค-พระแก้ว มีความสำคัญต่อชาติกัมพูชาจนอาจนับได้ว่าเป็นอัตลักษณ์ของชาติด้วย ชาวเขมรจึงรู้สึกหวงแหนเป็นอย่างยิ่ง เมื่อไทยนำสิ่งสำคัญเหล่านี้ไปจากกัมพูชา จึงไม่แปลกที่ชาวเขมรจะมองว่าชาติของตนเป็นต้นธารของศิลปวัฒนธรรมไทยทั้งหมด และเกิดความรู้สึกเกลียดชังชาวไทยในที่สุด

หน้าปกหนังสือพระโค พระแก้ว
รูปจาก Preah Ko Preak Keo Book Cover – បណ្ណាល័យអេឡិចត្រូនិចខ្មែរ (elibraryofcambodia.org)
ผู้นำของกัมพูชาใช้นิทานเรื่องพระโค-พระแก้วปลูกฝังความรู้สึกชาตินิยมให้แก่ชาวเขมรตลอดมา เช่น ตีพิมพ์หนังสือนิทานเพื่อปลุกใจในช่วงเรียกร้องอิสรภาพจากฝรั่งเศส หรือบรรจุนิทานเรื่องนี้ในหลักสูตรการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาสั่นคลอนอย่างหนัก นิทานเรื่องนี้ก็จะถูกหยิบยกมาอ้างถึงอยู่เสมอ เช่น ช่วงปลายทศวรรษ 1960 ถึงต้นทศวรรษ 1970 ประเทศไทยและกัมพูชาเกิดกรณีพิพาทเรื่องพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารขึ้น รัฐบาลกัมพูชาจึงจัดให้คณะนาฏศิลป์หลวงนำเสนอนิทานเรื่องนี้ผ่านทางสถานีวิทยุในช่วงเย็น ส่งผลให้ชาวเขมรฮึกเหิม พร้อมลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อชาติ
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน บทบาทหน้าที่ทางการเมืองของนิทานเรื่องพระโค-พระแก้วค่อนข้างลดน้อยลงพอสมควร เนื่องจากความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองชาติเริ่มฟื้นคืนกลับมา ชาวเขมรบางส่วนก็หันมาตีความสารสำคัญโดยเน้นไปที่ความสามัคคีของพี่น้องร่วมชาติเหมือนที่พระโคและพระแก้วดูแลซึ่งกันและกัน เพราะหากคนใดคนหนึ่งต่อสู้อยู่เพียงลำพัง ทุกคนก็ย่อมประสบความพินาศ อาจกล่าวได้ว่า ชาวเขมรหันมาใช้นิทานเรื่องนี้ปลูกฝังชาตินิยมในทางการสร้างความสมานฉันท์ภายในประเทศ แทนที่จะใช้สร้างศัตรูร่วมอย่างที่เคยเป็นมา
โดยสรุปแล้ว นิทานพื้นบ้านมิใช่เพียงเรื่องเล่าเพื่อความบันเทิงเท่านั้น หากแต่มีบทบาทช่วยให้การศึกษา ปลูกฝังค่านิยมร่วมกันของคนในสังคม นอกจากนี้แล้ว นิทานบางเรื่องยังเป็นร่องรอยบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นจริงในอดีต และเป็นเครื่องระบายความคับข้องใจที่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบหรืออำนาจปกครอง ดังนั้น การศึกษานิทานพื้นบ้านจึงทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจมุมมองความคิดของคนในสังคมนั้นๆ มากขึ้น ความเข้าใจนี้ส่งผลให้ทั้งสองประเทศอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขในอนาคต
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
ชาญชัย คงเพียรธรรม. (2559). สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในสังคมเขมร. วารสารภาษาและวัฒนธรรม, 35(Special), 117-126. https://so03.tci-thaijo.org/index.php/JLC/article/view/240383/163696
ธันยพร บัวทอง. (28 มกราคม 2563). กุน ขแมร์ : วัฒนธรรมไทย-เขมร ย้อนดูประวัติศาสตร์ที่อาจเป็นเหตุก่อ ‘ดรามา’ ของสองชาติ. BBC NEWS ไทย. https://www.bbc.com/thai/articles/cj5m5rqzmm4o
ประคอง นิมมานเหมินท์. (2551). นิทานพื้นบ้านศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 3). โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ศานติ ภักดีคำ. (2545). พระแก้วในตำนานพระโค-พระแก้วเขมร : พระแก้วมรกตจริงหรือ ?. วารสารดำรงวิชาการ, 1(1), 409-420. https://so01.tci-thaijo.org/index.php/damrong/article/view/21398/18517
ภาษาอังกฤษ
Kimly Ngoun. (2006). The legend of preah ko preah keo and its influence on the cambodian people's perception of the thais. [Master’s thesis, Chulalongkorn University]. CUIR. https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/41591