เมื่อพูดถึงดินแดนปาเลสไตน์ หลายคนอาจนึกถึงการถูกยึดครองถิ่นฐานโดยรัฐอิสราเอลเป็นอันดับแรก ซึ่งตามคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ถือเป็นการกระทำอันผิดกฎหมายที่กินระยะเวลานานกว่า 57 ปีหรือหลายชั่วอายุคน และยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงแต่อย่างใด หากแต่หน้าประวัติศาสตร์ของปาเลสไตน์ก็ไม่ได้มีจารึกไว้เพียงแค่นั้น ยังมีภาพของอารยธรรมที่สะท้อนให้เห็นความเจริญรุ่งเรืองด้วย เพราะอารยธรรมปาเลสไตน์นั้นดำรงอยู่มายาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ราว 3,000 ปีก่อน ในนามของชาวฟิลิสตีนส์ที่ตั้งรกรากอยู่ระหว่างริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและแม่น้ำจอร์แดน และต่อมาได้อยู่ภายใต้อาณัติของอาณาจักรออตโตมัน (ตุรกีในปัจจุบัน) ซึ่งอุดมไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา
กาซานั้นถือเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นทางประชากรมากที่สุดในปาเลสไตน์และถูกขนานนามว่าเป็น “ฉนวนกาซา” ด้วยถูกกำหนดให้เป็นเขตกันชนระหว่างอียิปต์และอิสราเอล แต่ทว่ากาซาก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ในชื่อของพื้นที่แห่งความขัดแย้ง เมื่อปรากฏหลักฐานทางนิรุกติศาสตร์ว่า คำศัพท์เรียกผ้าก๊อซหรือ “Gauze” นั้นได้รับการสันนิษฐานว่าถูกตั้งชื่อตามชื่อเมือง “Gaza” อ้างอิงจากพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับออกซฟอร์ดและสารานุกรมบริแทนนิกา จึงเชื่อกันว่าผ้าทอเนื้อบางที่พัฒนามาเป็นผ้าก๊อซพันปิดแผลในปัจจุบันนั้นถูกคิดค้นขึ้นที่กาซาตั้งแต่สมัยโบราณนั่นเอง (Taija Perrycook, 2024) (T. Editors Of Encyclopedia Britannica, 2024) อีกทั้งนักสถิติชาวอังกฤษ จอร์จ ริชาร์ดสันยังเคยเขียนในหนังสือเมื่อปีค.ศ. 1832 ไว้ว่า กาซาในสมัยก่อนนั้นเคยเป็นเมืองใหญ่ที่มีชื่อเสียงเมืองหนึ่ง เนื่องจากเป็นเมืองท่าที่มีผลผลิตของตนเองและเป็นศูนย์กลางการค้าขายระหว่างภูมิภาคตะวันออกกลางและยุโรปซึ่งอยู่อีกฝากหนึ่งทางตะวันตก
ผ้าพันคอทรงสี่เหลี่ยมแบบดั้งเดิมของวัฒนธรรมอาหรับนั้นเรียกว่า “เคฟฟีเยห์” ทำมาจากผ้าฝ้าย สวมใส่ได้ทั้งหญิงและชาย แต่เดิมแล้วมักจะมีอยู่ 2 รูปแบบคือสีขาว-ดำและสีขาว-แดง ความหมายเชิงสัญลักษณ์ สี และลวดลายนั้นก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อย่างเช่น ชาวปาเลสไตน์ก็มักจะโพกผ้าเคฟฟีเยห์เมื่อออกไปชุมนุมประท้วง เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและใช้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านผู้กดขี่อย่างรัฐอิสราเอล และถ้าจะหาต้นกำเนิดของเคฟฟีเยห์ก็ต้องย้อนกลับไปในยุคเมโสโปเตเมียหรือ 3,100 ปีก่อนคริสตกาล โดยที่ชาวสุเมเรียนเรียกผ้าชนิดนี้ว่า “ชีมัค” ในอดีตนักบวชที่มีสถานะเป็นนักปกครองมักจะสวมใส่ผ้าชีมัคเพื่อแสดงเกียรติยศความเป็นชนชั้นสูง เมื่อเวลาผ่านไป การสวมใส่เคฟฟีเยห์ก็ไม่ได้ถูกผูกขาดเฉพาะในแวดวงชนชั้นปกครองอีกต่อไป ผู้คนโดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานก็มักจะนำเคฟฟีเยห์มาโพกศีรษะเพื่อใช้กันแดดและกันฝุ่นทรายเวลาอยู่กลางแจ้ง ตอนฤดูหนาวก็ใช้สวมใส่เพื่อปกป้องร่างกายจากลมหนาวได้เช่นกัน และทุกวันนี้ เคฟฟีเยห์ก็กลายเป็นสินค้าแฟชั่นที่ถูกนำไปดัดแปลงเป็นเครื่องแต่งกายชนิดอื่น เช่น ชุดกระโปรงที่นางแบบชาวปาเลสไตน์ เบลลา ฮาดิดสวมใส่
โดยเฉพาะช่วงปีค.ศ. 1936 เมื่อปาเลสไตน์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นักปฏิวัติชาวปาเลสไตน์ผู้ลุกฮือต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษก็มักจะใช้เคฟฟีเยห์ในการปกปิดตัวตน และเมื่ออังกฤษประกาศห้ามไม่ให้สวมใส่เคฟฟีเยห์ พลเมืองปาเลสไตน์ก็ตอบโต้ด้วยการฝ่าฝืนกฎและใช้เคฟฟีเยห์ในการปิดบังใบหน้า เพื่อให้ยากต่อการจับกุมและไม่ให้อังกฤษจำแนกผู้เป็นกบฎออกมา ซึ่งเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้เคฟฟีเยห์กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการยืนหยัดต่อสู้ในปาเลสไตน์มาจนถึงปัจจุบัน และเคฟฟีเยห์ก็แพร่หลายยิ่งขึ้น ในช่วงการลุกฮือขับไล่อิสราเอลออกจากพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์ (อินติฟาดา) ครั้งแรกในปีค.ศ. 1987 และครั้งที่สองในปีค.ศ. 2000
ล่วงเวลามากว่า 5 ทศวรรษที่ธุรกิจโรงงานผลิตเคฟฟีเยห์ในปาเลสไตน์ 30 แห่งล้มตายลง ด้วยสาเหตุจากการถูกปกครองแบบแบ่งแยก ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ ถูกจำกัดทรัพยากร และถูกกีดกันทางการค้าโดยรัฐอิสราเอล จนขณะนี้เหลือโรงงานเคฟฟีเยห์เพียงแค่แห่งเดียวในเมืองฮีบรอน ซึ่งก่อตั้งโดยพี่น้องตระกูลฮีบราวิ ตั้งแต่ปีค.ศ. 1961 พวกเขาผลิตเคฟฟีเยห์มากว่า 250 รูปแบบ ในจำนวนมากกว่า 150,000 ผืนในแต่ละปี โดยในอดีตนั้นโรงงานเคยมีเครื่องสานกว่า 15 เครื่อง แต่ในปัจจุบันลดจำนวนลงเหลือแค่ 4 เครื่องที่ยังทำงานอยู่ หลังจากต้องแข่งขันกับเคฟฟีเยห์นำเข้าราคาถูกที่ผลิตในจีน อย่างไรก็ตาม พวกเขายืนยันว่าเคฟฟีเยห์ที่ผลิตในปาเลสไตน์นั้นมีคุณภาพดีที่สุดแล้ว
จนถึงปัจจุบันนี้ เคฟฟีเยห์ยังคงเป็นที่ต้องการทั่วโลก เมื่อผู้คนทุกชนชาติสวมใส่ผ้าที่มีลวดลายเดียวกัน เพื่อแสดงจุดยืนเคียงข้างชาวปาเลสไตน์ที่ถูกกดขี่อย่างไม่เป็นธรรม สำหรับชาวปาเลสไตน์แล้ว การสวมใส่เคฟฟีเยห์ก็เปรียบเสมือนการแสดงออกถึงอัตลักษณ์และตัวตน แม้ในขณะที่ผู้รุกรานเข้ามายึดครองถิ่นฐาน ชาวปาเลสไตน์ก็จะแสดงให้ทั้งโลกเห็นว่า พวกเขาจะยังดำรงอยู่และไม่ยอมแพ้ เคฟฟีเยห์จึงเป็นมากกว่าสินค้า หากแต่เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจ และเป็นมรดกสืบทอดทางวัฒนธรรมอันควรค่าแก่การรักษา
เคฟฟีเยห์โบกพลิ้วอย่างสง่างาม เพื่อกู่ร้องว่าปาเลสไตน์จะคงอยู่สืบไป
บรรณานุกรม
Majdi, H. (2018). The History Of Keffiyeh: A Traditional Scarf From Palestine.
https://handmadepalestine.com/blogs/news/history-of-keffiyeh-the-traditional-palestinian-headdress
Masalha, N. (2018). Palestine: A Four Thousand Year History. Zed Books Ltd.
Mosab, S. (2024). The Only Palestinian Factory Making Keffiyehs Is Going Strong.
Taija, P. (2024). Did the Word 'Gauze' Originate from Gaza?.
https://www.snopes.com/fact-check/gauze-originate-from-gaza/