‘ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง’ (Thong ek: The Herbal Master) เป็นละครโทรทัศน์ไทยแนวพีเรียด-คอมเมดี (ย้อนยุค-ตลกขบขัน) ออกอากาศทางช่อง 3 ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562 จนถึงวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2562 มีเนื้อเรื่องเล่าถึง ‘ทองเอก’ หมอยาแผนไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้เกิดมาในครอบครัวของหมอยาแต่ต้องกำพร้าตั้งแต่เด็ก เนื่องจากพ่อและแม่ของเขายอมเสี่ยงชีวิตเพื่อรักษาคนไข้ทรพิษซึ่งกำลังระบาดหนักกระทั่งติดเชื้อและเสียชีวิต ทองเอกจึงได้ไปอาศัยอยู่กับ ‘ปู่ทองอิน’ หรือพ่อหมอทองอิน ผู้ถูกไล่ออกจากกรุงเก่าเนื่องจากมีผู้ยุยงว่าหมอทองอินรักษาเด็กที่ถูกสุนัขบ้ากัดมาไม่ดี จนทำให้เด็กเสียชีวิต พ่อหมอทองอินและทองเอกจึงเดินทางมาสู่บ้านท่าโฉลงอันห่างไกล หมอทองอินได้ตัดสินใจรับรักษาชาวบ้านอีกครั้ง ผ่านการสนับสนุนจากหลวงตาเพชร ผู้เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านท่าโฉลง แต่ในขณะเดียวกันชาวบ้านในท่าโฉลงนั้นต่างก็มีความเชื่อในภูติผีเป็นทุนเดิม โดยมีผู้นำทางไสยศาสตร์ คือ ‘แม่หมอมั่น’ ผู้ใช้วิชาทางไสยรักษาและให้การช่วยเหลือชาวบ้านอยู่เนือง ๆ
ภายในตัวบทนั้นได้พยายามสร้างทวิลักษณ์ขั้วตรงข้ามระหว่างแพทย์แผนไทยของพ่อหมอทองอิน และการรักษาแบบพิธีกรรมท้องถิ่นของแม่หมอมั่น ให้กลายเป็นการปะทะกันระหว่าง ความเป็นเหตุเป็นผลกับความงมงาย ความดีกับความชั่ว รวมไปถึงพุทธ (การตื่น) กับไสย (การหลับ) ความขัดแย้งระหว่างสองขั้วปรากฏขึ้นครั้งแรก เมื่อทองเอกเข้าไปขัดขวางพิธีกรรมไล่ผีร้ายของแม่หมอมั่น ที่ชาวบ้านเชื่อว่าสิงอยู่ในเด็กผู้หญิงที่มีอาการหนาวสั่น ทองเอกได้ให้เหตุผลว่าเด็กเพียงแต่มีไข้สูง ต้องใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็นรักษา การใช้น้ำสาดและเฆี่ยนตีเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดวิธี เมื่อแม่หมอได้ฟังดังนั้นจึงประกาศกร้าวว่า
ที่มารูปภาพ : https://web.facebook.com/100080190104195/posts/1811400312303020/
“มึงลบหลู่แม่หมอมั่นแห่งท่าโฉลง ทุกคนจำหน้ามันไว้ ชายหนุ่มผู้นี้คือตัวกาลกิณี”
ประโยคข้างต้นนี้ได้สะท้อนสถานะเชิงอำนาจของแม่หมอมั่นต่อชุมชนท่าโฉลง ว่าแม่หมอมั่นได้สถาปนาตนเป็น “ผู้นำ” ของชุมชน ทั้งการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวบ้าน และเป็นตัวแทนของภูติผีภายในชุมชน แม่หมอมั่นดำรงอยู่ในตำแหน่งอันศักดิ์สิทธิ์ที่หากมีใครลบหลู่หรือละเมิดอำนาจจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อหมู่บ้านและชีวิตของคนในชุมชน การเข้ามาของพ่อหมอทองอินและทองเอกนั้นได้สั่นคลอนสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของแม่หมอมั่นโดยตรง จึงนำไปสู่การประกาศสงครามกับผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้นำทางจิตวิญญาณของหมู่บ้านคนใหม่ที่มีสถานะ “ใกล้เคียงกัน” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พ่อหมอทองอินและทองเอกต่างก็เป็น “ตัวแทน” ของความเชื่อขั้วตรงข้ามที่มีอยู่แต่เดิมของแม่หมอมั่น นั่นคือหลวงตาเพชร ที่ต้องการให้ชาวบ้านเลิกงมงายกับผีสางและเลือกหันหน้าเข้าวัดมากกว่าการพึ่งพาแม่มดหมอผี หากแต่ด้วยสถานะของหลวงตาเพชรนั้นไม่สามารถสถาปนาตนเป็นปฏิปักษ์กับแม่หมอมั่นได้โดยง่าย จึงส่งตัวแทนไปเป็นผู้ปะทะแย่งชิงศรัทธาของชาวบ้านจากแม่หมอมั่นแทน
เมื่อพิจารณาลักษณะการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของแม่หมอมั่นแล้ว จะพบว่าสถานะหลักของแม่หมอดำรงอยู่ในฐานะหมอรักษาไข้เป็นหลัก เช่น การตอกเส้นคลายปวด การดื่มน้ำปลุกเสก การทรงเจ้าเข้าผี รวมไปถึงการขับไล่วิญญาณร้ายออกจากผู้ป่วย การทำเครื่องรางของขลังแคล้วคลาดจากโรคภัยภูติผี ส่วนการทำเสน่ห์และการใช้คุณไสยเป็นบทบาทรอง เช่น ยาเสน่ห์ ยาสั่ง และการฝังรูปฝังรอย บทบาทเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมและความเชื่อของชุมชน 2 ประการ ประการแรกคือ ชุมชนท่าโฉลงเป็นชุมชนที่ห่างไกลแพทย์แผนปัจจุบัน (หรือ “หมอหลวง” ในตัวบท) ทำให้ชุมชนเชื่อกันว่าอาการเจ็บป่วยเกิดจากอำนาจเหนือธรรมชาติ แม่หมอมั่นผู้ให้การรักษาชาวบ้านและทำหน้าที่ติดต่อกับอำนาจเหนือธรรมชาติไปพร้อม ๆ กันเพียงหนึ่งเดียวนั้นจึงถือสิทธิ์อันชอบธรรมในสถานะศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน และอีกประการหนึ่งคือ ชุมชนท่าโฉลงยังคงเป็นสังคมที่มีความเชื่อเรื่องผีอยู่อย่างเข้มข้น แม้จะมีวัดอยู่ในชุมชน แต่ก็ไม่อาจเอาชนะชุดความเชื่อที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมที่มีอยู่แต่เดิมได้ สถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของแม่หมอมั่นนั้น ซึมลึกลงไปในวิถีชีวิตของชาวบ้านโดยไม่รู้ตัว แม้ในขณะที่หมอทองอินและทองเอกเข้ามาให้การรักษาที่มีประสิทธิภาพมากกว่าแม่หมอมั่น แต่ในตัวบทกลับไม่ปรากฏความเคลือบแคลงใจหรือการตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือของแม่หมอมั่นแม้แต่น้อย ตำหนักรักษาของแม่หมอมั่นเพียงแค่ได้รับความนิยมน้อยลงเท่านั้น สะท้อนสถานภาพของแม่หมอมั่นที่เกินไปกว่าหมอรักษาโรค หากแต่คือผู้นำทางจิตวิญญาณ
สงครามแย่งชิงตำแหน่งผู้นำทางจิตวิญญาณนี้ดำเนินต่อมาเมื่อพ่อหมอทองอินสามารถรักษาคุณนายสายหยุดจากอาการปวดท้องหนักได้สำเร็จ ในขณะที่ตุ๊กตาปลุกเสกของแม่หมอมั่นไม่เป็นผล ส่งผลให้ชาวบ้านที่เคยรับการรักษาจากแม่หมอมั่นมาแต่เดิมได้เข้ามาเป็นคนไข้ของพ่อหมอทองอินมากขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านการบอกเล่าปากต่อปากในหมู่ชาวบ้าน ความพ่ายแพ้ต่อบ้านพ่อหมอทองอินตอกย้ำผ่านการที่ทองเอกสามารถรักษาลูกสาวของแม่หมอมั่นอย่าง ‘ผ่อง’ ผู้ซึ่งเป็นโรคคุดทะราดได้สำเร็จ เมื่อแม่หมอรู้สึกถูกคุกคามอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกิดการดิ้นรนเพื่อรักษาสถานะของตนเองไว้ให้ได้ ผ่านการวางยาพิษจงโคร่งให้ชาวบ้าน พร้อม ๆ กับการขายยาถอนพิษที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของยารักษาบ้านหมอทองอิน การดิ้นรนเพื่อรักษาสถานะดังกล่าวนี้เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เมื่อแม่หมอมั่นรักษาลูกสาวของตนเองไม่หายจึงนำเธอไปทิ้งไว้กลางป่า เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสถานะของตน สงครามทวิลักษณ์ต่างขั้วนี้นำไปสู่การวางยาสั่งทองเอก เป็นเหตุให้หมอทองอินเสียชีวิต ชัยชนะของแม่หมอมั่นสะท้อนผ่านคำพูดว่า "หลานไม่ตาย ปู่ตายก็ยังดีวะ อย่างน้อยก็ขจัดเสี้ยนหนามไปได้หนึ่ง”
แต่แม้ตัวบทจะพยายามสร้างทวิลักษณ์ระหว่างพุทธศาสนากับความเชื่อในการนับถือภูติผีและพิธีกรรมก็ตาม ตัวเองบทก็ยังได้แสดงให้เห็นลักษณะที่ทับซ้อนกันของทั้งสองฝ่ายด้วย ประการแรกคือ แม้ว่าหลวงตาเพชรผู้เป็นตัวแทนของพุทธศาสนานั้นจะไม่สนับสนุนความงมงาย เช่น การรำแก้บน ความเชื่อเรื่องผี รวมไปถึงการรักษาด้วยพิธีกรรมของแม่หมอมั่นก็ตาม แต่หลวงตาเพชรก็จำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับความเชื่อภายในชุมชนด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การรดน้ำมนต์ การแจกยาพร้อมผ้ายันต์ การคิดวิธีป้องกันผีให้ชาวบ้าน การอนุญาตให้ลูก ๆ ของคุณนายสายหยุดรำแก้บนภายในวัด โดยให้เหตุผลว่าหากเป็นไปเพื่อความสบายใจก็ไม่ได้ขัดข้องอะไร แสดงให้เห็นว่า การแย่งชิงความศรัทธาของชาวบ้านนั้นจำเป็นต้องเข้าใจและโอนอ่อนผ่อนตามความเชื่อที่มีอยู่แต่เดิมด้วย
ประการที่สองคือ แม้ว่าแพทย์แผนไทยของพ่อหมอทองอินและทองเอกนั้นจะใช้ความรู้จากตำรายา และการวินิจฉัยเพื่อรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมก็ตาม แต่แพทย์แผนไทยเองก็ยังปรากฏการใช้ “ไสยขาว” ร่วมกับการรักษาผู้คนอยู่ด้วยเช่นกัน เช่น การปักเฉลวบนหม้อยา ป้องกันไม่ให้ฤทธิ์ยาเสื่อม การไหว้ครูบาอาจารย์เพื่อขอพรให้ยาสัมฤทธิ์ผล รวมไปถึงการใช้เพื่อแก้ “ไสยดำ” ได้แก่การใช้งากำจัด (เศษงาช้างที่แตกออกมา) เพื่อตรวจสอบพิษหรือยาสั่งของแม่หมอมั่นที่ปนเปื้อนอาหาร ทำให้ลักษณะทวิลักษณ์ระหว่างความเป็นเหตุเป็นผลและความงมงานนั้นพร่าเลือนลง และไม่อาจบอกได้ว่าการรักษาด้วยแพทย์แผนไทยนั้นเป็นไปตามหลักเหตุและผลทั้งสิ้นหรือไม่
ประการที่สาม หากพิจารณาในด้านของภาษาแล้ว การที่ชาวบ้านเรียกนำหน้าชื่อว่า พ่อหมอ และ แม่หมอ ย่อมสะท้อนให้เห็นการซ้อนทับระหว่างสถานะของทั้งสองขั้ว เนื่องจากภายหลังหมอหลวงซึ่งเป็นตัวแทนของแพทย์แผนตะวันตกเข้ามา กลับมีการเรียกนำหน้าชื่อว่า หมอ แต่เพียงเท่านั้น จึงอาจตั้งคำถามต่อไปได้ว่า มโนทัศน์ของชาวบ้านท่าโฉลงนั้น มองการแพทย์แผนไทยเป็นการรักษาด้วยพิธีกรรมรูปแบบหนึ่งหรือไม่
และอีกประการหนึ่งคือ การรักษาทั้งสองแขนงต่างมีโรคที่รักษาไม่หายด้วยกันทั้งสิ้น การรักษาแบบพิธีกรรม ทั้งแม่หมอมั่นและลูกสาวต่างพ่ายแพ้ต่อโรคคุดทะราด กระทั่งต้องพึ่งพาการรักษาแบบแพทย์แผนไทยจากทองเอก ในขณะที่การรักษาแบบแพทย์แผนไทยพ่ายแพ้ต่อโรคพิษสุนัขบ้า ทรพิษ และกาฬโรค จนทำให้พ่อและแม่ของทองเอกเสียชีวิต หมอทองอินถูกชาวบ้านไล่ออกมาจากกรุงเก่า และชบาแฟนสาวของทองเอกป่วยหนัก ความพ่ายแพ้ของทั้งสองได้ปูทางไปสู่การรักษาแขนงที่สามที่ปรากฏภายในเรื่อง คือการแพทย์แผนตะวันตก โดยความพร่าเลือนระหว่างทวิลักษณ์ทั้งสองขั้วนี้เอง เป็นเครื่องตอกย้ำว่าพ่อหมอทองอินและแม่หมอมั่นมีสถานะที่ใกล้เคียงกัน ต่างพยายามแย่งชิงศรัทธาของชาวบ้านโดยการรักษาโรคเช่นเดียวกัน หากแต่ต่างกันด้วยวิธีที่สุจริตและไม่สุจริตในแง่สำนึกทางศีลธรรมของผู้ชมแต่เพียงเท่านั้น
ภายหลังกาฬโรคกลับมาระบาดในชุมชนท่าโฉลงอีกครั้ง ชาวบ้านจำนวนมากเข้ามารับการรักษากับทองเอก รวมทั้งแม่หมอมั่นได้ติดโรคคุดทะราดและกาฬโรคจนเกือบเอาชีวิตไม่รอดด้วยเช่นกัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าแม่หมอมั่นกลับไม่ได้หมดความชอบธรรมในสถานะศักดิ์สิทธิ์ของตน เมื่อแพทย์หลวงได้เข้ามาตั้งโอสถศาลาและโรงพยาบาลเอกเทศในบริเวณวัดแล้ว ทองเอกได้รับหน้าที่ลำเลียงผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษาแต่กลับได้รับการปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่า “หลอกเราเอาไปทิ้งหรือเปล่า มีแต่คนตายเท่านั้นแหละที่เอาไปไว้วัด” แสดงให้เห็นว่าแม้ว่าทองเอกจะได้รับการยอมรับจากชาวบ้านในฐานะหมอยาฝีมือฉกาจ รักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคได้มากกว่าแม่หมอมั่น แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้เข้าใจศาสตร์การแพทย์เพียงพอที่จะเชื่อถือคำพูดของทองเอก จนกระทั่งแม่หมอมั่นใช้อุบายกับชาวบ้านว่า “ภูติผีปีศาจ มันวนเวียนอยู่แถวนี้เต็มไปหมด(บ้านหมอทองเอก) เราต้องย้ายจากที่นี่ไปวัด” ชาวบ้านจึงจะยอมไป แสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งผู้นำทางจิตวิญญาณยังคงเป็นแม่หมอมั่น แม้ขณะที่กำลังป่วยอยู่ก็ตาม
การตั้งโอสถศาลาและโรงพยาบาลเอกเทศไว้ภายในบริเวณวัด เป็นการตอกย้ำการส่งเสริมอำนาจของหลวงตาเพชร และเหมารวมเอาแพทย์แผนไทย-แพทย์แผนตะวันตกเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ภายใต้ชุดความเชื่อ “ความเป็นเหตุเป็นผล” และใช้กลุ่มก้อนนี้เป็นทวิลักษณ์ใหม่เพื่อปะทะกับการรักษาด้วยพิธีกรรม ในขณะเดียวกันตัวบทก็ได้แสดงให้เห็นความพ่ายแพ้ของแม่หมอมั่น โดยการให้แม่หมอมั่นได้รับการรักษากับหมอทองเอก และกลายเป็นหนึ่งในแรงหนุนที่ทำให้ชาวบ้านเชื่อถือระบบการแพทย์ต่างถิ่นมากขึ้น รวมถึงสัญญาว่าจะกลับมาช่วยงานทองเอกหลังจากพ้นโทษแล้ว สะท้อนถึงการยอมมอบสถานะผู้นำทางจิตวิญญาณให้กับขั้วทวิลักษณ์ของหลวงตาเพชร หรือพุทธศาสนา อันมีแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนตะวันตกเป็นตัวแทนในท้ายที่สุด
แต่ประเด็นที่น่าสนใจนอกจากการแย่งชิงสถานะผู้นำทางจิตวิญญาณ คือบทบาทการรักษาโรคของศาสตร์ทั้งสามแขนง อันได้แก่แพทย์แผนไทย แพทย์แผนตะวันตก และการรักษาโรคด้วยพิธีกรรม ซึ่งต่างก็มีหน้าที่เฉพาะตนที่ต่างกันออกไป ดังที่ ‘หมอเจตน์’ แพทย์หลวงที่เข้ามารักษาชาวบ้านตามศาสตร์แพทย์แผนตะวันตกกล่าวกับหมอทองเอกว่า "ยาแผนไทยรักษาโดยการสร้างภูมิคุ้มกัน...ผมว่าสุขภาพที่ดีมาจากร่างกายที่แข็งแรงและภูมิคุ้มกันที่ดี ยาของหมอทองเอกก็ตอบโจทย์เรื่องนี้นี่ครับ ไม่ต้องพึ่งยาฝรั่งอย่างเดียว" กล่าวคือ ในขณะที่ความรู้การแพทย์แผนตะวันตกใช้ในการรักษาโรค แพทย์แผนไทยก็สามารถใช้ในการสร้างภูมิคุ้มกัน และการรักษาโดยพิธีกรรมสามารถใช้เยียวยาจิตใจผู้ป่วย การรักษาทั้งสามแขนงต่างก็ส่งเสริมเกื้อกูลกัน ภายใต้จุดประสงค์เดียวกันคือทำให้คนป่วยหายจากโรคร้าย เพียงแต่ต้องมีวิจารณญาณ ความรู้ ความเข้าใจในการเลือกเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม
ที่มาภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=FWwoNGXP_0c