(ภาพ: จิรัชยา เจียรรัตนพงศ์)
ย่านตลาดน้อย เดิมทีเป็นที่รู้จักในชื่อ “บ้านโรงกะทะ” เพราะเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวจีนที่ทำอาชีพช่างตีเหล็ก แต่ที่ได้เปลี่ยนมาชื่อตลาดน้อยอย่างที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นการที่ชุมชนชาวจีนที่เดิมเคยอยู่แต่ในย่านสำเพ็งขยายตัวลงมาทางตอนใต้เลียบตามฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากสำเพ็งเป็นตลาดขนาดใหญ่ ชาวจีนจึงเรียกชื่อตลาดแห่งใหม่ที่อยู่ถัดลงมาทางใต้นี้ว่า “ตะลัคเกียะ (噠叻仔)” หมายถึงลูกตลาดหรือตลาดน้อย
หากเดินลัดเลาะไปตามซอยวานิช 2 ก็จะพบเห็นศาลเจ้าจีนมากมายเรียงตัวกันอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หากมองโดยผิวเผินแล้วศาลเจ้าจีนอาจดูคล้ายคลึงกันและไม่ได้มีลักษณะความพิเศษอะไร แต่ศาลเจ้าเหล่านี้มีที่มาที่ไปที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และเป็นเครื่องแสดงถึงอัตลักษณ์ความหลากหลายทางความเชื่อของชาวจีนต่างถิ่นที่อาศัยอยู่ในบริเวณชุมชนตลาดน้อยได้อย่างดีที่สุด
(ภาพ: จิรัชยา เจียรรัตนพงศ์)
ศาลเจ้าโจวซือกง เป็นศาลเจ้าของกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนซึ่งเป็นชาวจีนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณตลาดน้อย ตั้งแต่สมัยอยุธยาและสืบเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัฐบาลเปิดให้การค้าสำเภาค่อนข้างเสรี ทำให้ชาวจีนฮกเกี้ยนมีความมั่งคั่งร่ำรวย มีอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจรวมถึงมีบางคนผันตัวไปเป็นขุนนางอีกด้วย “โจวซือกง (祖師公)” มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “เฉ่งจุ้ยจ้อซู (清水祖師)” แปลความหมายตามตัวอักษรจีนได้ว่า “ปรมาจารย์น้ำใส” มีนามเดิมว่า “ตันเจียวเอ็ง(陳昭應)” เป็นภิกษุในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ เกิดที่เมืองหย่งชุน มณฑลฮกเกี้ยน เชื่อกันว่าท่านสามารถย้ายฝนให้ไปตกในอีกที่หนึ่งได้ ชาวบ้านจึงสร้างศาลเจ้าไว้บูชาเป็นเทพเจ้าแห่งฟ้าฝน ด้วยความที่โจวซือกงเป็นเทพเจ้าที่มีชื่อเสียงในภูมิภาคฮกเกี้ยน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวจีนฮกเกี้ยนในไทยเลือกที่จะบูชาเทพเจ้าองค์นี้เป็นหลัก
ในขณะที่ ศาลเจ้าโรงเกือกหรือศาลเจ้าฮ้อนหว่อง เป็นศาลเจ้าของชาวจีนฮากกาหรือชาวจีนแคะ ซึ่งเข้ามาตั้งรกรากในชุมชนตลาดน้อยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จากจารึกในศาลเจ้าพ่อโรงเกือก เมื่อรัชสมัยจักรพรรดิกวางสู ปีที่ 15 ตรงกับปี พ.ศ.2432 ที่ระบุว่า พ่อค้าชาวจีนฮากกาได้อัญเชิญองค์เจ้าพ่อ “ฮ้อนหว่อง” จากประเทศจีนมาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 100 ปีก่อนที่จะมีการสร้างศาลเจ้าหลังปัจจุบันขึ้นมา หรือราวก่อน พ.ศ.2332 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คำว่าเจ้าพ่อ “ฮ้อนหว่อง” หรือ “ฮ้อนหว่องกุง(漢王公)” หรือแปลตามตัวอักษรจีนได้ว่า “จักรพรรดิฮั่น” นั้นเป็นอีกชื่อเรียกของ “หลิวปัง” จักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ฮั่น ชาวจีนฮากกาเป็นเชื้อชาติที่มักอ้างสิทธิ์ว่าตนสืบทอดวัฒนธรรมสมัยราชวงศ์ฮั่นได้ดีที่สุด และมักเรียกตนตามภาษาจีนแคะว่า “ฮอนหงิ่น(漢人)” หมายถึง ชาวฮั่น จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวจีนแคะนิยมบูชาเทพเจ้าองค์นี้
ชุมชนย่านตลาดน้อยไม่ได้มีเพียงชาวจีนอพยพที่บูชาเทพเจ้าท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังมีชาวจีนอีกกลุ่มที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เนื่องจากบริเวณตลาดน้อยยังเป็นที่ตั้งของ วัดพระแม่ลูกประคำ หรือ วัดกาลหว่าร์ ซึ่งเป็นวัดที่ก่อตั้งโดยชาวโปรตุเกสบนที่ดินพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมาเมื่อพระสันตะปาปาประกาศแต่งตั้งชาวฝรั่งเศสเป็นประมุขมิสซังสยาม กลุ่มบาทหลวงฝรั่งเศสก็ได้เข้ามาปกครองและเผยแผ่ศาสนาคริสต์ให้แก่ชาวจีนในบริเวณชุมชนตลาดน้อย ส่วนมากเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว โดยมีบาทหลวงอัลบรังด์ (Albrand, พ.ศ.2348-2396) เป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งกลุ่มคริสตังจีนขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2380 ชื่อวัดพระแม่ลูกประคำนั้นมีที่มาจากรูปปั้นพระแม่ลูกประคำที่ประดิษฐานอยู่ภายในโบสถ์ ส่วนคำว่า “กาลหว่าร์” นั้น มาจากคำว่า Calvary ซึ่งเป็นเนินเขาที่เชื่อว่าเป็นสถานที่ตรึงกางเขนพระเยซู สื่อถึงรูปพระศพของพระเยซูรูปปั้นซึ่งเป็นสมบัติสำคัญของวัดอีกรูปหนึ่ง วัดกาลหว่าร์ได้รับการสนับสนุนจำนวนมากจากกลุ่มพ่อค้าคริสตังจีนที่มีธุรกิจรุ่งเรือง ทำให้วัดกาลหว่าร์กลายเป็นศูนย์กลางเครือข่ายของชาวจีนแต้จิ๋วขนาดใหญ่ และยังมีการก่อตั้งโรงเรียนบุ่งกุ่ย (เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนกุหลาบวิทยาในปัจจุบัน) ให้เป็นโรงเรียนจีนที่มีการเรียนการสอนแบบมาตรฐานตะวันตกภายใต้การบริหารของกลุ่มบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่รู้ภาษาจีนแต้จิ๋วเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ในบริเวณตลาดน้อยก็ยังมีศาลเจ้ารวมถึงวัดของเชื้อชาติอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ศาลเจ้าเซียงกง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่ชาวจีนทำธุรกิจค้าขายเศษเหล็ก ของเก่าและอะไหล่รถยนต์ จนเป็นที่มาของคำว่า “เซียงกง” ที่ในปัจจุบันหลายคนเข้าใจว่าเป็นคำเรียกชื่อย่านขายของเก่าและอะไหล่รถยนต์ วัดอุภัยราชบำรุง หรือวัดญวนตลาดน้อย เป็นวัดที่สร้างโดยกลุ่มชาวญวนที่อพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณตลาดน้อยตาม “องเชียงสือ” กษัตริย์ญวนที่อพยพลี้ภัยมาอาศัยอยู่บริเวณสถานทูตโปรตุเกส ในซอยเจริญกรุง 30 สมัยรัชกาลที่ 1
ชาวต่างชาติที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาเสี่ยงดวงลงหลักปักฐานในต่างแดน ศาลเจ้าและวัดจึงทำหน้าที่เป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน ผ่านศาลเจ้าและวัดเรามองเห็นความหลากหลายทางความเชื่อของชาวจีนจากต่างถิ่น ชาวตะวันตก รวมไปถึงชาวญวน ชุมชนตลาดน้อยยังมีลักษณะอีกประการที่แสดงเอกลักษณ์ความเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมในไทยอย่างชัดเจน นั่นคือลักษณะการเรียงตัวของศาลเจ้าและวัดคริสต์ที่เรียงรายกันไปตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แสดงถึงความเป็นวิถีเมืองน้ำของชาวสยามได้อย่างชัดเจน เป็นที่รู้กันดีว่าชาวพุทธมักสร้าง “วัด” ให้หันหน้าออกไปทางแม่น้ำเพื่อให้สะดวกต่อการเดินทาง ที่ชุมชนตลาดน้อยแห่งนี้ เรามองเห็นทั้งศาลเจ้าสถาปัตยกรรมจีนฮกเกี้ยน จีนฮากการวมถึงไปถึงโบสถ์คริสต์คาทอลิกทรงโกธิคตั้งตระหง่านหันหน้าออกสู่แม่น้ำเรียงรายกันไปตามลำน้ำเจ้าพระยา
บรรณานุกรม
กิตติพงศ์ สนธิสัมพันธ์. (2560). ‘วัดแม่พระลูกประคำ’ วัดคาทอลิกเคียงคู่กรุงรัตนโกสินทร์. The Momentum. https://themomentum.co/holy-rosary-church/
ชีวิต ศรัทธา เทพเจ้า. (16 ธันวาคม 2560). #เฉ่งจุ้ยจอซือ (清水祖師). Facebook. https://www.facebook.com/permalink.php/?story_fbid=901231303372724&id=325153520980508
สมาคมศาลเจ้าไทย. (24 ธันวาคม 2560). ประวัติศาลเจ้าโรงเกือก (เกือก=รองเท้า) หรือ ศาลเจ้าฮ้อนหว่อง. Facebook. https://www.facebook.com/100064319874491/posts/1972893132750999/
สุดารา สุจฉายา. (2562). “ฮ้อนหว่องกุง” ศาลเจ้าจีนแคะในหมู่บ้านฮกเกี้ยน. วารสารเมืองโบราณ. https://www.muangboranjournal.com/post/%E0%B8%AE%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%87
เสมียนนารี. (2565). วิถี “ตลาดน้อย” ยุคตั้งต้น ชุมชน “จีน” กับความเฟื่องฟูที่ถูกผนวกรวมกับย่านสำเพ็ง. ศิลปวัฒนธรรม. https://www.silpa-mag.com/history/article_12832
ภูมิ ภูติมหาตมะ. (2558). จีนย่านตลาดน้อย: ศรัทธาและเศรษฐกิจการค้าแห่งจีนสยาม. Veridian e-journal, 8(2), 2590-2600. https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/issue/view/ 3848
Spacebar. (2566). ตลาดน้อย: ย่านคนจีนทำไมมีวัดญวน?. https://spacebar.th/lifestyle/talad-noi-vietnamese-people-clue