ดังนั้นจะมาเป็นตัวร้ายเหมือนกันไม่ได้… หรือจะได้? : จากปรศุรามสู่รามสูรผ่านมุมมองคติชนวิทยา
มเหชเวอร์รี ทวีสุข
ในช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคมของประเทศไทยที่กำลังตรงกับฤดูฝนอยู่นี้ หนึ่งในตำนานการเกิดฝนทำให้เราต้องนึกถึงตำนานเมขลา-รามสูร ที่คงคุ้นหูจากแบบเรียนวิชาภาษาไทยในวัยเด็กกันมาบ้าง เรื่องของยักษ์รามสูรที่ไล่ขว้างขวานเพื่อจับนางเมขลาล่อแก้วจนเกิดเป็นฟ้าร้องฟ้าผ่า สำหรับบทความนี้เราจะพาย้อนรอยกลับไปอีกสักนิด มาทำความรู้จักกับตัวละคร “รามสูร” ผู้เป็นยักษ์ แท้จริงแล้วมีที่มาจากตัวละครอวตารภาคหนึ่งของเทพอย่างพระนารายณ์ “ปรศุราม” ผู้เป็นพราหมณ์ อะไรทำให้เกิดการสลับเป็นขั้วตรงข้ามได้ ตัวละครทั้งสองมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร เราจะมาสืบเสาะเบื้องหลังของตัวละครนี้ไปด้วยกัน
ตัวละคร “รามสูร” ชื่อนี้ปรากฏในตำนานการเกิดฝนฟ้าของไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วในวรรณคดีเรื่องเฉลิมไตรภพ[1] โดยสะท้อนผ่านโครงเรื่องยักษ์ไล่ชิงดวงแก้วจากนางเมขลาแล้วทำให้เกิดฝนฟ้าที่คนไทยรู้จักดีอยู่แล้ว ผสานกับอิทธิพลของโครงเรื่องจากนิทานที่แพร่หลายของอินเดียใต้เรื่องนางเมกไล[2] จนเกิดเป็นตัวละครยักษ์ชื่อรามสูรไล่จับนางเมขลาล่อแก้ว นอกจากนี้เรายังพบรามสูรในรามเกียรติ์ ฉบับรัชกาลที่ 1 ด้วย ทั้งตอนรามสูรชิงแก้วเมขลา และตอนรามสูรท้ารบพระราม ทำให้ตัวละครรามสูรของไทยนั้นมีส่วนประกอบสร้างจากนิทานอินเดียด้วย ถึงอย่างนั้น ชื่อ ‘รามสูร’ กลับไม่พบในวรรณคดีของอินเดียเลย ยักษ์รามสูรที่คนไทยรู้จักจึงเป็นตัวละครที่เรารับมาแต่ชื่อของ “ปรศุราม” รามผู้มีขวานเป็นอาวุธ[3] ซึ่งปรากฏอยู่ในการรับรู้เทวตำนานอินเดียอยู่แล้ว และคงเหลือเค้าโครงชื่อเดิมไว้เพียงคำว่า “ราม” ของรามสูร
ที่มาภาพ: https://www.finearts.go.th/museumstorage/view/42638-นางเมขลาล่อแก้ว
หากมองกลับไปที่ตัวละครต้นแบบ “ปรศุราม” เป็นตัวละครที่ไม่ปรากฏในวรรณคดีไทยเรื่องใดเลย ทั้งในนารายณ์สิบปาง ฉบับโรงพิมพ์หลวง และโคลงนารายณ์สิบปาง จารึกที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จากบันทึกของประพันธ์ สุคนธะชาติ ให้ความเห็นว่าการบันทึกอวตารของพระนารายณ์ในเอกสารเหล่านั้น อาจมาจากการให้ความสำคัญต่อปางอวตารของพระนารายณ์ที่ต่างกันในสังคมวัฒนธรรมนั้น กล่าวคือ หากเห็นว่าตอนใดที่มีความสำคัญสอดคล้องกับสภาพสังคมในช่วงเวลาดังกล่าว พราหมณ์จึงจะยกมาเล่า[4] ทำให้ “ปรศุรามาวตาร” ไม่ได้บันทึกอยู่ในนารายณ์สิบปางของหนังสือไทย แต่คนไทยมารู้จักปางอวตารนี้จากลิลิตนารายณ์สิบปางของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลมาจากหนังสือฉบับภาษาอังกฤษ Hindu Mythology by J.W. Wilkins ซึ่งตรงกับการเรียงลำดับปางอวตารที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในแบบฉบับฮินดู[5] ดังนั้นการที่ปรศุรามไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในอวตารของพระนารายณ์ในสังคมไทยช่วงหนึ่ง อาจมาจากพราหมณ์ไทยที่เห็นว่าเป็นปรศุรามเป็นพราหมณ์ที่มีนิสัยรุนแรง ตามตำนานก็แสดงความโหดเหี้ยมถึงกับเคยฆ่าล้างวรรณะกษัตริย์จนสิ้น จนได้รับฉายาว่า “น๎ยักษ” เป็นภาษาสันสกฤตที่แปลว่า “ต่ำ” ทำให้เข้าใจผิดกลายเป็นคำว่า “ยักษ” ได้ จึงถูกทำให้เป็นยักษ์ในรามสูรเสียเพราะลักษณะนิสัยก็บ่งชี้ให้เป็นอย่างพวกยักษ์มารได้นั่นเอง[6]
ที่มาภาพ: https://mahabore.wordpress.com/2014/06/05/parasurama-in-the-ramayana/
ยักษ์รามสูรที่ไล่กับนางเมขลาล่อแก้วนั้นจึงกล่าวได้ว่าไม่ใช่โครงเรื่องที่รับจากตำนานของปรศุรามอย่างแน่นอน เป็นเพียงการสร้างชื่อแบบอินเดียแต่ดำเนินเรื่องแบบไทย[7] แม้ตัวละครทั้งสองตัวนี้มีส่วนที่คล้ายกันหลายอย่าง เช่น มีนิสัยดุร้าย มีขวานเป็นอาวุธ และมีเหตุการณ์ท้าสู้กับพระรามหลังอภิเษกกับนางสีดา ซึ่งเราจะวิเคราะห์เหตุการณ์ดังกล่าวที่เป็นส่วนที่ทำให้เราเห็นได้ชัดว่ารามสูรที่สู้กับพระรามได้รับเค้าโครงตัวละครมาจากปรศุราม อธิบายได้จากการปรากฏตัวของรามสูรในรามเกียรติ์ ฉบับรัชกาลที่ 1 ตอนพระรามรบรามสูร ตรงกันกับรามยณะ ฉบับฮินดู คือ ปรศุรามท้าลองฤทธิ์กับพระราม[8] การทับซ้อนกันของเหตุการณ์นี้จะชี้ให้เห็นว่าการนำรามสูรมาแทนที่ปรศุรามถือเป็นการปรับให้เข้ากับตำนานนิทานตามแบบฉบับไทยมากยิ่งขึ้น
|
ปรศุรามท้าลองฤทธิ์กับพระราม |
รามสูร ในรามเกียรติ์ |
จุดเริ่มต้น |
พระรามอภิเษกกับนางสีดา |
พระรามอภิเษกกับนางสีดา |
เดินทางออกจากเมืองมิถิลา |
เดินทางออกจากเมืองมิถิลา |
|
สาเหตุในการท้าประลอง |
พระรามก่งธนูพระศิวะจนหัก |
ต้องการเป็น ‘ราม’ ผู้เดียวที่ยิ่งใหญ่ |
- |
อยากได้นางสีดา |
|
การท้าประลอง |
พระรามก่งธนูของปรศุรามที่ได้จากพระนารายณ์และขึ้นศรได้โดยง่าย |
พระรามยิงธนูปะทะศรและขวานของรามสูรจนสิ้นฤทธิ์ |
พระรามแผลงศรทำลายภูมิฌาณที่ปรศุรามบรรลุถึงแล้ว |
- |
|
การยอมรับ |
ปรศุรามเห็นถึงพลานุภาพของพระนารายณ์ในพระราม |
รามสูรเห็นพระนารายณ์ในร่างพระราม |
จุดจบ |
ปรศุรามยกธนูให้พระราม |
รามสูรยกธนูให้พระราม |
พระรามฝากธนูไว้ที่พระวรุณ[9] และกลับสู่เมืองอโยธยา |
พระรามฝากธนูไว้ที่พระพิรุณ และกลับสู่เมืองอยุธยา |
จากตารางเป็นการจำแนกข้อมูลโดยใช้โครงสร้างหลักของนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ[10] เหตุการณ์ท้าประลองกันเกิดหลังจากจากตอนได้นาง (พระรามอภิเษกกับนางสีดาแล้ว) เป็นตอนที่ถือว่ามีความสำคัญในการสร้างวรรณคดีไทยอย่างยิ่ง กาจำแนกข้อมูลแบบนี้จึงเหมาะที่จะนำมาใช้อธิบายรามเกียรติ์ฉบับของไทย สามารถเขียนเป็นสูตรโครงสร้างตามทฤษฎีโครงสร้างนิทานของวลาดิมีร์ พรอพพ์ ได้ดังนี้
Wm ⭡ A ฉ A16.1 H I F ⭣
A |
หมายถึง |
ตัวเอกได้พบกับตัวโกง |
A16.1 |
หมายถึง |
ตัวโกงต้องการภรรยาของตัวเอก |
⭡ |
หมายถึง |
ตัวเอกเดินทางออกจากเมือง |
F |
หมายถึง |
ตัวเอกได้ของวิเศษ |
H |
หมายถึง |
ตัวเอกต่อสู้กับตัวโกง |
I |
หมายถึง |
ตัวเอกชนะตัวโกง |
Wm |
หมายถึง |
การได้นาง/การแต่งงาน/การขึ้นครองบัลลังก์ |
ฉ |
หมายถึง |
พฤติกรรมการอิจฉา |
⭣ |
หมายถึง |
ตัวเอกเดินทางกลับเมือง |
จะเห็นว่าหลังจากพระรามผ่านการทดสอบความสามารถแล้วได้อภิเษกกับนางสีดา (Wm) แล้วจึงเดินทางออกจากเมืองมิถิลา (⭡) ทำให้เผชิญหน้ากับตัวร้ายคือรามสูรหรือปรศุราม (A) สาเหตุในการท้าประลองของรามสูรคืออยากจะเป็น “ราม” หนึ่งเดียวที่เก่งกาจ ตรงกับอนุภาคของตัวโกงที่มีพฤติกรรมการอิจฉา (ฉ) เป็นลักษณะเฉพาะของนิทานไทย ทั้งยังเป็นตัวโกงที่มีพฤติกรรมต้องการภรรยาของตัวเอก (A16.1) ต้องการแย่งชิงนางสีดา แล้วพระรามจึงต่อสู้กับรามสูรหรือปรศุราม (H) ได้รับชัยชนะ (I) ได้รับของวิเศษคือธนู (F) และเดินทางกลับสู่เมืองอยุธยา (⭣)
ที่มาภาพ : https://mahabore.wordpress.com/2014/06/05/parasurama-in-the-ramayana/
การท้าประลองเป็นส่วนที่น่าสนใจจุดหนึ่ง เพราะเป็นส่วนที่ทำให้แบบเรื่องฉบับไทยและอินเดียต่างกัน จะเห็นว่าการประลองของพระรามกับปรศุรามนั้นเป็นการประลองที่ไม่ถึงกับรบพุ่ง ด้วยปรศุรามเคยได้ปฏิญาณตนแล้วว่าจะไม่จับอาวุธมาทำร้ายวรรณะกษัตริย์อีก ตำนานปรศุรามในทศอวตารนั้นกล่าวไว้ว่า ปรศุรามเคยสังหารวรรณะกษัตริย์จนหมดโลกแล้วครั้งหนึ่งทำให้ต้องเกิดพิธีนิโยค[11] ตำนานนี้จึงมีนัยสื่อถึงวรรณะพรามหณ์ที่ใช้แสดงสิทธิชอบธรรมยกตนสูงกว่าวรรณะกษัตริย์ด้วย ในรามยณะจึงจะได้เห็นพระรามแสดงท่าทีนอบน้อมต่อปรศุรามเมื่อต้องเผชิญหน้า อีกทั้งยังแฝงด้วยการข่มอำนาจกันระหว่างลัทธิไวศณพและไศวะ เพราะปรศุรามก็ทราบมาว่าพระรามหักธนูของพระศิวะในพิธียกศิลป์ไปแล้ว ตัวปรศุรามแม้เป็นอวตารแห่งพระนารายณ์แต่ก็เป็นผู้ภักดีต่อพระศิวะอย่างที่สุด[12] เป็นเหตุให้ไม่พอใจที่พระรามยกธนูแห่งพระศิวะและก่งจนหักได้ ปรศุรามจึงตั้งใจจะท้าทายอำนาจด้วยธนูแห่งพระนารายณ์ที่ทรงพลังเท่ากันอีกครั้ง อย่างไรเสียพระรามไม่ได้แสดงพลานุภาพถึงขึ้นทำลายธนูแห่งพระวิษณุอย่างที่ทำกับธนูของพระศิวะ และเมื่อพระรามก่งธนูและขึ้นสายธนูได้โดยง่ายแต่ไม่โจมตีที่ปรศุรามเพราะเป็นพรามหณ์ซึ่งควรได้รับการเคารพตามวรรณะ พระรามก็ได้ยิงศรไปที่ผลของการภาวนาที่ปรศุรามได้บรรลุมาแล้วแทนการโจมตีที่กายให้เกิดการเสียเลือดเนื้อ ในประเด็นนี้รัชกาลที่ 6 ทรงให้ความเห็นว่าการลงโทษต่อรามสูรในฉบับไทยเป็นวิธีการลงโทษแบบทางโลก กล่าวได้ว่า มาจากผลของการริษยาและความโลภในแบบของยักษ์ที่เป็นอมนุษย์ แต่วิธีการที่พระรามลงโทษกับปรศุรามเป็นการลงโทษที่พ้นวิสัยของเรื่องทางโลกไปแล้ว ซึ่งจะสะท้อนถึงอหังการที่เป็นตัวขัดขวางไม่ให้พบมรรคาสู่อาตมัน จึงสะท้อนให้เห็นว่าในรามยณะที่ใช้ตัวละครพราหมณ์ท้าประลองกับกษัตริย์ก็ได้แฝงธรรมมะที่ลึกซึ้งไว้ด้วย ดังกล่าวมานี้จึงเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับสังคมวัฒนธรรมอินเดียอย่างมาก ทำให้ต้องกลับมาที่การประลองของพระรามและปรศุรามอีกครั้งเพื่อวิเคราะห์หาตำนานส่วนที่สัมพันธ์กับสังคมวัฒนธรรมไทยบ้าง
แม้ปรศุรามถูกเข้าใจว่าเป็นยักษ์จนกลายเป็นรามสูรในรามเกียรติ์ฉบับไทยไปแล้ว การดัดแปลงตัวละครจากปรศุรามสู่รามสูรเป็นการปรับให้ตัวละครเหมาะกับลักษณะเฉพาะทางสังคมของวัฒนธรรมไทย กล่าวคือ รามเกียรติ์เป็นวรรณคดีที่เข้าแบบนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ เรื่องหนึ่ง มีตัวเอกที่ถูกชิงนาง แล้วต่อสู้กับตัวโกงจนได้รับชัยชนะ ในตอนย่อยที่ตัวเอกต่อสู้กับตัวโกง การเปลี่ยนจากต้องปะทะกับพราหมณ์ดุร้ายกลายเป็นยักษ์ ทำให้ตัวโกงเป็นตัวละครที่มีพฤติกรรมร้ายได้อย่าง ‘แบน’ ขึ้นและแสดงพฤติกรรมอิจฉากับพฤติกรรมอยากได้ภรรยาของตัวเอกเข้าแบบของโครงสร้างนิทานไทย ทั้งยังเสริมด้วยความพาลของยักษ์ในนิทานที่ผูกอยู่กับการรับรู้ของคนไทยอยู่แล้ว เมื่อมีการประลองของพระรามกับรามสูร การต่อสู้ด้วยอาวุธในสถานะของตัวเอกเป็นคนกับตัวโกงเป็นยักษ์ก็พบได้ทั่วไปในสูตรโครงเรื่องนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ ของไทย จึงเป็นเหตุผลที่พอจะยอมรับได้มากกว่าให้พราหมณ์มาท้ารบกับตัวเอก
ด้วยวิธีการศึกษาดังกล่าว ทำให้เห็นส่วนประกอบสร้างของตัวละครสองตัวที่มาจากนิทานตำนานต่างที่กัน ถูกปรับบางตอนให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของแต่ละวัฒนธรรมมากขึ้น มีพฤติกรรมเฉพาะที่พบในแต่ละวัฒนธรรมเป็นส่วนที่แสดงอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมนั้นไว้ อีกทั้งพฤติกรรมตัวละครก็มีส่วนเป็นปัจจัยในการกำหนดกรอบของเรื่องให้อยู่ในประเภทของนิทาน แต่ยังคงความเป็นสากลของพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้เรายังเห็นความสืบเนื่องต่อกัน จนปรากฏเป็นตัวละครรามสูรอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
บรรณานุกรม
เจียระไน วิทิตกูล. (2024). เอกสารประกอบการสอน เทวตำนานอินเดียในวัฒนธรรมไทย.
กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย
ประพันธ์ สุคนธะชาติ. (2511). นารายณ์สิบปางและพงศ์ในเรื่องรามเกียรติ์. โรงพิมพ์พระจันทร์
เปรมวัฒนา สุวรรณมาศ. (2560). "เฉลิมไตรภพ": การศึกษาแนวคิดและกลวิธีสร้างสรรค์.
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก. (2515). บทละครเรื่องรามเกียรติ์. (พิมพ์ครั้งที่ 6).
สำนักพิมพ์แพร่พิทยา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ. (2503). บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์. (พิมพ์ครั้งที่ 1, 2000). โรงพิมพ์คุรุสภา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ. (2503). พระเป็นเจ้าของพราหมณ์. วัชรญาณ.
https://vajirayana.org/พระเป็นเจ้าของพราหมณ์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ. (2515). อธิบายและอภิธานในหนังสือนารายณ์สิบปาง.
โรงพิมพ์มหามกุฎวิทยาลัย
พิชญาณี เชิงคีรี. (2544). โครงสร้างนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ. ใน ศิราพร ณ ถลาง (บรรณาธิการ),
ไวยากรณ์ของนิทาน การศึกษานิทานเชิงโครงสร้าง. (พิมพ์ครั้งที่1, 500, หน้า49-71). คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เสฐียรโกเศศ. (2503). เมืองสวรค์และผีสางวิทยา. สำนักพิมพ์แพร่พิทยา
เสฐียรโกเศศ. (2507). เมขลา-รามสูร. โรงพิมพ์การพิมพ์พาณิชย์
อภิรักษ์ กาญจนคงคา. (2024). นารายณ์อวตาร ตอนที่ 6 ปรศุรามาวตาร. Huexonline.
https://huexonline.com/knowledge/20/86/
Damodar Das. (2021). Parshuram angry with ram | The right vision to see Ramcharitamanas.
Spiritmeaning.wordpress. https://spiritmeaning.wordpress.com/2021/03/07/parshuram-angry-with-ram/
Prabhakar. (2019). The day when Parshuram crossed roads with Rama. Blissedsoul.
https://blissedsoul.com/the-day-when-parshuram-crossed-roads-with-rama/
Sagar World Team. (n.d.) Parashuram – Vishnu’s Angry avatar. Blog.sagarworld.
https://blog.sagarworld.com/itihaas/ramayan/parshuram-vishnus-angry-avatar/
[1] (เปรมวัฒนา สุวรรณมาศ, 2560)
[2] (เสฐียรโกเศศ, 2507)
[3] ปารศุ แปลว่า ขวาน
[4] (ประพันธ์ สุคนธะชาติ, 2511)
[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า7
[6] (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2515)
[7] (เปรมวัฒนา สุวรรณมาศ, 2560, หน้า 14)
[8] ในที่นี้จะใช้ตำนานฉบับหนังสือ บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ และหนังสือ อธิบายและอภิธานในหนังสือนารายณ์สิบปาง พระนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ซึ่งแปลมาจากภาษาสันสกฤต
[9] พระวรุณ หรือ พระพิรุณ เทพแห่งฝนฟ้า
[10] (พิชญาณี เชิงคีรี, 2542)
[11] พิธีนิโยค คือ การรับภรรยาของญาติที่เป็นหม้ายมาเป็นภรรยา เพื่อสืบวงศ์ตระกูล
[12] ขวาน คือ อาวุธหลักของปรศุรามที่ได้รับจากการบำเพ็ญภาวนาต่อพระศิวะ