รังดา (Rangda)
เทวีของภูติผี ปีศาจ และแม่มดแห่งเกาะบาหลี
ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 ศาสนาฮินดูได้เข้ามาเผยแผ่ในบาหลีและกลายเป็นศาสนาหลักของคนส่วนใหญ่ ต่อมาเมื่อชาวยุโรปเริ่มขยายอิทธิพลทางทะเลเข้ามาล่าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-19 และสร้างความกดดันทางการเมืองแก่ภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่งด้วยรูปแบบบริษัทการค้าโพ้นทะเลที่มีกองทัพดัทช์สนับสนุน กระทั่ง ค.ศ. 1911 เกาะบาหลีก็ได้ตกเป็นของชาวดัทช์ และยังคงเป็นอาณานิคมเรื่อยมาจนกระทั่งถึง ค.ศ. 1947 หมู่เกาะที่ปัจจุบันคือประเทศอินโดนีเซียก็ได้รับอิสรภาพ
(ภาพแผนที่ของเกาะบาหลี
ที่มา: https://www.facebook.com/share/ZrtFg621kAvANy6a/)
แม้ว่าหมู่เกาะเหล่านี้ี่ได้รับวัฒนธรรมการปกครองแบบเจ้าอาณานิคมชาวยุโรป แต่อารยธรรมแบบยุโรป ก็มิอาจลบล้างวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวบาหลีลงได้ โดยเฉพาะกับความศรัทธาในศาสนาฮินดู ด้วยเหตุนี้ ผู้คนชาวบาหลียังคงดำรงวัฒนธรรมดั้งเดิม ที่ยังมีการทำพิธีกรรมทางศาสนาอย่างสม่ำเสมอ กระทั่งวันนี้บาหลีได้กลายเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเกาะแห่งเทพเจ้าทางศาสนาฮินดู จุดเด่นทางความเชื่อที่หลอมรวมระหว่างความเชื่อท้องถิ่นกับศาสนาฮินดูนั้น ได้เผยออกมาในรูปแบบการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวเกาะบาหลีที่เรียกว่า “ระบำบารอง” (Barong Dance) ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงที่บอกเล่าเรื่องราวของความดีและความชั่ว โดยให้บารอง (Barong) สัตว์ในตำนานมีรูปร่างคล้ายสิงโต หลังอานยาวและหางงอนโง้ง เป็นสัญลักษณ์แทนวิญญาณดีงาม ซึ่งเป็นผู้ปกปักษ์รักษามนุษย์ ที่ต้องคอยต่อสู้กับรังดา (Rangda) ตัวละครที่เป็นตัวแทนวิญญาณชั่วร้าย ฉะนั้น ในบทความนี้จะกล่าวถึงความเป็นมาของรังดา (Rangda) เทวีของภูติผี ปีศาจ และแม่มดแห่งเกาะบาหลี
(ภาพการแสดงระบำบารอง
ที่มา: https://www.kkday.com/th/product/144226-barong-and-keris-balinese-culture-dance-show-ticket-bali-indonesia)
(ภาพการแสดงระบำบารอง
ที่มา: https://www.blockdit.com/posts/5eb1435842256f18f624ec9b)
รังดา (Rangda) ในภาษาชวา แปลว่า "หญิงม่าย" ถือได้ว่าเป็นเทวีของเหล่าภูติผี ปีศาจ และแม่มด เป็นตัวแทนแห่งความชั่วร้ายตามตำนานของชาวบาหลี โดยเชื่อกันว่านางมีรูปร่างหน้าตาน่าเกลียด เป็นรูปลักษณ์ของหญิงชราที่โป๊เปลือย ดวงตาน่าสยดสยอง ลิ้นยาวห้อย ผมยาวรุงรัง หน้าอกหย่อนยาน และกรงเล็บยาวเฟื้อย อีกทั้งยังเป็นผู้นำกองทัพของปีศาจร้ายเข้าต่อสู้กับบารอง
(ภาพชุดและหน้ากากรังดาใช้ในการประกอบระบำบางรอง
ที่มา: National Museum of Ethnology, Osaka - Rangda)
มีเรื่องราวเล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้น รังดาเป็นพระราชินีของพระมหากษัตริย์องค์หนึ่ง แต่รังดาเป็นผู้นิยมเวทมนตร์ตันตระแบบฝ่ายซ้าย รังดาจึงถูกเนรเทศออกจากเมือง เมื่อเวลาผ่านไป รังดาจึงกลับมาแก้แค้นโดยรวบรวมศิษย์ที่เป็นสตรีมาทำพิธีบูชาเจ้าแม่กาลีร่ายมนตร์สาปแช่งให้เกิดโรคภัยจนผู้คนล้มตาย อันเป็นเหตุให้อาณาจักรสูญสลาย นอกจากนี้ ชาวบาหลีก็มีเทศกาลที่เกี่ยวเนื่องกับรังดา กล่าวคือ ในปัจจุบันหากเกิดเภทภัยขึ้นที่เกาะบาหลี ชาวบาหลีจะทำพิธีทรงเจ้าแม่รังดาเพื่อให้เจ้าแม่เผชิญหน้ากับบารอง โดยในตอนท้ายนั้น ขณะที่ชายหนุ่มผู้เป็นร่างทรงของบารอง กำลังจะใช้กริชแทงรังดา นางรังดาจะร่ายมนตร์ให้กริชนั้นกลับไปหวนกลับไปแทงบารอง แต่ก็ไม่เป็นผลได้ เพราะอำนาจของบารอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความดี ย่อมที่จะชนะความชั่วร้ายของรังดา
(ภาพหน้ากากรังดา
ที่มา: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน))
แหล่งอ้างอิง
1. https://www.anurakmag.com/travel/05/11/2023/belief-faith-of-bali
2. https://www.facebook.com/thirumalaigalleria
3. https://www.facebook.com/aseanculturalcenter/posts/pfbid021Sh7n6GYmCkQYqrW3Deitbuzdnao4AanpEKr7Tvdxrsz16rBW4tYzuYz2LrJE8H2l?__tn__=%2CO*F
4. https://www.royalparkrajapruek.org/Knowledge/view/339