เครื่องมือ 7 ชิ้น หรือเครื่องมือศึกษาชุมชน 7 ชิ้น พัฒนามาจากเครื่องมือของนักมานุษยวิทยาที่ใช้ศึกษาวิถีชุมชนในบริบทต่างๆ แล้วปรับประยุกต์ให้ใช้งานง่าย ได้ผล และสนุก เหมาะกับการทำงานร่วมกันระหว่างคนในชุมชนและนอกชุมชน การรวบรวมและนิยามครั้งแรกเกิดขึ้นเพื่อใช้ในงานมานุษยวิทยาการแพทย์และสาธารณสุขชุมชน ต่อมาเป็นที่แพร่หลายในหลากหลายสาขา และหลากหลายแวดวง บางครั้งก็เรียกเครื่องมือจัดการข้อมูลทางมานุษยวิทยา
เครื่องมือ 7 ชิ้นมีอะไรบ้าง...
. . .
แผนที่เดินดิน: คืออะไร ทำอย่างไร
แผนที่เดินดินเป็นเครื่องมือสำรวจชุมชน ทำให้เข้าใจพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่ทางสังคม และความสัมพันธ์ที่ผู้คนมีต่อพื้นที่ต่างๆ ในชุมชน ก็จะสามารถทำให้เห็นภาพรวมของชุมชนอย่างรวดเร็ว และได้ข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนได้มากกว่าการรังวัด ทำพิกัด แผนที่ตั้งโต๊ะ หรือแผนที่ดิจิตอล เพราะเราต้องการเห็น "พื้นที่ทางสังคม" ไม่ใช่ "พื้นที่ทางกายภาพ" เช่น พื้นที่และขอบข่ายอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่เสี่ยงทางสุขภาพ พื้นที่ของอำนาจ พื้นที่ของผู้หญิง พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข่าวเม้าท์นินทา พื้นที่ของวัยรุ่น หรือแม้พื้นที่ของคนชายขอบคนยากไร้หรือคนจน
การเขียนแผนที่เดินดินอาจไม่สัมพันธ์กับระบบพิกัดและมาตราส่วน แต่สัมพันธ์กับความโยงใยของผู้คนและสถานที่ในชุมชนอย่างซื่อตรง เพื่อนำเสนอเรื่องราวว่าพื้นที่หนึ่งๆในชุมชนมีใครอยู่บ้างและใช้ชีวิตร่วมกันอย่างไร ยกตัวอย่าง บ่อน้ำ ลานเลี้ยงวัวควาย ศาลเจ้าหรือวัดประจำชุมชน ศาลาประชาคม สถานที่เหล่านี้มีใครบ้างมาใช้ประโยชน์ อย่างไร และตลอดเวลาหรือไม่ หรือแม้แต่พื้นที่เพาะปลูก หรือกลุ่มบ้าน คุ้ม ป๊อกของคนในเครือญาติเดียวกันในชุมชนดังกล่าวนั้นต่างตั้งบ้านติดกันหรือไม่ เชื่อมหากันอย่างไร หากอยู่ไม่ติดกันในทางกายภาพ
นอกจากนี้ ลองจินตนาการแผนที่แบบอื่นๆ ที่สามารถบันทึกชีวิตข้ามพ้นพื้นที่กายภาพของชุมชน หรือ แผนที่ที่มีประธานเป็นสิ่งของ หรือสัตว์ ดูบ้างก็อาจจะได้ไอเดียแปลกใหม่ได้นะ
ผังเครือญาติ: คืออะไร ทำอย่างไร
ผังเครือญาติเป็นแผนผังที่แสดงความสัมพันธ์แบบเครือญาติ โดยใช้ "สัญลักษณ์"=คน และ "เส้น"=ความสัมพันธ์ ทั้งทางสายเลือด การแต่งงาน การอยู่ร่วมกันฉันคู่ครอง และการรับเป็นบุตรบุญธรรม ครอบครัวแบบไหนเหมาะจะทำผังเครือญาติ อาจไม่มีคำตอบที่ตายตัว อย่างไรก็ดี ครอบครัวและการนับญาติในสายตาของคนในชุมชนที่เราศึกษาต่างหากที่สำคัญที่สุด ซึ่งอาจเป็นครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียวหรือหลายผัว-หลายเมีย ครอบครัวที่มองข้ามเส้นแบ่งเรื่องเชื้อชาติ/อายุ/ชนชั้น/เพศวิถี หรือแม้แต่ครอบครัวที่อิงตามความสนใจหรืออาชีพร่วมกันแม้ไม่ใช่สายเลือดหรือแต่งงาน
ผังเครือญาติช่วยให้ทำความเข้าใจคนและโครงสร้างความสัมพันธ์ของชุมชนผ่านคนในครอบครัว อีกทั้งช่วยสร้างความคุ้นเคยระหว่างผู้เก็บข้อมูลกับคนในชุมชนได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคำถามที่เราต้องการหาคำตอบ วิธีทำแผนผังเครือญาติก็จะใส่สัญลักษณ์ต่างๆ ที่แสดงคำตอบเหล่านั้นลงไปด้วย เช่น การอยู่อาศัยร่วมชายคาเป็นครอบครัวขยายหรือแยกบ้านเป็นครอบครัวเดี่ยว การสืบเชื้อสายหรือการนับญาติฝ่ายพ่อหรือแม่ แต่งเข้าหรือแต่งออก สิทธิและอำนาจในครอบครัว การส่งทอดสืบต่อทักษะบทบาทอาชีพจากรุ่นสู่รุ่น การส่งผ่านผีประจำตระกูล หรือแม้แต่การส่งต่อโรคทางพันธุกรรม ความใกล้ชิดและการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง ฉะนั้นแล้ว อย่าลืม! ทำอธิบายสัญลักษณ์ของแผนผังไว้ด้วยล่ะ
โครงสร้างองค์กรชุมชน: คืออะไร ทำอย่างไร
โครงสร้างองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือที่มีไว้เพื่อทำความเข้าใจระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของคนในชุมชนซึ่งโยงใยเป็นโครงสร้างหรือเครือข่ายความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ทางสังคม ความสัมพันธ์ทางการเมือง การวิเคราะห์โครงสร้างองค์กรชุมชนยังช่วยให้เห็นศักยภาพของชุมชน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายการทำงานในชุมชนอีกด้วย
การทำโครงสร้างองค์กรชุมชนไม่ได้จบเพียงที่กรรมการหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนชุมชน หรือการรวมกลุ่มอาชีพ กลุ่มผู้สูงอายุอะไรก็ตามที่ทางรัฐจัดตั้งให้ เพราะว่าคนหนึ่งคนอาจมีสถานะ บทบาท หน้าที่ในระดับต่าง ๆ ที่ซับซ้อน ฉะนั้น ต้องทำความเข้าใจการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการด้วย เช่น กลุ่มเล่นแชร์ กลุ่มนายทุน กลุ่มแรงงาน กลุ่มหัวคะแนน กลุ่มสภากาแฟ กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเพศที่สาม กลุ่มตามอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ หรือกลุ่มศรัทธาวัด ซึ่งเชื่อมโยงกันข้ามกลุ่มผ่านคนใดคนหนึ่งในกลุ่มหรือแยกกันอยู่ อย่างไร
แน่นอนว่า หากทำข้อมูลเป็นแผนผังของทุกกลุ่มก็อาจมากเกินไป คุณต้องทำความเข้าใจโครงสร้างของชุมชนก่อนแล้วจึงค่อยทำแผนผัง แล้วตอนนั้นแหละแผนผังที่คุณสร้าง จะขึ้นอยู่กับขอบเขตการศึกษาชุมชนของคุณ การทำความเข้าใจก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงแต่ต้องหมั่นสังเกตจากการชวนถามด้วยคำถามง่ายไปจนถึงคำถามเชิงลึก เช่น ความเป็นมาของกลุ่ม เป้าหมายของกลุ่ม กลุ่มนี้เป็นกลุ่มทางการหรือไม่ทางการ มีพื้นที่เฉพาะไหมหรือโยกย้ายที่พบปะได้อิสระ การทำกิจกรรมในนามสมาชิกกลุ่ม ความสัมพันธ์ของเหล่าสมาชิก หรือแม้แต่เชิงลึกเช่น ใครมีบทบาทตัวจริง ใครเข้าถึงทรัพยากรและควบคุมแจกจ่าย รวมไปถึงการยอมรับของคนในชุมชนที่มีต่อกลุ่มหรือสมาชิกคนในของกลุ่มทางการและไม่ทางการที่เราพบเจอ
ระบบสุขภาพชุมชน: คืออะไร ทำอย่างไร
ระบบสุขภาพชุมชนเป็นเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์และเชื่อมโยงความคิดหรือความรู้เกี่ยวกับ “โลกสุขภาพ” โดยใช้แผนผังความคิดเพื่อให้เห็นภาพรวมและเข้าใจสิ่งที่ค้นพบจากการทำงานตามประเด็นยิ่งขึ้น เห็นความหลากหลายของวัฒนธรรมสุขภาพ เข้าใจวิถีความเชื่อ วิธีปฏิบัติ และพฤติกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพของคนในท้องถิ่น โดยต้องครอบคลุมทั้ง คน เวลา สถานที่ สิ่งของ รวมไปถึงเหตุการณ์
การทำระบบสุขภาพชุมชนจะต้องคำนึงหลักสำคัญ คือ ชุมชนมีกิจกรรมสุขภาพที่ต้องบันทึกและสังเกตอย่างเป็นขั้นตอนในมิติต่าง กล่าวคือ ความคิดเกี่ยวกับสุขภาพของผู้คนนั้นหลากหลายมาก ทั้งทางภูมิปัญญาพื้นบ้านไปจนถึงพิธีกรรม โดยไม่เอาทัศนคติการแพทย์สมัยใหม่มาตัดสินถูก-ผิด สิ่งเหล่านี้เรียกว่าพหุลักษณ์ทางการแพทย์ ฉะนั้นแล้ว หากเข้าใจระบบสุขภาพก็จะเข้าใจวิถีชุมชนได้นั่นเอง
เครื่องมือนี้จัดทำโดยใช้เทคนิคผังความคิด mindmap เพื่อประมวลเนื้อหาที่ได้โดยใช้แกนกลางเป็นประเด็นที่เราสนใจ สามารถประยุกต์ใช้กับระบบอื่นในชุมชนได้ เช่น ระบบการท่องเที่ยวชุมชน ระบบการจัดการภัยพิบัติชุมชน ระบบหนี้สินชุมชน หรือประยุกต์ใช้เพื่อจัดการข้อมูลจากสนาม วิเคราะห์ภาพรวมชุมชนและพัฒนาโจทย์ได้ด้วย
ปฏิทินชุมชน: คืออะไร ทำอย่างไร
ปฏิทินชุมชนเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เข้าใจช่วงเวลาของกิจกรรมหรือเหตุการณ์ของชุมชนที่เกิดขึ้นในรอบปี รอบเดือน หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ตามการนับของชุมชน ออกมาเป็นรูปแบบตารางเวลา หรือผังวงกลมที่แบ่งเวลาออกเป็นส่วนๆ เท่าๆกัน ทั้งตารางและแผนผังวงกลมนี้อาจแยกเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกิจกรรมทางสังคมประเพณีเทศกาล ก็ได้
การทำปฏิทินชุมชน ผู้ศึกษาความทำความเข้าใจกลุ่มอาชีพต่างๆ ในชุมชน ซึ่งอาจเน้นไปที่คนส่วนใหญ่หรืออาชีพที่เป็นกลุ่มเป้าหมายก็ได้ เพื่อที่จะได้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม เช่น การทำนา ทำสวน ทำไร่ พืชชนิดต่างๆ อาจเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยวไม่พร้อมกันในแต่ละเดือน การประมงต้องขึ้นอยู่กับมรสุมและเวลาน้ำขึ้นลง การทำงานรับจ้างและแรงงานอาจต้องพึ่งพาปฏิทินของชุมชนเมืองหรือปฏิทินของแหล่งงานร่วมด้วย เป็นต้น ในขณะที่กิจกรรมทางสังคมวัฒนธรม การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ งานเทศกาล งานบุญประเพณีของผู้คนในชุมชนที่จะมารวมตัวกัน ณ สถานที่ไหนก็ตามในชุมชน จึงไม่ควรมองข้าม กิจกรรมใดจัดเป็นประจำ หรือใช้สถานที่ใดประจำ หรือเป็นกิจกรรมที่สัมพันธ์กับอาชีพก็ควรรวบรวมไว้
ปฏิทินชุมชนช่วยอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีบริบท หลักสำคัญ คือ การเรียนรู้เรื่องเวลาในวิถีชีวิตชุมชน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ศึกษาชุมชนจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและสามารถวางแผนการทำงานได้อย่างสอดคล้องกับเวลาของชุมชนได้
ประวัติศาสตร์ชุมชน: คืออะไร ทำอย่างไร
ประวัติศาสตร์ชุมชนเป็นเครื่องมือที่เรียบเรียงเรื่องราว เหตุการณ์ ความเป็นมาของชุมชน ที่บอกเล่าจากมุมมองของคนในชุมชน แม้จะแตกต่างกันออกไปจากการเล่าประวัติศาสตร์แบบกระแสหลัก นั่นก็เพราะประวัติศาสตร์ชุมชนให้ความสำคัญตามการตีความของผู้เล่าแต่ละคน ที่อาจมีเรื่องของตำนาน นิทาน หรือเรื่องเล่าลือในชุมชนเข้ามาแทรกด้วย อีกทั้งความเก่าแก่ไม่ใช่หัวใจของประวัติศาสตร์ แต่ความเปลี่ยนแปลงในชุมชนต่างหากที่สำคัญ ในบางครั้งหมู่บ้านที่ก่อตั้งใหม่ไม่ถึง 50 ปี อาจมีเรื่องราวมากมายเพราะสัมพันธ์กับบริบทแวดล้อม มิติการต่อสู้กับปัจจัยภายนอก และมิติการเคลื่อนย้ายผู้คนที่เข้าออกไปมา ไม่ต่างจากชุมชนที่เก่าแก่หลายร้อยปีก็ได้
การเริ่มต้นทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ชุมชน ผู้ศึกษาอาจเริ่มได้จากบุคคลสำคัญที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาต่างๆ อย่างน้อยก็ 2 – 3 รุ่นเพื่อถอดเรื่องเล่า ความทรงจำเกี่ยวกับชุมชน ที่อาจเก็บไว้ในชื่อสถานที่ สิ่งของ คำสอน บทเพลง พิธีกรรม หรือแม้แต่เครื่องแต่งกาย แทนที่จะเป็นบันทึกเอกสารประวัติศาสตร์
การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนจะทําให้เข้าใจเรื่องราวแต่ละช่วงเวลาของชุมชน และการทำแผนผังเส้นเวลา (timeline) ขนาดใหญ่ในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้เล่าเรื่องราวบ้านตนเองได้ด้วย
ประวัติชีวิต: คืออะไร ทำอย่างไร
ประวัติชีวิตเป็นเครื่องมือที่เรียบเรียงเรื่องราวของบุคคลหนึ่งๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตที่ถ่ายทอดเป็นเรื่องเล่า หลักสำคัญของการศึกษาประวัติชีวิต คือ ทำความเข้าใจเรื่องราวชีวิตของผู้คนแล้วเชื่อมโยงเข้ากับสังคมหรือชุมชนที่คนๆ นั้นดำเนินชีวิตอยู่
หากจะจัดต้องกลุ่มบุคคลสำคัญ โดยไม่จำเป็นต้องทำประวัติของคนทั้งชุมชนแล้ว บุคคลจำนวน 4 กลุ่มนี้แหละ เป็นกลุ่มที่ควรได้รับการรู้จักและเข้าใจชีวิตมากที่สุด นั่นก็ได้แก่ 1) กลุ่มคนจนคนทุกข์ยาก 2) กลุ่มคนป่วยคนพิการ ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ อาจเน้นไปที่เรื่องราวที่น้อยคนจะรู้จัก เรื่องราวความทุกข์กายทุกข์ใจ หรือเรื่องราวความหวังในชีวิต 3) กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ อาจเน้นไปที่ประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์พิเศษที่น้อยคนในรุ่นปัจจุบันจะเคยพบเจอ และสุดท้าย 4) กลุ่มผู้นำ (ทั้งแบบทางการและไม่ทางการ) เพื่อเน้นให้เห็นความสัมพันธ์ของเขาหรือเธอที่มีต่อส่วนต่างๆ ในชุมชน รวมถึงความรู้สึกที่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่
ฉะนั้น เรื่องเล่าประสบการณ์ชีวิตจึงบอกเราได้มากกว่าเรื่องราวของคนๆ หนึ่ง แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวของชุมชน สังคม ความเป็นอยู่ และความเป็นไปในแต่ละยุคสมัยได้ด้วยนั่นเอง
. . .
แล้ววาดอย่างไร? : ระบบสัญลักษณ์ของเครื่องมือต่างๆ
. . .
หากกล่าวโดยสรุป
เครื่องมือทั้ง 7 ชิ้น อาจไม่ใช่เครื่องมือใหม่ แต่เป็นการรวบรวมเอาเครื่องมือที่หลายๆ ชุมชนมีอยู่ อาทิ แผนที่ชุมชน ผังกรรมการชุมชน การสำรวจสำมะโนประชากรและการบันทึกประวัติศาสตร์บอกเล่า รวมเข้ากับทักษะการวาดแผนที่ การวาดผังความคิด ที่บรรดานักเรียน นักศึกษา นักวิจัย ทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพต่างคุ้นเคยกันดี พอเมื่อการรวบรวมเครื่องมือเหล่านี้มาใช้พร้อมกันทั้ง 7 ชิ้น ในสนาม รวมถึงขยับขยายเชื่อมเส้น-โยงสาย และวาดสัญลักษณ์ต่างๆ ให้ครอบคลุมเรื่องราวในชุมชน มิติต่างๆ ก็จะช่วยให้เข้าใจชุมชนได้ง่ายขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
🧩 เครื่องมือ 7 ชิ้น ไม่ได้พาไปให้เห็น "ปัญหา" ของชุมชนเท่านั้น แต่ยังพาเราไปเห็น "ศักยภาพ" หรือ "ทุน" ของชุมชนอีกด้วย (ถ้าให้ทันสมัยหน่อยก็ "soft power" ของชุมชนได้) ฉะนั้น การทำความเข้าใจชุมชน ไม่ว่าจะใช้เครื่องมือใดๆ ก็ตามก็จะต้องเปิดใจว่าชุมชนต่างๆ นั้น ไม่ใช่ภาชนะว่างเปล่ารอการช่วยเหลือ ปัญหาต่างๆ ชุมชนไม่ได้แยกขาดจากกัน อีกทั้งชุมชนไม่ได้พึ่งพาแค่องค์กรใดองค์กรเดียวแต่ทว่ามีหลากหลายกลุ่มทำงานร่วมกันอยู่ และที่สำคัญยิ่งชุมชนต่างๆ ไม่ได้เหมือนกันไปหมด
🧩เครื่องมือ 7 ชิ้น มีพื้นฐานคือ "การฟัง" เรื่องราวชีวิต ผลลัพธ์ที่ได้จึงไม่ใช่เพียงข้อมูลชุมชน แต่เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของผู้คน พื้นที่ เวลา เมื่อถามเพื่อเข้าใจไม่ใช่จับผิด ก็จะเกิดเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจและความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชน
🧩เครื่องมือ 7 ชิ้น ช่วยให้การเก็บเรื่องราวของชุมชนเห็น "มิติความเป็นมนุษย์" ไม่มองหาแต่ข้อมูลเชิงปริมาณ หรือประเด็นใดประเด็นหนึ่งเพียงด้านเดียว อีกทั้งอาจช่วยให้ผู้ที่ใช้ลดอคติหรือสร้างการตระหนักต่อการพกพาทฤษฎีเข้าไปในงานภาคสนามอย่างไม่ระมัดระวังได้ด้วย
หลังลงพื้นที่และทำความเข้าใจชุมชนผ่านเครื่องมือทั้ง 7 ชิ้นแล้ว สามารถนำข้อมูลที่ได้มาช่วยในการวิเคราะห์ และวางแผนงานตามภารกิจที่ตั้งใจไว้ ไม่ว่าคุณกำลังทำโครงการใดหรืองานวิจัยใดอยู่ ผลงานของคุณก็จะเหมาะกับบริบทของพื้นที่ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ที่สำคัญ คุณก็จะสามารถดึงศักยภาพของทรัพยากรในพื้นที่ออกมาได้อย่างเต็มที่อีกด้วย
. . .
📚 อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องมือ 7 ชิ้น
🛒โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, บรรณาธิการ. วิถีชุมชนเครื่องมือ 7 ชิ้น ที่ทำให้งานชุมชนง่าย ได้ผล และสนุก (ฉบับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร). กรุงเทพฯ: ศูนย์ฯ. 2567.
[คลิก] ร้านหนังสือ - ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
🆓 โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคนอื่นๆ. วิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้น ที่ทำให้งานชุมชนง่าย ได้ผล และสนุก. พิมพ์ครั้งที่ 11. นนทบุรี: สุขศาลา. 2556.
[คลิก] ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
🆓 สรินยา คำเมือง, เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์. นักมานุษยวิทยาเดินดิน ปฏิบัติการสร้างความรู้ฉบับชุมชน. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2561.
[คลิก] ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[อ่านฟรี] Ebook - ร้านหนังสือ - ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
. . .