ประวัติความเป็นมา
ขนมใส่ไส้ หรือขนมสอดไส้ เป็นขนมไทยโบราณที่ใช้ในงานมงคล จะนิยมใช้เป็นขนมในพิธีขันหมากในสมัยโบราณ โดยเฉพาะพิธีงานหมั้นที่มีการแห่ขันหมากเพื่อไปสู่ขอเจ้าสาว ในพิธีหมั้นสมัยก่อน ขนมใส่ไส้จะถูกจัดอยู่ในขันหมากโท (ขันหมากโท เป็นกลุ่มพานที่จะใช้จัดเครื่องประกอบพิธีประเภทอาหารคาวหวานที่เป็นมงคลทั้งหลาย) ร่วมกับขนมอื่นๆ อีก 8 ชนิด ซึ่งถือเป็นการแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์และเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว คนโบราณมักจะเรียกขนมใส่ไส้หรือขนมสอดไส้ว่า ขนม 3 ไฟ ที่มาของขนม 3 ไฟ คือการทำให้สุก 3 ครั้ง ไฟที่ 1 เป็นการกวนไส้ การกวนไส้ก็จะประกอบไปด้วย มะพร้าวทึนทึกกับน้ำตาล มะพร้าวทึนทึกคือมะพร้าวที่ไม่แก่เกินไป และไม่อ่อนเกินไป แล้วจึงนำไปอบกับควันเทียน ไฟที่ 2 คือการนำกะทิมากวน เป็นการสุกครั้งที่สอง และ ไฟที่ 3 คือการนำทั้งสองมาห่อใส่ในใบตอง แล้วจึงนำไปนึ่ง เป็นการสุกสามไฟ ในอดีตขนมใส่ไส้หรือขนมสอดไส้ ตัวไส้กะฉีกของขนมจะต้องมีไส้ถึงสองเม็ด คนในสมัยโบราณถือเอาว่า ขนมใส่ไส้ เป็นขนมชนิดที่ต้องทำให้เป็นคู่ ๆ ห้ามทำไส้เม็ดเดียวเด็ดขาด ถ้ามีไส้เม็ดเดียวถือว่าไม่ดี จะถือว่าคู่บ่าวสาวที่แต่งงานนี้ จะขาดคู่อยู่กันได้ไม่นานจะต้องแยกจากกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะนำขนมใส่ไส้ ไปใช้ในงานแต่งงาน จะต้องใส่ไส้ 2 เม็ดคู่กันไป หมายถึงชีวิตคู่ที่คนสองคนต้องอยู่เคียงข้างกัน มีไส้ 2 เม็ดจึงจะถือว่าคู่รักจะรักใคร่ กลมเกลียว อยู่กันยืดยาวนานเป็นคู่กันไปตลอดจนแก่เฒ่า
ขนมใส่ไส้ไม่เพียงแต่เป็นขนมหวานที่อร่อย แต่ยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทั้งรูปลักษณ์ รสชาติ ที่สำคัญคือ มีความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน แม้ไม่มีหลักฐานที่เป็นเอกสารจดหมายเหตุที่ชัดเจน เพียงแต่มีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมา แต่เชื่อกันว่าขนมใส่ไส้มีต้นกำเนิดมาจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำมะพร้าวเหลือใช้มาแปรรูปเป็นขนมหวาน ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิต และวัฒนธรรมการกินของคนไทยในอดีตที่มักนำพืชผลทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นอาหาร ยกตัวอย่างเช่น ขนมใส่ไส้ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีความโดดเด่นเนื่องจากการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น คือ น้ำตาลโตนด และยังใช้เนื้อลูกตาลสุกมาผสมกับแป้งห่อไส้ทำให้ขนมมีสีสันสดใส และมีรสชาติหวานหอมที่เป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งยังเป็นความนิยมในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้กับขนมใส่ไส้ของจังหวัดที่มีเอกลักษณ์เด่นที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ และยังมีชุมชนที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำขนมสอดไส้ในปัจจุบันคือ ชุมชนตำบลหนามแดง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งในปัจจุบันขนมใส่ไส้ ถูกนำมาประยุกต์ให้มีลักษณะพอดีคำ สะดวกในการรับประทานได้ง่ายยิ่งขึ้น จากเดิมขนมใส่ไส้ต้องห่อใบตองคาดเตี่ยวทางมะพร้าวและนำไปนึ่ง เปลี่ยนมาใช้การต้มก้อนแป้งที่หุ้มไส้ไว้ให้สุกและกวนหน้ากะทิ แล้วนำมาหยอดในพิมพ์แทน
ส่วนประกอบของขนมสามไฟ
- ใบตอง
- ใบทางมะพร้าว (เตี่ยว)
- ไม้กลัดก้านมะพร้าว
ส่วนผสมไส้
- มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย
- น้ำตาลปี๊บ
- เกลือ
ส่วนผสมแป้งหุ้มไส้
- แป้งข้าวเหนียว
- น้ำเปล่า
ส่วนผสมตัวแป้ง
- แป้งข้าวเจ้า
- กะทิ
- เกลือป่น
- น้ำตาลทราย
เทคนิคพิเศษในการทำขนม
- เทคนิคการทำหน้ากะทิให้เข้มข้นรสชาติกลมกล่อม คือการเลือกวัตถุดิบที่สดใหม่ การเลือกใช้หัวกะทิคั้นสดจะทำให้รสชาติของหน้ากะทิ มีรสชาติกลมกล่อม เค็มมันกำลังดี
- เทคนิคการทำไส้ขนม คือการเลือกน้ำตาลมะพร้าวอย่างดี เพื่อให้ไส้ขนมมีความหอม หวาน นุ่มนวล จากน้ำตาลมะพร้าว
- เทคนิคการห่อใบตอง คือการเลือกใบตองสดใหม่ ไม่เหลือง เพื่อให้ขนมมีกลิ่นหอมของใบตอง และ การคาดทางมะพร้าว จะต้องคาดให้แน่นเพื่อไม่ให้ขนมไหลออกมา
ขนมใส่ไส้ ขนมสอดไส้ หรือขนม 3 ไฟ นอกจากจะเป็นขนมไทยโบราณที่เป็นที่นิยมของผู้คนในยุคปัจจุบันแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาและความประณีตบรรจงของคนไทยในการสร้างสรรค์อาหาร แม้ว่าขนมใส่ไส้จะมีสูตรพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนสูตรและวัตถุดิบให้แตกต่างกันไปตามทรัพยากรของแต่ละท้องถิ่น ขนมใส่ไส้ จึงนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่มีความหมายลึกซึ้ง ไม่เพียงแต่เป็นขนมหวานที่มีรสชาติอร่อยกลมกล่อมจากการผสมผสานระหว่างความหวานมันของมะพร้าวและความหอมของใบตองเท่านั้น แต่ยังมีความเป็นมาที่ยาวนานและเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยมาตั้งแต่โบราณ โดยเฉพาะการใช้ในงานมงคลของพิธีหมั้น เป็นนัยยะที่บ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์และเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาวสืบไป
รายการอ้างอิง :
- กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2559). ขนมสอดไส้.https://www.culture.go.th/culture_th/ewt_dl_link.php?nid=1292
- ผู้ชอบกินข้าวผัดหมู เป็นชีวิตจิตใจ. (ม.ป.ป.). ฝึกทำ ขนมใส่ไส้ หรือ ขนมสอดไส้ ขนมไทยโบราณ หาทานยาก.https://www.sgethai.com/article/
- รายชื่อขนมประจำท้องถิ่น ของฝากแต่ละจังหวัดในประเทศไทย. (ม.ป.ป.). http://travel.loginlike.com
- สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2560). ขนมสอดไส้. https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=596&code_db=610008&code_type=01
- Sudsukh Thavornthanasarn. (2564). ขนมใส่ไส้ชาววัง หอมอร่อย กินแล้วจะติดใจ.https://www.thavornthanasarn.com/post/ขนมใส-ไส-ชาวว-ง-หอมอร-อย-ก-นแล-วจะต-ดใจ
- Thaidessertss. (2566). ขนมใส่ไส้. https://thaidessertss.com/ขนมใส่ไส้/
สามารถรับชมคลิปวิดีโอได้ที่นี่ : https://drive.google.com/drive/folders/1-16-xpsKIdCX2JBx3UPf6EzogvEcQ_86
สามารถดูนิตยสารแบบ e-book ได้ที่นี่ : https://pubhtml5.com/wnhoe/jlsu/
จัดทำโดย นิสิตภาควิชาสารสนเทศศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในโครงการ IS SHOW CASE 2024
หัวข้อ “การเชิดชู Soft Power วัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่นสู่ชาว HUSO ของนิสิตสารสนเทศศึกษาร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแป้งท้าวยายม่อมของชุมชนมาบหม้อ จังหวัดชลบุรี”
สมาชิกกลุ่ม "ขนมสามไฟ"
64020068 นิชารีย์ ลิ้มประเสริฐ
64020179 อินทิรา อินทรีเกิด
64020874 สาวิตรี สากุลา
64020892 รสิกา ฉิมปูน
62021083 พิมพ์ณดา พัชระเมธาพัฒน์