นิทรรศการ Down the Rabbit Hole
พิพิธภัณฑ์ศิลปะ คือสถานที่เก็บรวบรวมงานศิลปะทุกประเภทเพื่อจัดแสดง และวิจัยเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษา หอศิลป์ ถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ประเภทหนึ่ง ที่รับผิดชอบบริหารจัดการผลงานศิลปะด้านศิลปะบริสุทธิ์ ซึ่งประกอบด้วย งานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ศิลปะแนวสื่อประสม ศิลปะแนวจัดวาง ศิลปะแนวประเพณี ศิลปะเชิงความคิด ศิลปะการแสดงสด เป็นต้น
หอศิลป์ในประเทศไทยแห่งหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ River City Bangkok ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ติดกับท่าเรือสี่พระยา สามารถเดินทางมาได้ด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถแท็กซี่ รถไฟฟ้า BTS (สะพานตากสิน) และ MRT (หัวลำโพง) เรือด่วนเจ้าพระยา (ธงส้ม) หรือรถประจำทาง (สาย 1, 7, 35) ภายในเป็นศูนย์รวมศิลปะและโบราณวัตถุ ผู้เยี่ยมชมสามารถมาสำรวจแกลเลอรี ชมนิทรรศการระดับนานาชาติ พบกับศิลปิน เข้าร่วมการสนทนา ชมภาพยนตร์ ประมูลชิ้นงาน เพลิดเพลินไปกับดนตรี หรือเรียนรู้ถึงคุณค่าของงานศิลปะไทยร่วมสมัย จะเล่าถึงภาพรวม จุดเด่น และเทคนิคของนิทรรศการศิลปะอย่าง Down the Rabbit Hole มาให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจไปด้วยกัน
“Down the Rabbit Hole” เป็นชื่อบทแรกในวรรณกรรม Alice’s Adventures in Wonderland หนึ่งในวรรณกรรมเยาวชนที่ประสบความสำเร็จทั้งในฐานะวรรณกรรม อนิเมชัน และภาพยนตร์ ผลงานของ Lewis Carroll ซึ่งเป็นเรื่องราวการผจญภัยของ Alice ที่ร่วงหล่นลงไปในโพรงกระต่าย และหลงเข้าไปอยู่ในดินแดนมหัศจรรย์และสะท้อนประสบการณ์อันยากลำบากของ “การเติบโต” และ “การค้นพบตัวเอง”
นิทรรศการ Down the Rabbit Hole จัดที่ RCB Galleria 3 ชั้น 2 ของ River City Bangkok เปิดให้เข้าชม ในช่วงวันที่ 8 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จัดแสดงผลงาน ทั้งสิ้น 49 ของศิลปิน 12 คน จาก 5 ประเทศ ภายในนิทรรศการได้มีกฎแจ้งว่าห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มเข้าไปซึ่งติดตั้งอยู่ที่หน้าประตูทางเข้า การจัดพื้นที่นิทรรศการได้มีการแบ่งพื้นที่จัดแสดงตามผลงานของศิลปินแต่ละคน มีผลงานศิลปะทั้งสิ้น 49 ผลงาน หลากหลายประเภท ดังนี้ ประเภทภาพวาดสีน้ำมัน ภาพวาดอะคริลิค ภาพเทคนิคสื่อผสม งานปั้นจากเรซิ่น โดยผลงานที่มาจากศิลปินคนเดียวกันจะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เช่น ผลงานของศิลปิน Lesdoublewood
จุดเด่นภายในพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ Down the Rabbit Hole คือมีการนำผลงานของศิลปินไว้บนผนังที่มีสีสันแตกต่างกัน โดยใช้สีพื้นหลังที่ขับเน้นให้ผลงานของศิลปินโดดเด่นออกมา แต่ก็ยังเป็นโทนสีที่เข้ากับผลงานของศิลปิน ทำให้เกิดจุดสนใจแก่ผู้ชมมากยิ่งขึ้น เช่น ผลงานของศิลปิน Faozee ที่มีโทนสีของผลงานเป็นสีน้ำเงิน ดำ และฟ้า เป็นหลัก การที่มีพื้นหลังเป็นสีแดงซึ่งเป็นสีคู่ตรงข้ามกับโทนสีน้ำเงิน ถือว่ามีหลักการใช้สีเข้ากัน ทำให้เกิดจุดเด่นแต่ก็ยังมีความกลมกลืนกัน
นอกจากนี้ การใช้แสงไฟสีเหลืองในการฉายไปที่บริเวณเหนือผลงานของศิลปินทุกท่าน ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ชม โดยไม่ทำให้ลักษณะสีของผลงานมีความผิดเพี้ยนไปจากเดิมมากเกินไป อีกทั้งยังมีการเปิดเพลงประกอบจากภาพยนตร์เรื่อง Alice in Wonderland เพื่อสร้างบรรยากาศ ช่วยให้มีอารมณ์ร่วมกับผลงานในนิทรรศการได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีสแตนของตัวละครจากวรรณกรรมอย่างทหารไพ่ผู้เป็นทหารของราชินีแดง ประกอบการจัดแสดงผลงานศิลปะให้ได้ชม และมีโต๊ะน้ำชาแบบตะวันตกพร้อมอุปกรณ์ดื่มชาอย่างกาน้ำชาและแก้วน้ำชาจำลอง ให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสถึงบรรยากาศของความเป็น Alice in Wonderland ได้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความปลอดภัย บางพื้นที่มีการใช้ราวกั้นในการป้องกันผลงานศิลปะที่อาจไม่ดูแข็งแรงนัก เนื่องจากราวกั้นเป็นแท่งบาง ๆ ขึงด้วยลวดบาง ๆ ที่มีความสูงอยู่ในระดับต่ำกว่าระยะสายตา ทำให้มองเห็นได้ยาก สำหรับงานปั้นที่ทำมาจากเรซิ่น มีแค่เพียงการจัดวางผลงานบนแท่นสีขาว ไม่ได้มีการป้องกันในรูปแบบอื่นเพิ่มเติม ด้วยข้อบกพร่องในข้างต้นอาจเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ผลงานศิลปะเกิดความเสียหายได้
วรรณกรรมเรื่อง Alice’s Adventures in Wonderland ได้รับความนิยมอย่างมากจนมีการดัดแปลงออกมาเป็นสื่อหลายประเภท และเป็นแรงบันดาลใจต่อนิทรรศการ Down the Rabbit Hole ผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการล้วนเกี่ยวข้องกับตัวละครหรือเหตุการณ์จากวรรณกรรมเรื่องนี้ ผลงานของศิลปินแต่ละท่าน มีเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของตนเอง ทั้งการใช้โทนสี การเลือกวัสดุ ทำให้เกิดความรู้สึกที่ต่างกันออกไป ประกอบกับเทคนิคการจัดแสดงมีส่วนช่วยในการส่งเสริมผลงานของศิลปินให้มีความโดดเด่นยิ่งขึ้น ด้วยเรื่องราวที่เป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างกับผลงานมีเอกลักษณ์ นิทรรศการนี้จึงมีความน่าสนใจและเข้าถึงผู้ชมได้ง่าย
อิชยา โกษยพงศ์
บรรณานุกรม
วรวิทย์ วศินสรากร. (2540). พิพิธภัณฑ์ศิลปะ. สารานุกรมศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 16, 55-65. https://ejournals.swu.ac.th/index.php/ENEDU/article/view/6123/5756
Bppsnaps. (2566). เที่ยวกรุงเทพ River City Bangkok แหล่งรวมงานศิลป์และนิทรรศการที่ไม่ควรพลาด!. https://travel.trueid.net/detail/j1J6NvyXVdz1
Plookpedia. (2560). หอศิลป์. https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/57487