วัฒนธรรม เป็นคำที่แปลมาจากภาษาอังกฤษ คือ Culture ที่มีรากศัพท์มาจากภาษา กรีกลาติน cultive ที่แปลว่า ปลูกฝัง
พลูตาร์ช (Plutarch) นักปราชญ์ชาวกรีกท่านหนึ่ง ได้เปรียบเทียบให้ เห็นภาพได้ชัดเจนว่า หากต้องการจะได้ผลไม้ (คนในสังคม) ก็ต้องมีเมล็ดพืช (คนตามสภาวะธรรมชาติ) มีเนื้อดิน และมีเกษตรกรที่มีความรู้เฉลียวฉลาดและขยันขันแข็ง (กาญจนา แก้วเทพ, 2530) ซึ่งมีหน้าที่เลือกวิธีการเพาะปลูก การบำรุง ตัดแต่งกิ่งก้าน ตามที่สังคมต้องการให้เป็น ดังนั้น วัฒนธรรม จึงเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความคิด ความเชื่อ แบบแผนการดำรงชีวิต ให้เป็นไปตามที่สังคมนั้นๆ กำหนด ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้
หากแต่การเข้ามาของภาษาอังกฤษในประเทศไทย เป็นการเข้ามาพร้อมกับการติดต่อกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการล่าอาณานิคม ประเทศในยุโรปเมื่อได้ออกเดินทางแสวงหาทรัพยากรในดินแดนตะวันออก เพื่อตอบสนองการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศของตนในช่วงเวลานั้น และเห็นวิธีการปฏิบัติในสังคมที่แตกต่างไปจากตนเอง จึงตีตราว่า ประเทศอื่นๆ เหล่านั้น “ไร้วัฒนธรรม” ความหมายของวัฒนธรรมจึงเหลือเพียง “ทุกอย่างที่เท่ากับยุโรป” (Eurocentricism) (กาญจนา แก้วเทพ, 2530)
ทำให้ในช่วงเวลาหนึ่ง ความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” ในภาษาไทย จึงหมายถึง สิ่งดีงาม ความเจริญ (แบบยุโรป/สากล) ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศไทยได้นำมาใช้ในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การแต่งกาย แบบแผนการปฏิบัติในราชสำนัก เพื่อให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตของการล่าอาณานิคมในช่วงเวลานั้น
ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1818 (ศตวรรษที่ 19) การศึกษา “วัฒนธรรม” นั้น มักจะเป็นการเคลื่อนไหวอยู่ในแวดวงของวรรณคดี การวิจารณ์งานวรรณกรรมหรือศิลปะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนับเป็นยุคสมัยที่บรรยากาศทางสังคมของยุโรปกำลังเข้าสู่หัวเลี้ยวหัวต่อ อิทธิพลของความคิดแบบศักดินาเรื่องความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกำลังค่อยๆ ล่มสลายลง ความคิดเรื่อง "ความเสมอภาค” กำลังเฟื่องฟูขึ้นสู่ความนิยม ในช่วงเวลานั้นเอง กุสตาฟ เคลมป์ (Gustav Klemm) เป็นคนใช้คำว่า “วัฒนธรรม” ในความหมายที่ว่า "ทุกอย่างที่คนสร้างขึ้นเพิ่มเติมจากธรรมชาติ ไม่ว่า การเผาศพ การทำพิธี การปั้นหม้อ การทำลูกปัดเครื่องประดับก็ตาม” ตามนัยยะของความหมายใหม่นี้ วัฒนธรรมจึงไม่ส่อคุณค่าไปในทางบวกหรือลบ เหลื่อมล้ำหรือสูงต่ำกว่ากัน ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนทั้งหลาย ก็เพียงความแตกต่างทางชนิด (difference in kind) เท่านั้น แต่ไม่ใช่ความแตกต่างทางระดับ (difference in degree) ที่จะบอกได้ว่าใครเหนือกว่าใคร ใครดีกว่าใคร (กาญจนา แก้วเทพ, 2530)
เป็นที่น่าสังเกตว่า กว่าที่ความหมายของ “วัฒนธรรม” แบบเสมอภาคซึ่งก่อตั้งขึ้นทีหลังนั้น จะเริ่มมีบทบาทใกล้เคียงกับความหมายแบบเบื้องบน หรือ “ทุกอย่างที่เท่ากับยุโรป” นั้น ลัทธิล่าอาณานิคมก็ได้จัดการยัดเยียดวัฒนธรรมแบบยุโรป (ภายใต้ข้ออ้างที่ว่า “ภารกิจของชนผิวขาว” คือ การทำให้คนป่าเถื่อนเหล่านั้นมีความศิวิไลซ์ มีอารยธรรมมากขึ้น อันหมายความว่า จะต้องนับถือคริสต์ศาสนา ต้องมีลักษณะปัจเจกชนนิยม ต้องพัฒนาลักษณะนิยมความสุขทางวัตถุ) ลงไปบนชนเผ่าดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นอินเดียนแดงหรือนิโกร จนวัฒนธรรมดั้งเดิมนั้นสูญสิ้นไป ดังนั้น พอเริ่มจะมีความเสมอภาคกันระหว่างวัฒนธรรม ก็ไม่มีวัฒนธรรม (ดั้งเดิม) จะเหลือไว้ให้เสมอภาคเสียแล้ว (กาญจนา แก้วเทพ, 2530)
อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษที่ 20 “วัฒนธรรม” ได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำหรับการใช้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งในวงวิชาการ และยังเป็นเครื่องมือสำหรับวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความไม่พอใจต่อสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในระดับชาวบ้านทั่วๆ ไป เนื่องจากกระแสการพัฒนาตามแบบตะวันตก ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คน ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากธรรมชาติที่อยู่แวดล้อม ปรัชญาการศึกษาและแนวคิดสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับการพัฒนาแบบตะวันตก ทำให้ผู้คนเริ่มเกิดสำนึกขึ้นมาว่า ในกระแสอันท่วมท้นของความทันสมัยนั้น วัฒนธรรมประจำชาติ เอกลักษณ์ประจำตนของชุมชน และของชาติกำลังถูกทำลายไป เพราะความทันสมัยทำให้เกิดลักษณะที่เป็นสากล และขจัดลักษณะท้องถิ่นให้หมดไป ฉะนั้นไม่ว่าจะไปที่ไหนๆ ในโลกนี้ ก็จะพบรูปแบบชีวิตที่คล้ายๆ กัน ทำให้ “วัฒนธรรม” ในช่วงเวลานี้ หมายถึง รูปแบบการดำรงชีวิตที่เป็นของแต่ละชุมชน ของแต่ละท้องถิ่น ของแต่ละชาติ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนใคร (กาญจนา แก้วเทพ, 2530) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเองเริ่มมีการใช้การท่องเที่ยวในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ได้ใช้ “อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม” เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติ (ตะวันตก) มาชมความ “ดั้งเดิม” ของ “วัฒนธรรมไทย” “เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย” จึงเกิดการตีกรอบและอนุรักษ์ตามคำจำกัดความที่สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทำให้เมื่อคนทั่วไปพูดถึง “วัฒนธรรม” ก็มักจะกลับไปที่ความหมายตามตัวอักษรไทยที่หมายถึง “ความดีงาม” อีกครั้งหนึ่ง
แต่เมื่อการพัฒนาทางเทคโนโลยีได้ทำให้โลกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Globalization) ความรู้จากซีกโลกหนึ่งสามารถส่งต่อไปยังอีกซีกโลกหนึ่งได้อย่างง่ายดาย กระแสของความเสมอภาคในทุกสรรพสิ่งยิ่งทวีพลังมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมในเรื่องของการศึกษา การลดความเหลื่อม ล้ำในสังคม หรือความเสมอภาคในเรื่องของเพศ ทำให้พลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 มีความรู้ ความเข้าใจ ในความรู้ เทคโนโลยี รวมถึงแนวความคิดทางสังคมได้พร้อมๆ กัน ดังนั้น ในโลกไร้พรมแดนความแตกต่างทางความคิด การใช้ชีวิต หรือแบบแผนในการผลิตวัฒนธรรม มีความเป็นปัจเจกมากกว่าในอดีต ที่มีเรื่องของพรมแดน เป็นปัจจัยในการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ปัจจุบันในสังคมหนึ่งๆ มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่หลากหลายปะปนกันอยู่โดยทั่วไป เช่น มีวัฒนธรรมใหญ่-วัฒนธรรมย่อย มีวัฒนธรรมหลวง-วัฒนธรรมราษฎร์ มีวัฒนกรรมแบบทางการ-วัฒนธรรมพื้นบ้าน (กาญจนา แก้วเทพ, 2530) ซึ่งแต่ละวัฒนธรรมล้วนแล้วแต่มีการแลกเปลี่ยน และปรับเปลี่ยนเพื่อให้ “วัฒนธรรม” ได้ทำหน้าที่ของการเป็นเครื่องมือในการขัดเกลาจิตใจ บ่มเพาะบุคคลให้กลายเป็นมนุษย์ที่สังคมในช่วงเวลานั้นๆ ต้องการ ดังเช่นความหมายตามรากศัพท์ของคำว่า Culture หรือ วัฒนธรรม นั่นเอง