หน้าที่ของวัฒนธรรม
พระยาอนุมานราชธน ได้กล่าวไว้ว่าอะไรเก่าไม่ใช่สิ่งดีที่สุดเสมอไปอะไรใหม่ไม่ใช่สิ่งดีเสมอไป จะเห็นว่าวัฒนธรรมใหม่จะถูกสร้างบนรากฐานวัฒนธรรมเก่า วัฒนธรรมบางอย่างถูกลืมเลือน ประเพณีเดิมบางอย่างถูกสร้างขึ้นมาใหม่บนขนบธรรมเนียมประเพณีเดิม (จุฑาพรรธ์ (จามจุรี) ผดุงชีวิต, 2550)
วัฒนธรรมนั้นมีทั้งสภาพแห่งการมีเสถียรภาพ (stability) และพลวัต (dynamism) อยู่ในตัวอันเป็นลักษณะที่วิภาษกัน (dialectical forces) คือมีทั้งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ปรับเปลี่ยนได้ เช่น ตึกราม บ้านช่อง เสื้อผ้า เทคโนโลยี และสิ่งที่เป็นแก่น (core or essence) ของวัฒนธรรมนั้นๆ ที่มักต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เช่น ในเรื่องโครงสร้างระดับลึกของวัฒนธรรมหนึ่ง เช่น เรื่องของศาสนา ความเชื่อ ค่านิยมบางประการ ดังนั้น การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและการศึกษาสังคมมนุษย์จึงควรพิจารณาถึงโครงสร้างทางวัฒนธรรม บริบททางวัฒนธรรม องค์ประกอบสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมต่างๆ อันเป็นเรื่องซับซ้อนและมักมีความขัดแย้งกันอยู่ตามธรรมชาติ (จุฑาพรรธ์ (จามจุรี) ผดุงชีวิต, 2550)
การทำความเข้าใจถึงหน้าที่ของวัฒนธรรม จะช่วยให้คนในสังคมเข้าใจความหมาย การดำรงอยู่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัฒนธรรม จากการสังเคราะห์ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง พอจะสรุปได้ว่า วัฒนธรรมมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
-
ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ดังความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” ซึ่งหมายถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และการดำรงชีวิตของมนุษย์ต้องอาศัยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิต ดังนั้น เครื่องมือหิน สำริด เหล็ก ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหาร และยารักษาโรค คือผลผลิตทางวัฒนธรรมที่ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และถ่ายทอดองค์ความรู้จากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสืบทอดได้ตามการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม
-
การควบคุมทางสังคม เมื่อมนุษย์สามารถปรับสภาพแวดล้อมเพื่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานได้ สามารถใช้เครื่องมือพื้นฐานเพื่อเอาตัวรอดจากการทำร้ายของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน สามารถหาอาหารได้อย่างมั่นคงถาวร ทำให้เกิดการรวมตัวของผู้คนในการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เดียวกันมากขึ้น เมื่อจำนวนคนที่ใช้ทรัพยากรร่วมกันมีจำนวนมากขึ้น มนุษย์จึงต้องสร้างวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรม ซึ่งเป็นระเบียบ กฎ เกณฑ์ เพื่อให้สามารถจัดการทรัพยากรที่ต้องใช้ร่วมกันให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และไม่ก่อให้เกิดปัญหาซึ่งกันและกัน เครื่องมือในการควบคุมทางสังคมมีด้วยกัน 3 ระดับ ได้แก่ วิถีประชา เป็นเครื่องมือควบคุมสมาชิกในกลุ่มขนาดเล็กที่มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เป็นเครื่องมือและเครื่องหมายที่ช่วยให้สมาชิกในกลุ่ม ประพฤติ ปฏิบัติตามแบบแผนที่กลุ่มกำหนดร่วมกัน จารีต เป็นเครื่องมือควบคุมพฤติกรรมที่อาจจะผนวกเอาความเชื่อทางศาสนา หรือสิ่งที่คนรุ่นก่อนประพฤติปฏิบัติกันมาเป็นเวลายาวนาน มาใช้เป็นเครื่องมือควบคุมความประพฤติของสมาชิกในสังคมระดับที่กว้างมากขึ้น และมีบทลงโทษที่รุนแรงมากกว่าวิถีประชา ผู้ทำผิดจารีต อาจต้องทำพิธีกรรมขอขมา หรืออาจถูกขับไล่ออกจากชุมชนถ้าหากประพฤติผิดได้ กฎหมาย เมื่อมนุษย์มีการรวมตัวมากขึ้นถึงขั้นของการก่อเกิดรัฐ การควบคุมเพียงแต่ วิถีประชาหรือจารีต อาจไม่เพียงพอต่อการปกครองแบบรัฐ กฎหมาย จึงเป็นเครื่องมือหลักที่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งต้องปฏิบัติตามข้เอกำหนดที่สังคมนั้นๆ ได้ตราไว้ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกของสังคมนั้นหรือไม่ก็ตาม ถือเป็นเครื่องมือในการควบคุมทางสังคมที่เป็นลายลักษณ์อย่างชัดเจน
-
อธิบายปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ เรื่องราว เรื่องเล่า ตำนาน ที่อยู่นอกเหนือองค์ความรู้พื้นฐานของมนุษย์ เป็นไปเพื่ออธิบายธรรมชาติที่มีอิธิพลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น ตำนานเรื่อง “เมขลาล่อแก้ว” เป็นเรื่องเล่าที่อธิบายถึงสาเหตุการเกิดฟ้าแลบซึ่งมักเกิดขึ้นก่อนฟ้าร้อง เป็นต้น
-
ผ่อนคลายความเครียด ตามหลักทฤษฎีทางด้านจิตวิทยา สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจมนุษย์ มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน หรือเป็นแรงผลักให้มนุษย์สามารถมีชีวิตต่อได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น เทศกาล ประเพณี พิธีกรรม เช่น การเรียกขวัญ งานสงกรานต์ งานลอยกระทง ล้วนแล้วแต่เป็น “วัฒนธรรม” ที่ช่วยทำให้มนุษย์จัดการกับความกลัว ความแห้งแล้ง และยังเป็นการสร้างความหวัง ให้อนาคตของมนุษยชาติต่อไป
จากหน้าที่ทางวัฒนธรรมทั้ง 4 ข้อข้างต้น จะเห็นได้ว่า การตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ การอธิบายปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ หรือการผ่อนคลายความเครียด เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในระดับครอบครัวที่เป็นปัจเจก แต่เมื่อมนุษย์มีการรวมกลุ่มที่มีจำนวนมากขึ้น จนเกิดเป็นรัฐ เป็นอาณาจักร จนกระทั่งเป็นประเทศ หรือกลุ่มประเทศ เกิดเป็นสังคมที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น การปฏิสัมพันธ์กันของบุคคล ถึงแม้เป็นเพียงการสั่งสอนจากพ่อแม่ไปสู่ลูก แต่ยังต้องถ่ายทอดกฏ ระเบียบ ที่สังคมต้องการให้ปฏิบัติ เพื่อให้ลูกได้เติบโตเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ของสังคมที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในนั้น ดังนั้น เมื่อสังคมมนุษย์มีความซับซ้อนมากขึ้น กระบวนการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม หรือ กระบวนการขัดเกลาทางสังคมหรือ socialization นั้น บางแห่งใช้คำว่า enculturation ซึ่งจริงๆ แล้วคือเหมือนกัน นั่นคือ กระบวนการการเรียนรู้ วัฒนธรรม จึงมีความซับซ้อนตามไปด้วย โดยสามารถแบ่งกระบวนการขัดเกลาทางสังคมออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ กระบวนการขัดเกลาทางสังคมในระดับปฐมภูมิ และระดับทุติยภูมิ (จุฑาพรรธ์ (จามจุรี) ผดุงชีวิต, 2550)
-
กระบวนการขัดเกลาทางสังคมในระดับปฐมภูมิ (Primary Socialization) เริ่มต้นตั้งแต่แรกเกิด ครอบครัวเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนด และคัดสรรรูปแบบการดำรงชีวิตให้กับสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น อาหารการกิน เวลาในการรับประทานอาหาร การแต่งกาย การนอน การปฏิบัติตนตามศาสนาที่นับถือ รวมถึงความเชื่อในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งเกิดจาก
1) การมีปฏิสัมพันธ์หรือ interaction เช่น ในบริบทครอบครัว เมื่อลูกทำผิด พ่อแม่อาจเลือกที่จะพูดคุยสั่งสอนในเชิงบวกมากกว่าการลงโทษหรือทุบตีให้หลาบจํา หรือเมื่อพ่อแม่จูบลูกแสดงความรัก ลูกเรียนรู้การหอมแก้ม การจูบเป็นการแสดงความรู้สึกอ่อนโยนภายในจิตใจ
2) การสังเกตการณ์หรือ observation เช่น เห็นพ่อขับรถ อ่านหนังสือพิมพ์ แม่ทำกับข้าวให้ครอบครัว เป็นการเรียนรู้บทบาททางเพศแบบหนึ่ง
3) การเลียนแบบหรือ imitation เช่น ลูกหัวเราะเมื่อเห็นพ่อแม่หัว เราะเรื่องขำขัน เรียนรู้เรื่องอารมณ์ขันหรือ humor ซึ่งเป็นอารมณ์พื้นฐานที่ สำคัญของมนุษย์ หรือพฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดขึ้น ขณะพ่อขับรถ ส่งผลให้ลูกเลียนแบบการแสดงพฤติกรรมทางอารมณ์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะใกล้เคียงกัน
-
กระบวนการขัดเกลาทางสังคมในระดับ ทุติยภูมิ (Secondary Socialization) ซึ่งเป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคมจากสถาบันทางสังคม อื่นๆ หล่อหลอมบุคคลให้เกิดวัฒนธรรมตามที่สังคมนั้นๆ กำหนด เช่น โรงเรียน ศาสนา หรือบทบาทของสื่อในสังคม เช่น
1) ในเรื่องของการที่โรงเรียนสอนวัฒนธรรมผ่านการสอนสุภาษิตให้ กับนักเรียน และสุภาษิตนั้น ๆ ก็จะสามารถสะท้อนให้เราเห็นถึงการที่วัฒนธรรมหนึ่งจะมีโลกทัศน์ (worldview) หรือการมองโลก การตีความของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของคนในสังคมหนึ่งได้อย่างแยบยล
2) ในเรื่องของศิลปะ ซึ่งศิลปะตะวันตกจะเน้นความสำคัญที่บุคคล ปัจเจกบุคคล มีการปั้นรูปปั้นที่แสดงความสวยงามสมบูรณ์ของสรีระมนุษย์ เป็นต้น ในขณะที่ศิลปะตะวันออกนั้นจะเน้นธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่เหนือมนุษยชน หรือ
3) การขัดเกลาทางสังคมที่ได้รับอิทธิพลจากสื่อสารมวลชน จาก หนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ ภาพยนตร์ เป็นต้น
กระบวนการขัดเกลาทางสังคมทั้งหมดนี้จะดำเนินไปตลอดชีวิตคน (continuity of socailzation throughout a person’s life) ที่สำคัญ กระบวนการขัดเกลาทางสังคมมีพลวัตสูง บุคคลสามารถได้รับการขัดเกลาได้ใหม่ หรือ resocialization ได้เสมอ เมื่อเจอสถานการณ์ใหม่ๆ พบเจอบุคคลใหม่ๆ หรือได้รับบทบาทใหม่ ได้อยู่ตลอดเวลา กระบวนการนี้อาจเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป (gradual process) หรือจะเปลี่ยนแบบข้ามคืนก็ได้ (จุฑาพรรธ์ (จามจุรี) ผดุงชีวิต, 2550)