ประเภทของวัฒนธรรม
การแบ่งประเภทของวัฒนธรรมสามารถแบ่งประเภทได้หลากหลายรูปแบบ ตามแนวคิด มุมมอง หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง จึงขอรวบรวมการแบ่งประเภทของวัฒนธรรมไว้ดังนี้
-
แบ่งตามลักษณะของวัฒนธรรม แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ วัฒนธรรมที่เป็นวัตถุ (Material Culture) - วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ (Non-Material Culture) หรือบางองค์กรทางด้านวัฒนธรรมระดับสากลนิยมใช้คำว่า วัฒนธรรมที่จับต้องได้ (Tangible Culture) - วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Culture) ซึ่งวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุที่สามารถจับต้องได้ ยังสามารถแบ่งออกเป็น วัตถุที่เคลื่อนย้ายได้ (เช่น เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องมือเครื่องใช้, โบราณวัตถุ เป็นต้น) - วัตถุที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ (เช่น บ้านเรือน, วัด, วัง, สิ่งก่อสร้าง, โบราณสถาน เป็นต้น)
-
แบ่งตามการเปรียบเทียบทางวัฒนธรรม คือ มีการปะทะ แลกเปลี่ยน และยอมรับ ระหว่าง 2 วัฒนธรรม หรือมากกว่านั้น ซึ่งสามารถอยู่ร่วมกันได้ตามบทบาทและสถานภาพของเจ้าของวัฒนธรรม ได้แก่
2.1 วัฒนธรรมใหญ่ - วัฒนธรรมย่อย ในสังคมหนึ่งๆ โดยเฉพาะสังคมในปัจจุบัน มนุษย์เกิดการรวมกลุ่มกันหลวมๆ จึงมีข้อตกลง หรือบทกำหนด หรือวิธีการประพฤติปฏิบัติโดยรวม เป็นกรอบให้บุคคลที่เป็นสมาชิกปฏิบัติ เรียกว่า วัฒนธรรมใหญ่ ซึ่งในสังคมเดียวกันนั้น ก็เกิดการรวมกลุ่มของสมาชิกที่มีความคล้ายคลึงกันทางด้านภาษา ศาสนา หรือแม้กระทั่งความชอบ ที่แตกต่างกันออกไป ก่อให้เกิดวัฒนธรรมย่อย ที่ไม่ได้ขัดแย้งกับวัฒนธรรมใหญ่ เช่น คนในประเทศไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ สมาชิกทุกคนยึดถือศีล 5 เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต (วัฒนธรรมใหญ่) แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีชาวพุทธบางส่วน นอกจากยึดถือศีล 5 แล้ว ยังที่ไม่รับประทานเนื้อวัว ตามความเชื่อเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์กวนอิม (วัฒนธรรมย่อย) อีกด้วย
2.2 วัฒนธรรมหลวง - วัฒนธรรมราษฎร์ จากการรวมกลุ่มของมนุษย์จนเกิดเป็นรัฐ ทำให้มนุษย์ที่อยู่ร่วมกันต้องแบ่งแยกหน้าที่และบทบาท เพื่อช่วยกันพัฒนาสังคม ขยายพื้นที่ในการทำมาหากิน มีการมอบหมายกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับเพศ อายุ หรือองค์ความรู้ของครอบครัว เกิดผู้นำ หรือผู้ปกครอง ที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจแทนกลุ่มคนทั้งหมดในการดำรงชีวิต นอกเหนือจากความสามารถของผู้นำ การรักษาสถานภาพความเป็นผู้นำให้ตกทอดสู่คนในครอบครัว จำเป็นต้องได้รับความชอบธรรม หรือทำให้คนในสังคมยอมรับว่าครอบครัวนั้นสามารถเป็นผู้นำได้ ดังจะเห็นได้ว่า ในอดีต ผู้นำหมู่บ้าน มักจะเป็นผู้ที่สามารถติดต่อกับวิญญาณได้ ผู้ปกครองรัฐโบราณขนาดใหญ่จึงได้นำความเชื่อทางศาสนาเข้ามาผนวกกับบทบาททางการปกครองและสร้างวัฒนธรรมเฉพาะของกลุ่มเครือญาติและพวกพ้องของตน เพื่อสร้างความพิเศษ และความชอบธรรมในการปกครองให้เกิดขึ้น ซึ่งมีความแตกต่างกับวัฒนธรรมของผู้ถูกปกครองอย่างชัดเจน เช่น การโกนจุกของเจ้านาย มีรายละเอียดที่แตกต่างจากการโกนจุกของชาวบ้านทั่วไป เป็นต้น เช่นเดียวกับการแบ่งประเภทวัฒนธรรมตามระดับ คือ วัฒนธรรมระดับสูง (High Culture) - วัฒนธรรมระดับระดับต่ำ (Low Culture) ซึ่งวัฒนธรรมระดับสูงอาจไม่ได้หมายถึงเพียงชนชั้นเจ้าขุนมูลนายเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงผู้ที่มีการศึกษา หรือรายได้สูง
2.3 วัฒนธรรมแบบทางการ - วัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือ วัฒนธรรมเมือง (Urban Culture) - วัฒนธรรมชนบท (Rural Culture) เมื่อสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ความสัมพันธ์ของผู้คนก็ได้พัฒนารูปแบบความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันออกไป ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ มีรูปแบบการใช้ชีวิตแบบครอบครัวเดี่ยว (Nuclear Family) ไม่ได้มีภาวะการพึ่งพิงเหมือนดั่งครอบครัวในชนบทที่มีลักษณะเป็น ครอบครัวขยาย (Stem Family/Extended Family) ทำให้รูปแบบการดำรงชีวิตของคนในเมืองมีความแตกต่างจากสังคมชนบท ที่ยังผูกพันซึ่งกันและกัน มีการพึ่งพิงระหว่างครอบครัว ชุมชน และสังคมสูง
2.4 วัฒนธรรมจดบันทึก (Written Culture) - วัฒนธรรมบอกเล่า (Oral Culture) เป็นความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมมนุษย์ในบางสังคมที่เน้นการถ่ายทอดวัฒนธรรมผ่านการจดบันทึก เช่น วัฒนธรรมตะวันตก ส่วนวัฒนธรรมตะวันออก เน้นการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมผ่านการบอกเล่าแบบ “มุขปาฐะ” ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นชัดเจนผ่านระบบการศึกษาที่เน้นการท่องจำ เป็นต้น