ภาพ ครกหิน
ครก เป็นอุปกรณ์ที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนานจะต้องใช้ควบคู่กับสากใช้สำหรับตำหรือบดวัตถุดิบต่าง ๆ ให้ละเอียด ตั้งแต่ดั้งเดิมครกจะทำด้วยดินปั้นแล้วเผาเรียกว่าครกกะเบือ มีขนาดเล็กใช้สำหรับประกอบอาหาร เนื่องจากทำจากภาชนะดินเผาจึงทำให้ครกกะเบือเป็นครกมีราคาถูก หาซื้อง่าย และนิยมใช้ในครัวเรือนทั่วไป ในบางพื้นที่จะใช้ไม้มาเป็นวัสดุในการทำครก ซึ่งมักมีขนาดใหญ่นิยมนำมาใช้สำหรับตำข้าวเปลือกและเมล็ดพืชบางชนิดครกในลักษณะนี้เรียกว่า ครกกระเดื่อง หรือตะลุมพุก
ในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ประเทศไทยเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับเมืองจีน ทำให้มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ประเทศไทยเริ่มรับเอาแนวคิดการนำหินมาแกะสลักเป็นครก และเป็นที่นิยมใช้ในครอบครัวของชนชั้นสูง ครกหินสามารถพบได้ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ และในช่วงแรกยังคงใช้สากไม้ในการตำเนื่องจากสากไม้จะทำให้รสชาติของวัตถุดิบที่ตำยังคงรสชาติเดิม โดยเฉพาะการใช้ตำพริกเพื่อให้ได้รสชาติเผ็ดร้อนเพื่อนำไปประกอบอาหารตามลักษณะการทานอาหารของคนไทยที่มักนิยมรสจัดจ้าน
ภาพ ครกดินเผา
ภาพ ครกหินอ่างศิลา
เนื่องจากครกหินมักใช้ครอบครัวของชนชั้นสูง และชาวบ้านทั่วไปยังนิยมใช้ครกกะเบือที่ทำจากเครื่องปั้นดินเผาอยู่ จึงมีการสันนิษฐานน่าจะมีคนจีนนามว่า หยงยู้ แซ่เจ็ง ได้อพยพเข้าไปอยู่ในพื้นที่ตำบลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรีที่มีสภาพแวดล้อมใกล้ทะเลแลมีหินตามชายหาด และได้ลองใช้ครกที่ทำจากเครื่องปั้นดินเผาแล้วพบว่าครกที่ทำจากเครื่องปั้นดินเผามีความเปราะบาง แตก และบิ่นได้ง่ายจึงได้ลองนำหินมาแกะสลักเป็นครกซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวจีนมักตอนอยู่ที่ประเทศจีน เมื่อนำมาทดลองใช้แล้วพบว่าหินของอ่างศิลามีคุณสมบัติใกล้เคียงกับหินที่ประเทศจีน หยงยู้ แซ่เจ็ง จึงได้สอนวิธีการแกะสลักครกหินให้กับชาวบ้านในอ่างศิลา และด้วยนิสัยของคนจีนมักชอบทำการค้าขายจึงทำให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมของหินของอ่างศิลา และครกหินยังมีคุณสมบัติที่คงทนแข็งเรง ไม่แตกหักง่าย ใช้ตำบดเครื่องแกง เครื่องเทศ น้ำพริกได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ครกหินกลายเป็นที่นิยมในเวลาต่อมา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้จัดแสดงครกหินเอาไว้ที่นิทรรศการช่างคิด เพื่อแสดงให้เห็นถึงเครื่องมือ เครื่องใช้ที่แสดงให้เห็นวัฒนธรรมการสร้างสรรค์ของมนุษย์
ครกหิน จัดแสดง ณ นิทรรศช่างคิด ช่างทำ
อ้างอิง
แดงต้อย มาลี. (2536). ครกหินไทย. กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ.
วราภรณ์ บุตรศรี. (2566). อยู่ดีมีแฮง : ครกเงินแสนบ้านแป้น ตำบลนาหนัง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย. สืบค้น 9 ธันวาคม 2567, จาก https://thecitizen.plus/node/68838
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. (2558). บม. ใน อภิวันทน์ อดุลยพิเชฏฐ์ (บ.ก.), พจนานุกรมหัตถกรรมเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน, (น. 120-122). กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. (2555). ครกกระเดื่อง. สืบค้น 9 ธันวาคม 2567, จาก http://www.m-culture.in.th/album/46612/js/highslide/graphics/