วันเด็กแห่งชาติเป็นวันที่เด็ก ๆ ทุกคนรอคอยเพราะเป็นวันสำคัญที่จะจัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ ทุกคนได้ร่วมแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของตนเอง และผู้ใหญ่ได้ตระหนักถึงเด็กและเยาวชนเช่นกัน ซึ่งในไทยจะจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติทุกวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ในปีนี้ตรงกับวันที่ 11 มกราคม 2568 ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศเองก็มีวันเด็กแห่งชาติเช่นกัน อาทิ ประเทศญี่ปุ่นมีวันเด็กแห่งชาติตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี หรือประเทศสิงคโปร์ได้เลือกวันศุกร์แรกของเดือนตุลาคมเป็นวันเด็กแห่งชาติ ถึงแม้วันเด็กในแต่ละประเทศจะไม่ได้ตรงกันทั้งหมด แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีเวลาร่วมกิจกรรมกับครอบครัว ให้ผู้ใหญ่ไม่ลืมความสำคัญของเด็ก รวมทั้งปลูกฝังให้เด็ก ๆ เติบโตมาเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ บทความนี้จะพาไปสำรวจวัฒนธรรมวันเด็กในประเทศญี่ปุ่นหรือ “โคโดโมะ โนะ ฮิ” (こどもの日) ผ่านเลนส์มานุษยวิทยาเพื่อทำความเข้าใจในวัฒนธรรมวันเด็กของประเทศญี่ปุ่น
รูปภาพประกอบที่ 1 วันเด็กของประเทศญี่ปุ่น
(ที่มา : https://kiji.life/kodomo-no-hi/)
“วันเด็ก” หรือ “โคโดโมะ โนะ ฮิ” (こどもの日) ตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เป็นหนึ่งในวันหยุดประจำชาติที่อยู่ในช่วงวันหยุดยาวของประเทศญี่ปุ่นหรือที่เรียกว่า Golden Week เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม วันเด็กเดิมทีเรียกว่า “ทังโกะ โนะ เซ็คคุ” (端午の節句) เป็นวันเด็กผู้ชายที่เฉลิมฉลองให้เด็กผู้ชายมีการเติบโตแข็งแรงอย่างสมบูรณ์ ปราศจากอันตราย และเป็นอนาคตของชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 รัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นความสำคัญของเด็กในฐานะอนาคตของชาติ จึงได้กำหนดให้เป็นวันเด็กแห่งชาติทั้งผู้หญิง และผู้ชายเพื่ออวยพรให้เด็กมีความสุข และได้ใช้เวลาร่วมกับครอบครัว
ธรรมเนียมปฏิบัติในวันเด็กของประเทศญี่ปุ่น
การประดับธงปลาคาร์ป
รูปภาพประกอบที่ 2 การประดับธงปลาคาร์ป
(ที่มา : https://blog.japanwondertravel.com/best-koinobori-festivals-in-japan-31555)
การประดับธงปลาคาร์ป หรือ โคะอิ โนะ โบริ (鯉のぼり) มักประดับแขวนหรือทำเป็นเสาธง และผูกกับธงผ้าหรือธงกระดาษทรงกระบอกรูปปลาคาร์ปประดับไว้ที่บ้าน ธงปลาคาร์ปที่ประดับในวันเด็กนั้นมีหลากสี ด้านบนสุดเหนือปลาคาร์ปจะเป็นธง 5 สี เป็นธาตุทั้งห้าของปรัชญาจีนโบราณ มีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้าย
ปลาคาร์ปสีดำ : สื่อถึงพ่อ
ปลาคาร์ปสีแดง : สื่อถึงแม่
ปลาคาร์ปสีน้ำเงิน : สื่อถึงลูก
ปลาคาร์ปเป็นสัญญาลักษณ์ของความแข็งแกร่ง และความพยายามในวัฒนธรรมญี่ปุ่น มีตำนานจากประเทศจีน กล่าวว่า ปลาคาร์ปที่สามารถพยายามว่ายน้ำทวนน้ำตกที่มีกระแสน้ำที่รุนแรงได้จะไปถึงประตูมังกร และกลายร่างเป็นมังกรบินขึ้นสู่สวรรค์ได้ ดังนั้น ปลาคาร์ปจึงเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง และความสำเร็จในชีวิต ใช้ในการอวยพรให้เด็กให้มีสุขภาพแข็งแรง มีความอดทนดั่งปลาคาร์ป
การประดับบ้านด้วยตุ๊กตาโกะกัตสึนินเกียว
รูปภาพประกอบที่ 3 ตุ๊กตาโกะกัตสึนินเกียว
(ที่มา : https://netshop.kyugetsu.com/view/category/gogatsu03)
“ตุ๊กตาโกะกัตสึนินเกียว” (五月人形) เป็นตุ๊กตานักรบที่สวมใส่หมวกคาบูโตะ ชุดเกราะ และมีอาวุธจำลองต่าง ๆ เช่น ดาบ ธนู มักทำเป็นโต๊ะบูชาประดับไว้ในบ้าน ทั้งหมดนี้เป็นการสื่อถึงความปราถนาให้เด็กเติบโตเป็นคนที่กล้าหาญ มีความเป็นผู้นำ และคุ้มครองเด็กให้ไม่มีภัยอันตรายจากสิ่งชั่วร้าย
การอาบน้ำร้อนใส่ใบโชบุ
รูปภาพประกอบที่ 4 การอาบน้ำร้อนใส่ใบโชบุ
(ที่มา : https://kiji.life/kodomo-no-hi/)
“ต้นโชบุ” หรือ “โชบุ” (菖蒲) เป็นพืชที่มีฤทธิ์ทางยา ใบมีลักษณะเรียวยาวคล้ายดาบ ในวันเด็ก เด็กผู้ชายส่วนใหญ่มักจะอาบน้ำร้อนกับใบโชบุ โดยมีความเชื่อว่าใบโชบุจะปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ได้รับพรให้มีสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในอนาคต
การรับประทานคาชิวะ โมจิ
รูปภาพประกอบที่ 5 คาชิวะ โมจิ
“คาชิวะ โมจิ” (柏餅) คือ ขนมโมจิสอดไส้ถั่วแดง และห่อด้วยใบโอ๊กหรือใบคาชิวะ เป็นขนมดั่งเดิม การรับประทานคาชิวะโมจิเป็นประเพณีที่มีการสืดทอดมานาน ต้นโอ๊กเป็นต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบ ใบเก่าจะร่วงก็ต่อเมื่อมีใบใหม่งอกขึ้นมาแทน คนญี่ปุ่นจึงนับเป็นไม้มงคลที่สื่อถึงการสืบทอดวงศ์ตระกูล ใบแก่จะเปรียบเสมือนพ่อกับแม่ และใบที่งอกขึ้นใหม่จะเปรียบเสมือนลูกที่สืบทอดวงศ์ตระกูลต่อจากพ่อกับแม่ คาชิวะ โมจิจึงเป็นขนมที่ดีจึงมีการรับประทานในวันเด็ก
รูปภาพประกอบที่ 6 เด็กญี่ปุ่นแต่งกายชุดนักรบ
(ที่มา : https://napost.com/2018/jcccw-kodomo-no-hi-2018/)
รูปภาพประกอบที่ 7 เด็กญี่ปุ่นในเทศกาลวันเด็ก
การเฉลิมฉลองวันเด็กในประเทศญี่ปุ่นได้สะท้อนความสำคัญระหว่างเด็กและครอบครัวผ่านวัตถุและพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การประดับธงปลาคาร์ป การประดับบ้านด้วยตุ๊กตาโกะกัตสึนินเกียว การอาบน้ำร้อนใส่ใบโชบุ การรับประทานคาชิวะ โมจิ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวัตถุเชิงสัญลักษณ์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และบทบาทระหว่างเด็กกับคนในครอบครัวในสังคมประเทศญี่ปุ่น
เอกสารอ้างอิง
Conomi. (2567). ทำไมคนญี่ปุ่นต้องใช้ "ใบโอ๊ก" ห่อขนมโมจิ!?. ค้นจาก http://https://today.line.me/th/v2/article/7NnOMak
Daco. (ม.ป.ป.). UFM Fuji Super : เทศกาลวันเด็กผู้ชาย และ วันแม่. ค้นจาก http://https://www.daco- thai.com/ufm-fuji-super-kodomonohi/
Kiji. (2564). Kodomo no Hi ชมปลาคาร์ปแหวกว่ายบนท้องฟ้า และกินเมนูตามธรรมเนียมในวันเด็กผู้ชายของ ญี่ปุ่น. ค้นจาก http://https://kiji.life/kodomo-no-hi/
Nadya Putri Kurniasari. (2567). Large Koi Fish-Shaped Kites Amaze Many People in Saitama. ค้นจาก http://https://niindo.com/layangan-berbentuk-ikan-koi-besar-pukau-banyak-orang-di-saitama/
Omatsuri Japan. (2567). ความหมายและที่มาของ "วันเด็ก" ของญี่ปุ่นคืออะไร? กินอะไรในวันนี้? มารู้เรื่อง กิจกรรมวันเด็กญี่ปุ่นกัน!. ค้นจาก http://https://www.fun-japan.jp/th/articles/13460
Tk Park. (2558). วันเด็กแห่งชาติ - วันเด็ก AEC. ค้นจาก http://https://www.tkpark.or.th/tha/articles_detail/208/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4---%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81-AEC#:~:text=%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88,%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%20%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%8D%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99