ช่วงศตวรรษที่ 11 ถึงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 13 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของประวัติศาสตร์ความรู้ในโลกอาหรับ–เปอร์เซีย นักปราชญ์หลายคนเริ่มกลับไปสำรวจองค์ความรู้จากยุคก่อนหน้า ทั้งจากอินเดีย กรีก-โรมัน และผลงานอาหรับยุคแรก แล้วนำมาจัดระบบใหม่ในแบบของตนเอง นี่คือยุคที่ “การอ่านโลก” ผ่านแผนที่เริ่มมีรูปร่างจริงจังขึ้นครั้งใหม่บนฐานความรู้เดิมที่สั่งสมมายาวนาน
หนึ่งในผลงานสำคัญของยุคนี้คือ “การเดินทางของผู้ใฝ่เที่ยวโพ้นขอบฟ้า” (Nuzhat al-Mushtaq fi Ikhtiraq al-Afaq) ซึ่งเขียนโดย อัล-อิดริซีย์ (al-Idrisi) ในปี ค.ศ. 1154 ณ ราชสำนักของกษัตริย์โรเจอร์ที่ 2 แห่งซิซิลี งานชิ้นนี้เป็นทั้งตำราภูมิศาสตร์ และตำราที่ได้การรวมองค์ความรู้ของโลกอิสลามและยุโรปเข้าด้วยกัน แล้วถ่ายทอดออกมาในรูปของ “แผนที่โลก” ที่รวบรวมดินแดน บ้านเมือง ชายฝั่งทะเล เส้นทางการค้า และจินตนาการของผู้คนในยุคกลาง
หนังสือ ล่องนาวาเจ็ดสมุทร: ภูมิทัศน์เอเชียอาคเนย์ในเอกสารอาหรับ–เปอร์เซียศตวรรษที่ 9–14 โดยสุนิติ จุฑามาศ เป็นงานแรกที่แปลเนื้อหาบางส่วนของตำราอิดริซีย์เป็นภาษาไทย โดยเลือกแปลเฉพาะตอนที่กล่าวถึงบริเวณทะเลอินเดียจนถึงทะเลจีน ซึ่งเป็นปลายสุดของโลกทางตะวันออกในสายตาชาวอาหรับยุคนั้น และเป็นพื้นที่ที่ครอบคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา
ในฐานะเพื่อนร่วมงานของคุณสุนิติ เราเห็นพ้องกันว่า การอ่านอิดริซีย์โดยไม่เห็นแผนที่ที่เขาวาดไว้ อาจพลาดแก่นสำคัญบางอย่างไป เพราะภาพกับเนื้อหาแยกกันไม่ออก แผนที่ในงานของอิดริซีย์ไม่ได้เป็นเพียงภาพประกอบ แต่คือ “อีกภาษาหนึ่งของเนื้อหา” ที่เล่าโลกผ่านเส้น สัญลักษณ์ และการจัดวางพื้นที่ตามจินตนาการของยุคนั้น
เราจึงตัดสินใจวาดแผนที่ขึ้นใหม่ เลือกเฉพาะ “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” มานำเสนอ เพื่อให้ผู้อ่านชาวไทยได้เห็นว่าบ้านเราเคยปรากฏอยู่ในแผนที่โลกเมื่อเกือบ 900 ปีก่อนอย่างไรบ้าง
ภาพขยายบริเวณทะเลอินเดียและทะเลจีน หรือก็คือ "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ในแผนที่โลกอิดริซีย์
จากหนังสือล่องนาวาเจ็ดสมุทรฯ (สุนิติ จุฑามาศ, 2567: 275)
. . .
การจะโชว์แต่แผนที่อิดริซีย์เฉยๆ ก็น่าเสียดาย
หากไม่เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเสียบ้าง
และนี่คือ “12 เรื่องเล่า”
จากแผนที่โลกของอิดริซีย์ที่ผู้เขียนอยากชวนคุณสำรวจไปด้วยกัน
. . .
1. โลกกลับหัว: ทิศใต้คือด้านบน
แผนที่โลกฉบับต้นฉบับของอิดริซีย์ (ค.ศ.1154) เป็นแผนที่ทรงกลมที่เขียนด้วยภาษาอาหรับ บนแผนที่จะสังเกตว่าทิศใต้ถูกวางไว้ด้านบน ซึ่งตรงข้ามกับแผนที่สมัยใหม่ที่เราคุ้นเคย
แผนที่ยุคกลางของชาวมุสลิมมักจะหัน “ทิศใต้” ขึ้นด้านบน แทนที่จะเป็นทิศเหนือแบบแผนที่ปัจจุบัน ทำให้เราอาจรู้สึกเหมือนกำลังดูโลกกลับหัว! การวางทิศใต้อยู่ด้านบนนี้ส่วนหนึ่งอาจมาจากจักรวาลทัศน์ บ้างก็ว่าเพื่อช่วยให้ชาวมุสลิมที่อาศัยทางเหนือของนครมักกะฮ์สามารถหันทิศทางลงสู่มักกะฮ์ได้สะดวกขึ้น ไม่ว่าเหตุผลคืออะไร การมองโลกแบบกลับด้านนี้ ชวนให้เราตระหนักว่า “ขอบบนของแผนที่” เป็นเพียงเรื่องของมุมมอง ไม่ใช่กฎสากล
แผนที่โลกของอิดริซีย์
(ที่มา: Bodleian Libraries, University of Oxford [MS. Pococke 375])
2. วาดโลกใหม่ตามรอยปโตเลมี
แผนที่โลกของอิดริซีย์ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากความรู้ดั้งเดิมของโลกตะวันตก โดยเฉพาะผลงานของ คลอเดียส ปโตเลมี (Claudius Ptolemy) (นักภูมิศาสตร์-คณิตศาสตร์ชาวอียิปต์ของจักรวรรดิโรมัน) ที่เคยทำตำราภูมิศาสตร์ไว้เมื่อราวศตวรรษที่ 2 “หลักแนวแห่งภูมิวรรณนา” (Geographical Guidance) หนังสือเล่มนี้มีความโดดเด่นมากกว่าหนังสือภูมิศาสตร์อื่น ๆ ในอารยธรรมกรีก-โรมัน เนื่องจากเป็นบันทึกข้อมูลในรูปแบบเลขพิกัด (คล้ายกับเลขละติจูดและลองจิจูดในปัจจุบัน) รวมถึงแบ่งโซนภูมิอากาศต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า
สำหรับชาวยุโรป แผนที่และระบบคิดของปโตเลมีเพิ่งกลับมาเป็นที่นิยมในศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นช่วงปลายยุคกลาง อันเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งการสำรวจโลกใหม่ (Age of Discovery) ในทางกลับกัน สำหรับชาวอาหรับ พวกเขาเอาต้นฉบับกรีกมาแปลเป็นภาษาอาหรับตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 แล้ว เพราะเวลานั้น คือ “ยุคทองแห่งการแปล” (Translation Movement) ภายใต้ราชสำนักอับบาซียะฮ์ (Abbāsid) โลกอาหรับจึงนำองค์ความรู้ของปโตเลมีไปต่อยอดจริง เช่น การปรับระบบพิกัด การวาดแผนที่ใหม่ และการเพิ่มข้อมูลจากอินเดีย–จีน–แอฟริกา
ใช่แล้ว อิดริซีย์นำองค์ความรู้เหล่านั้นมา “วาดใหม่” ให้ทันสมัยขึ้นในศตวรรษที่ 12 โดยเติมข้อมูลที่ชาวยุโรปและอาหรับค้นพบเพิ่มเติมหลังยุคปโตเลมีอีกเกือบพันปี ผลงานของอิดริซีย์จึงเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมโลกทัศน์กรีก-โรมันเข้ากับข้อมูลใหม่ของพ่อค้าอาหรับ ทำให้เราได้เห็นภาพโลกที่กว้างขวางและละเอียดขึ้นกว่าที่ปโตเลมีเคยจินตนาการ
"แผนที่โลกปโตเลมี" ล้วนวาดขึ้นประกอบตำราของปโตเลมี ฉบับแปลเป็นภาษาละติน ศตวรรษที่ 15
จากต้นฉบับภาษากรีก ที่ปโตเลมีเขียนขึ้นในศตวรรษที่ 2
(แต่ก็เชื่อกันว่า อาจมีแผนที่มาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว แค่ยังไม่เคยมีใครเคยค้นพบ
ปโตเลมีจึงยังได้ชื่อว่าเป็น ผู้เรียบเรียงตำราภูมิศาสตร์ ไม่ใช่นักวาดแผนที่โลก)
(ที่มา: British libraryPtolemy's Geography (Harleian MS 7182, ff 58–59); Public Domain)
3. เทรนสารานุกรมกำลังมา: โลกอิสลามประมวลความรู้
ความรู้ในหนังสือตำราของอิดริซีย์ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ หากต่อยอดจากปราชญ์ยุคก่อนหน้า อิดริซีย์ถือเป็นหนึ่งในบรรดานักภูมิศาสตร์มุสลิมผู้มีแนวคิดแบบ "สารานุกรม" คือรวบรวมความรู้สารพัดด้านเกี่ยวกับโลกไว้ในงานของตน
ในบริบทศตวรรษที่ 11-13 เกิดนักวิชาการหลายคนที่มีเป้าหมายจะรวบรวม “ความรู้ทั้งหมดของโลก” เอาไว้ในรูปแบบของสารานุกรม เช่น อิบรอฮิม บิน วัศศีฟ ชาฮ์ (Ibrahim ibn Waṣif Shah) ผู้จัดระบบความรู้แบบสหวิทยาการ, อะบู ร็อยฮาน อัล-บีรูนีย์ (Abu Rayḥan al-Biruni) นักวิทยาศาสตร์ผู้หลงใหลในวัฒนธรรมอินเดีย, อัล-มัรวะซีย์ (al-Marwazi) และ อัล-คะร็อกกีย์ (al-Kharaqi) ผู้สนใจภูมิศาสตร์จากเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้คน สินค้า และเส้นทางการค้าจากทั้งคำบอกเล่าและสอบทานตำราโบราณ
ความรู้สะสมจากปราชญ์รุ่นก่อนเหล่านี้กลายเป็นพื้นฐานให้อิดริซีย์สร้างสรรค์แผนที่โลกฉบับสมบูรณ์ได้ในที่สุด ดังนั้น ตำราของอิดริซีย์จึงเป็นหนึ่งในสารานุกรมภูมิศาสตร์ เพียงแต่สรุปความรู้โลกยุคนั้นไว้โดยละเอียด และมีภาพประกอบ (เลยโดดเด่นกว่าใคร)
ในตำราของอะบู ร็อยฮาน อัล-บีรูนีย์ นำเสนอการจัดแบ่งอิกลีมและแบ่งทะเลต่าง ๆ ไว้ก่อนอิดริซีย์
. . .
4. แผนที่มีมากถึง 70 หน้า เพราะแบ่งโลกเป็น “อิกลีม”
เรื่องราวภูมิศาสตร์โลกมีเนื้อหามหาศาลเกินกว่าจะบันทึกลงในหน้ากระดาษเดียว
อิดริซีย์จึงวาดแผนที่ย่อย 70 แผ่น แบ่งตาม “อิกลีม” (iqlim) คือ เขตภูมิอากาศ (climes) เป็น 7 เขต (เท่าที่โลกมีมนุษย์อาศัย) (คล้ายละติจูด) และแต่ละเขตภูมิอากาศจะถูกแบ่งเป็น 10 ส่วน (คล้ายลองจิจูต) พอรวมทั้งหมดเป็นภาพแผนที่จึงละเอียดถึง 70 ภาพ ถ้านำมาต่อกันจะได้ “ภาพโลกทั้งใบ”
ในแต่ละแผ่นภาพ (แต่ละอิกลีม-ส่วน) จะมีคำบรรยายประกอบ ตั้งแต่ภูมิประเทศ ผู้คน การเมือง ไปจนถึง สินค้าและเศรษฐกิจของดินแดนนั้น ๆ รายละเอียดจะเยอะน้อยตามความใกล้ไกลเมดิเตอร์เรเนียน และเริ่มเบลอเมื่อออกห่าง—เช่นในเอเชียอาคเนย์บ้านเราที่เริ่มกลายเป็นหมู่เกาะนามธรรม
โครงสร้างแบบนี้ทำให้งานของอิดริซีย์มีลักษณะเป็น แอตลาส (Atlas) หรือสมุดภาพแผนที่โลก ฉบับสมบูรณ์ เล่มแรก ๆ ของมนุษยชาติ
หากนำแผนที่โลกของอิดริซีย์ ทั้ง 70 แผ่น/หน้ามาต่อกัน ก็จะได้แผนที่โลกแบบยาวหลายเมตร
แผนที่อิดริซีย์จากต้นฉบับหมายเลข 2221 ในหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส จำลองและจัดพิมพ์ ค.ศ. 1844
(ที่มา: Bibliothèque nationale de France)
5. Tabula Rogeriana: แผนที่ของ[กษัตริย์]โรเจอร์
ในระหว่างที่โลกอาหรับเผชิญความผันผวนทางการเมืองหลังศตวรรษที่ 10 และอำนาจของราชวงศ์อับบาซียะห์จะเสื่อมถอยลง สถานการณ์นี้เปิดทางให้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนก็กลายเป็นเวทีใหม่ของการแข่งขันทางการค้าและความรู้ เมืองท่าทั้งในโลกอิสลามและยุโรปต่างตื่นตัว—เวนิส เจนัว อเล็กซานเดรีย และไคโร ต่างพยายามยืนหยัดในฐานะศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้า ผู้คน และความรู้จากสามทวีป
เบื้องหลังการสร้างแผนที่โลกอัล-อิดริซีย์ เกิดขึ้นได้เพราะการข้ามวัฒนธรรมระหว่างโลกอิสลามกับยุโรป กษัตริย์โรเจอร์ที่ 2 แห่งซิซิลี (Roger II) ผู้เป็นกษัตริย์คริสเตียนนอร์มันแห่งราชสำนักปาแลร์โม (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอิตาลี) ทรงใฝ่ฝันอยากได้แผนที่โลกที่ถูกต้องแม่นยำที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยมีมา จึงเชื้อเชิญ อัล-อิดริซีย์ ขณะนั้นเป็นนักภูมิศาสตร์ชื่อดังจากอัล-อันดะลุส (สเปนสมัยอิสลาม) มายังราชสำนักปาแลร์โมในปี ค.ศ. 1138
อิดริซีย์ตอบรับคำเชิญ และอุทิศเวลากว่า 15 ปีในการค้นคว้า รวบรวมข้อมูลจากนักเดินทาง พ่อค้า และบันทึกจากหลากหลายแหล่ง จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1154 ผลงานสำเร็จออกมาในชื่อ “การเดินทางของผู้ใฝ่เที่ยวโพ้นขอบฟ้า” ซึ่งโลกตะวันตกเรียกกันในภายหลังว่า “แผนที่ของโรเจอร์” (Tabula Rogeriana)
ยุโรปในปี ค.ศ. 1135 แสดงอาณาจักรซิซิลี (สีีเขียว) ตอนใต้ของคาบสมุทรอิตาลี [D:IV] บ้านเกิดของอิดริซีย์อยู่ในบริเวณช่องแคบยิบรอตตา ฝั่งทวีปแอฟริกา [D:II] (ปัจจุบันคือเมืองเซวตาของสเปน 1 ในดินแดนทั้ง 5 ที่กระจายอยู่บนฝั่งแอฟริกา) ปี 1135 คือช่วงเวลาก่อนที่อิดริซีย์จะไปรับงานที่ซิซิลี ว่ากันว่าเขาศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยในคอโดบา (Cordoba) บนฝั่งสเปน ในเวลานั้นคาบสมุทรไอบีเรีย พื้นที่กว่าครึ่งอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของเคาะลีฟะฮ์แห่งอัลโมฮัด (Almohad)
(ที่มา: Charles Colbeck. 1905. The Public Schools Historical Atlas. Longmans, Green; New York; London; Bombay. The Perry-Castañeda Library (PCL) Map Collection)
6. แผนที่โลกบนแผ่นเงินขนาดยักษ์
ความทุ่มเทของกษัตริย์โรเจอร์ที่ 2 ต่อโครงการนี้ ไม่ได้หยุดแค่เป็น “นายทุน” ทำวิจัยของอิดริซีย์ แต่พระองค์ยังทรงบัญชาให้สร้างหล่อแผนที่โลกลงบนแผ่นโลหะเงินบริสุทธิ์ เส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 2 เมตร หนักถึง 300 ปอนด์ (ประมาณ 136 กิโลกรัม)!!!!!!!! ในลักษณะแผนที่โลกแบบกลม (planisphere)
แผนที่เงินนี้สลักเส้นแผ่นดิน ทะเล และรายละเอียดต่าง ๆ อย่างประณีต กล่าวได้ว่าเป็นงานออกแบบแผนที่โลหะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดชิ้นหนึ่งในโลกยุคกลาง
น่าเสียดายที่แผนที่เงินดังกล่าวไม่ได้อยู่รอดมาถึงปัจจุบัน
(ชะตากรรมของแผ่นเงินนี้ ดูต่อในข้อ 8)
แผนที่โลก Tabula Rogeriana บนแผ่นเงิน (จำลอง) โดยมูลนิธิ Factum Foundation เมื่อ ค.ศ. 2019
(ที่มา: Factum Foundation)
7. เมืองท่าคือระเบียงเศรษฐกิจ มักกะฮ์คือศูนย์กลางโลก
ในแผนที่ของอิดริซีย์ปรากฏเมืองท่าทั้งหลายแห่งที่เชื่อมถึงกันราวกับเป็นระเบียงเศรษฐกิจของโลกยุคกลาง—เป็นจุดเชื่อมเส้นทางการค้า การเดินเรือ และความรู้ระหว่างวัฒนธรรม เมืองอย่าง อเล็กซานเดรีย ในอียิปต์ เอเดน ที่ปลายแหลมอาหรับ บัศเราะห์หรือบาสรา ที่อ่าวเปอร์เซีย ซีราคิวส์ และปาแลร์โม ในซิซิลี ต่างถูกวางไว้ในแผนที่อย่างเด่นชัด โดยสะท้อนให้เห็นเครือข่ายท่าเรือที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจโลกในแบบที่นักเดินเรืออาหรับรู้จักและใช้จริง
แต่ในอีกทางหนึ่ง จุดศูนย์กลางของโลกในแผนที่ของอิดริซีย์เป็น นครมักกะฮ์ (Makkah) ไม่ใช่โรม หรือเยรูซาเล็ม หรือแม้แต่เมืองหลวงของจักรวรรดิใดๆ สะท้อนจักรวาลทัศน์แบบอิสลามที่ให้ “ดินแดนศักดิ์สิทธิ์” เป็นแกนกลางของโลกมุสลิมที่ทั้งเส้นทางการค้าและการแสวงบุญล้วนไหลเวียนผ่าน
บันทึกตอนหนึ่งจากตำรา "ธรรมชาติสัตว์" โดย อัลมัรวะซีย์ แพทย์และปราชญ์ชาวมุสลิมเปอร์เซียในศตวรรษที่ 12 ร่วมสมัยกับอิดริซีย์ เล่าว่ามี “กลุ่มคนจากตะวันออก” ซึ่งเพิ่งหันมานับถือศาสนาอิสลาม เดินทางมาประกอบพิธีฮัจญ์ใน ฮ.ศ. 434 (ค.ศ. 1043) โดยคำบอกเล่าเกี่ยวกับลักษณะทางภูมิศาสตร์และลักษณะของชนพื้นเมืองในบันทึกดังกล่าว สอดคล้องกับบริบทของหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ถือได้ว่าบันทึกนี้อาจเป็นหลักฐานที่อ้างถึงการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ของชาวมุสลิมเอเชียอาคเนย์ที่เก่าแก่ที่สุดในเอกสารอาหรับ
(ดูเพิ่มเติมใน พิธีฮัจญ์แรกของชาวมุสลิมเอเชียอาคเนย์)
8. อาหรับแมป เมดอินยุโรป แต่ยุโรปไม่(ทัน)ซื้อ
แผนที่โลกของอิดริซีย์สร้างขึ้นในราชสำนักยุโรป (ซิซิลี) ทว่า ยุโรปยุคกลางกลับไม่ได้ใช้แผนที่นี้เป็นหลักอ้างอิง
หลังการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์โรเจอร์ใน ค.ศ.1154 และความไม่สงบในราชสำนัก ค.ศ.1160 แผนที่โลกฉบับแผ่นเงินที่อิดริซีย์สร้างถวายถูกทำลาย (เชื่อกันว่าอาจถูกหลอม) และต้นฉบับหนังสือที่เป็นภาษาละตินก็สูญหายไป แต่เคราะห์ดีที่ อิดริซีย์หลบหนีกลับแอฟริกาเหนือพร้อมกับต้นฉบับภาษาอาหรับ ทำให้ความรู้นี้ยังคงถ่ายทอดต่อในโลกมุสลิม จากนั้นต้นฉบับภาษาอาหรับก็ถูกคัดลอกเป็นสำเนาหลายชุดผ่านยุคสมัย (ปัจจุบันมีต้นฉบับคัดลอกหลงเหลืออยู่ประมาณ 10 ฉบับทั่วโลก) ข้ามเวลามาหลายศตวรรษ
กว่าที่ชาวยุโรปจะรู้จักผลงานชิ้นนี้อีกครั้งก็ล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 17 โดยมีการตีพิมพ์ฉบับแปลละตินในชื่อ Geographia Nubiensis ที่ปารีสในปี ค.ศ. 1619 และแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ในยุโรปต่อมา —แต่ขณะนั้น ยุโรปมีแผนที่โลกของตนเองแล้ว จากยุคโคลัมบัสและแม็กเจลแลน ทำให้แผนที่ของอิดริซีย์กลายเป็น “แผนที่ที่ถูกค้นพบช้า” ในยุโรป ทั้งที่เคยล้ำหน้าหลายร้อยปี
แผนที่โลกของชาวยุโรปยุคกลาง ราวศตวรรษที่ 13 (หลังอิดริซีย์ ราว 100 ปี)
แผนที่โลก (แมพปามุนดี) ประเภทนี้เรียกว่า ทรง "T-O" วางศูนย์กลางไว้ที่เยรูซาเลม มีขอบบนคือตะวันออก และเป็นแผนที่ทางศาสนา จึงเน้นสัญลักษณ์มากกว่าความถูกต้องทางภูมิศาสตร์ต่างจากอิดริซีย์ที่บาล๊านได้ดีกว่า
(ที่มา: Psalter mappa mundi. British Library [MS Additional 28681])
9. มรดกอิดริซีย์: เปลี่ยนสายตาชาวโลกแผนที่ยุคกลาง
อิทธิพลของเขากลับชัดเจนในโลกอาหรับและเปอร์เซีย แผนที่และตำราถูกคัดลอกและใช้อ้างอิงต่อเนื่องหลายศตวรรษ กลายเป็นต้นแบบของการทำความเข้าใจโลกเชิงระบบ ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ การค้า และการเดินเรือ
ที่น่าทึ่ง อิดริซีย์เคยคำนวณเส้นรอบวงโลกได้ประมาณ 37,000 กิโลเมตร ซึ่งคลาดจากค่าจริงเพียง 10% เท่านั้น—แม่นยำจนใกล้เคียงกับคำนวณในยุคใหม่
มรดกทางภูมิศาสตร์ชิ้นนี้ช่วยเปิดหูเปิดตาปัญญาชนยุโรป (หลังศตวรรษที่ 17 ที่มีการค้นพบและแปลใหม่) แม้แผนที่ของอิดริซีย์จะไม่ถูกใช้ในยุโรปทันที แต่ได้ทำให้ชาวยุโรปได้ตระหนักถึงภูมิปัญญาของโลกอิสลามยุคกลางว่า "ก้าว" หน้าอย่างไร
แผนที่โลกของอัล-วัรดีย์ (Muzaffar Ibn al-Wardi) ในศตวรรษที่ 14 (ราว 200 ปีหลังอิดริซีย์)
ซึ่งเป็นคนรุ่นหลังอิดริซีย์ก็ยังคงขนบการวาดแผนที่ให้มักกะฮ์เป็นศูนย์กลาง
และเพิ่มเติมดินแดนใหม่ ๆ เช่น ญี่ปุ่นไว้ด้วย
(ที่มา: The Library of Congress, Public domain)
[ในหนังสือสุนิติก็แปล ตำราไข่มุกมหัศจรรย์และความโดดเด่นของสิ่งพิศวงของนคร ของอัล-วัรดีย์ไว้ด้วยนะ]
. . .
10. ไม่มีสัตว์ประหลาด! ในแผนที่
แผนที่ยุโรปยุคกลางมักเต็มไปด้วยภาพมังกรทะเล งูบิน เผ่าพันธุ์ประหลาด หรือดินแดนลึกลับสุดขอบโลก—สะท้อนจินตนาการและศรัทธาเป็นหลักมากกว่าความรู้ทางภูมิศาสตร์
ในแผนที่ของอิดริซีย์ กลับไม่มีสิ่งเหล่านั้นเลย
อิดริซีย์ใช้เวลากว่า 15 ปี เก็บข้อมูลจากพ่อค้า นักเดินทาง และลูกเรือจากหลากหลายเส้นทาง ก่อนนำมาสังเคราะห์ ตรวจสอบ และคัดกรองอย่างเข้มงวด หากเรื่องไหนฟังดูเลื่อนลอยหรือขัดแย้งกับแหล่งอื่น เขาจะไม่นำมาใส่ไว้
กระบวนการคัดเลือกข้อมูลของอิดริซีย์จึงใกล้เคียงกับแนวทางของ “วิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์” มากกว่าภูมิศาสตร์แบบแผนที่โลก (แมพปามุนดี) ที่วาดขึ้นความร่วมสมัยกัน เพราะแผนที่เหล่านั้นมักใช้เพื่อการศาสนาและเน้นความแฟนตาซี
แผนที่ของเขาจึงถือเป็นผลงานที่ “จริงจัง” และ “ล้ำหน้า” อย่างชัดเจนในโลกยุคนั้น
ตัวอย่างสัตว์ประหลาดในแผนที่ของชาวยุโรปยุคกลาง
ปกหนังสือ Sea Monsters on Medieval and Renaissance Maps (Chet Van Duzer, 2013)
(ที่มา: British Library Publishing)
11. เกาะแล้วเกาะเล่า: เมื่อชาวอาหรับเล่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้ว่าจะไกลจากศูนย์กลางความรู้ของโลกอิสลาม กระนั้น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ไม่ได้หลุดรอดสายตาของอิดริซีย์ไปได้ ในแผนที่ Tabula Rogeriana ดินแดนปลายขอบฟ้าทางตะวันออกปรากฏให้เห็นในรูปของหมู่เกาะมากมาย คล้ายคาบสมุทรขนาดใหญ่ยื่นออกไปพร้อมด้วยเกาะรายล้อมอยู่รอบนอก ในบทบรรยายอิกลีมที่ 1 ในส่วนที่ 7-10 จึงเต็มไปด้วยเกาะต่าง ทุกที่เรียกว่าเกาะไปหมด ไม่เว้นแม้แต่ เกาะเขมร เกาะจามปา ที่เราต่างรู้ดีว่าเป็นรัฐโบราณบนแผ่นดินใหญ่
(ใช่แล้ว—"ญะซีเราะฮ์" (jazirah) ในภาษาอาหรับหมายถึงได้ทั้ง “เกาะ” และ “คาบสมุทร”
อิดริซีย์ผู้รวบรวมข้อมูลจากคนเดินเรือ แต่ไม่ได้เดินทางเอง คงมีไม่น้อยที่ต้องตีความจากคำเรียกอันคลุมเครือเหล่านี้…จะงงก็คงไม่แปลก!)
ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ในแผนที่อิดริซีย์ไม่ละเอียดเท่าภูมิภาคใกล้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่ก็เพียงพอจะบอกได้ว่า ดินแดนของเรา—เคยถูกจดจำในฐานะดินแดนแห่งเครื่องเทศและกลิ่นหอมล้ำค่า อบเชย กานพลู ไม้กฤษณา และเครื่องหอมจากหมู่เกาะต่างๆ กลายเป็นสิ่งของที่โลกอาหรับปรารถนา
อย่างน้อย “หมู่เกาะขอบโลก” แห่งนี้ก็ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนที่ของอิดริซีย์แล้วอย่างภาคภูมิ—เพื่อบอกว่า โลกในจินตนาการของศตวรรษที่ 12 ได้ขยายมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว
แผนที่โลกของอิดริซีย์ บริเวณอิกลีมที่ 1 ส่วนที่ 4 -10 และ อิกลีมที่ 2 ส่วนที่ 4 -10
ที่ผู้เขียนเพื่อใช้เป็นแผนที่ฐานสำหรับวาดเป็นแผนที่ฉบับแปลภาษาไทย
(ที่มา: Bodleian Libraries, University of Oxford [MS. Pococke 375])
12. เมื่อแผนที่อิดริซีย์ถูกแปลเป็นภาษาไทย
กว่า 800 ปีหลังจากที่อิดริซีย์วาดโลกขึ้นใหม่ แผนที่ของเขาก็ได้ข้ามผ่านภาษา วัฒนธรรม และเวลา มาสู่สายตาของผู้อ่านภาษาไทยเป็นครั้งแรก
ในหนังสือ ล่องนาวาเจ็ดสมุทร: ภูมิทัศน์เอเชียอาคเนย์ในเอกสารอาหรับ–เปอร์เซียศตวรรษที่ 9–14 โดย สุนิติ จุฑามาศ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ผู้เขียนได้คัดเลือกบางส่วนจากตำราของอิดริซีย์มาแปลและอธิบาย โดยเน้น “การมองโลก” ของชาวอาหรับผ่านภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
เนื้อหาที่นำมาแปล ได้แก่ทคำอธิบายของโลกใน อิกลีม ที่ 1 และ 2 ส่วนที่ 7, 8, 9 และ 10 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ทะเลอาหรับ ทะเลอินเดีย เรื่อยไปจนถึงทะเลจีน — โลกของหมู่เกาะ ปากน้ำ และเส้นทางเครื่องเทศ
ที่น่าสนใจคือ แผนที่ที่ประกอบอยู่ในฉบับภาษาไทยนี้ ได้รับการออกแบบขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับบทแปล ช่วยให้ผู้อ่านได้มองเห็น “โลกของอิดริซีย์” ผ่านภาษาภาพ เปิดบทสนทนาใหม่ระหว่างภาพ–คำ และอดีต–ปัจจุบัน ในพื้นที่ทางวัฒนธรรมของเอเชียอาคเนย์
. . .
12 FUN FACT ที่เล่ามามานี้ เขียนขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่า "แผนที่ของอิดริซีย์" ในศตวรรษที่ 12 คือตัวแทนของการจัดระเบียบความรู้ของโลกยุคกลางผ่านสายตาชาวอาหรับ–เปอร์เซีย ทั้งยังมีจุดเด่นและคุณค่า ตั้งแต่การที่แผนที่นี้วาง “ทิศใต้” ไว้ด้านบน สะท้อนมุมมองที่แตกต่างจากโลกปัจจุบัน ประวัติศาสตร์โลกอาหรับในช่วงเวลานั้น พาย้อนกลับไปเชื่อมโยงแนวคิดแบบสารานุกรมของนักปราชญ์มุสลิมร่วมสมัย (ศตวรรษที่ 10+) กับองค์ความรู้จากกรีกโบราณอย่างปโตเลมี (ศตวรรษที่ 2)
ที่น่าสนใจ ผลงานแผนที่นี้สร้างขึ้นเพื่อกษัตริย์คริสเตียนในซิซิลี ทั้งยังบันทึกลงทั้งในแผ่นเงินขนาดยักษ์ และชุดภาพแผนที่ย่อยกว่า 70 หน้า แสดงโลกในมุมที่ละเอียด สมดุลทั้งข้อมูลจริงกับจินตนาการ ไร้สัตว์ประหลาดแผนที่นี้ระบุเมืองท่าสำคัญทั่วโลก และวางมักกะฮ์ไว้เป็นศูนย์กลาง เสมือนเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณและความมั่งคั่ง แถมยังถือเป็นหนึ่งในแผนที่หมู่เกาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เก่าที่สุดแผนที่หนึ่งก็ว่าได้
นี่คือแผนที่โลกที่ไม่ได้เพียงบอกแค่ “ที่ไหน” แต่พาเราย้อนดูว่า
โลกเคยถูกมอง “อย่างไร” และเรายังมองมันแบบเดิมอยู่หรือไม่