เครื่องถม (niello wares, niellowares) คือ ภาชนะหรือเครื่องประดับที่ทำด้วยโลหะ แกะสลักลวดลาย ถมด้วยยา ซึ่งทำด้วยโลหะผสมสีดำผสมกับน้ำยาประสานทอง แทรกลงในร่องลายให้เต็ม แล้วขัดผิวให้เงางาม เครื่องถมไทยแบ่งได้เป็นหลายประเภท คือ ถมเงิน ถมทอง ถมตะทอง และถมปัด
ถมเงิน (silver nielloware) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ถมดำ (black nielloware) เป็นเครื่องถมที่เก่าแก่ที่สุด ลักษณะเป็นการถมน้ำยาบนภาชนะทำด้วยเงิน ซึ่งได้แกะสลักลวดลายไว้เป็นร่อง เนื้อถมเป็นสีดำมันจะขับลวดลายโลหะสีเงินให้เด่นงดงาม
ขันถมเงิน ลายอัปสราีหะ ราชสีห์ และคชสีห์ ศิลปะอยุธยาตอนปลาย - รัตนโกสินทร์ตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ 23 - 24)
(ที่มา: กรมศิลปากร. งานประณีตศิลป์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2555?)
ถมทอง (gold nielloware) คือเครื่องถมดำหรือถมเงินที่ใช้กรรมวิธีตะทองหรือเปียกทองลงบนพื้นผิวลาย โดยใช้ทองคำบริสุทธิ์ผสมกับปรอทเขียนทับลงบนลวดลายสีเงิน แล้วใช้ความร้อนเผาไล่ปรอทจากทอง ทองจะติดแน่นบนพื้นผิว ลวดลายที่ได้เป็นสีทองแวววาวตัดกับน้ำยาถมสีดำ
กาน้ำถมทอง ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25
(ที่มา: กรมศิลปากร. งานประณีตศิลป์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2555?)
ถมตะทอง (gold painted nielloware) คือ การนำทองคำผสมปรอทมาทาบนเนื้อเงินของถมเงิน โดยระบายลงบนพื้นที่บางแห่งที่ต้องการเน้นจุดเด่นของลายให้เป็นสีทอง ไม่ระบายจนเต็มพื้นที่เหมือนการถมทอง ได้เป็นเครื่องถมพื้นลายสีดำลวดลายเป็นสีเงินสลับกับสีทองเป็นแห่ง ๆ ตามแต่ช่างจะเลือกสรร
ขันน้ำถมตะทอง ลายเทพนม ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25 (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช)
(ที่มา: กรมศิลปากร. งานประณีตศิลป์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2555?)
ถมปัด (niello made on a copper base) คือภาชนะทองแดงที่เคลือบน้ำยาประสมด้วยลูกปัดป่นให้เป็นผงให้เป็นสีและลวดลายต่าง ๆ หรือเป็นวิธีการประดับลวดลายลงบนภาชนะวิธีหนึ่งคล้ายกับการลงยา ซึ่งน่าจะได้แบบอย่างมาจากจีน ตัวภาชนะทำด้วยทองแดง นำน้ำยาลงมาเคลือบลงบนพื้นวัสดุให้หนาตามต้องการเสียก่อน. สีที่ลงเป็นสีพื้นมีหลายสีคือ เหลือง น้ำเงิน แดง และดำ หลังจากนั้นจึงเคลือบน้ำยาอีกชั้นหนึ่งให้เป็นสีสันและลวดลายตามต้องการ เช่น ลายเทพนมก้านขด ลายเครือเถา. น้ำยาเคลือบสีที่ใช้ทำเครื่องถมปัด เป็นน้ำยาที่ผสมด้วยลูกปัดที่ป่นให้เป็นผงเพื่อให้มีสีต่าง ๆ ภาชนะที่ทำด้วยวิธีการอย่างนี้ เรียกว่า เครื่องถมปัด นิยมทำเป็นเครื่องยศตามสมณศักดิ์ของพระราชาคณะนับตั้งแต่ชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ สีที่ใช้กันมาก คือ สีเหลือง อาจจะเป็นด้วยเห็นว่าสีเหลืองเป็นสีที่เหมาะสำหรับสงฆ์ หรือมิฉะนั้นก็เป็นเพราะได้รับอิทธิพลจีนว่า สีเหลืองเป็นสีของจักรพรรดิหรือกษัตริย์ และเครื่องยศเหล่านี้พระมหากษัตริย์เป็นผู้พระราชทานแก่พระราชาคณะ
(ที่มา: Smithsonian Institution. “กาน้ำถมปัด.” [ออนไลน์]. มปป. เข้าถึงเมื่อ 11 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา https://www.mnh.si.edu/treasures/thaiversion/018c.htm)
เครื่องถมของไทยพบหลักฐานการใช้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น โดยนิยมทำเป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับ หรือวัตถุมีค่าต่างๆ สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน เจ้านาย และขุนนาง เช่น พระแท่นราชบัลลังก์ พระแท่นบรรทม เครื่องราชยานคานหาม เครื่องยศ เป็นต้น แหล่งผลิตเครื่องถมที่มีชื่อเสียงได้แก่ เครื่องถมนครศรีธรรมราช เรียกว่า “เครื่องถมนคร”
ที่มา :
กรมศิลปากร. งานประณีตศิลป์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2555?.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556.
ราชบัณฑิตยสถาน. “ถมปัด.” [ออนไลน์]. บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2555 เวลา 7.00-7.30 น. เข้าถึงเมื่อ 11 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=4901
สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2550.