หมัดมวยพื้นบ้าน ศิลปะแห่งรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
จาก
ตับจาก สู่เวทีประลองความสนุก
หากเอ่ยถึง “ต้นจาก” เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะต้องรู้จักและคุ้นเคยกับส่วนต่าง ๆ ของพืชชนิดนี้เป็นอย่างดี นั่นเป็นเพราะโครงสร้างเกือบทุกส่วนล้วนสร้างประโยชน์และกลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน ยกตัวอย่าง สำหรับใครบางคนที่หลงรักในอาหารการกินจะรู้ว่า “ดอกจาก” นั้นนำมาทำแกงหรือกินกับน้ำพริกก็แสนอร่อย แต่ส่วนที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ถูกอกถูกใจคงหนีไม่พ้น “ลูกจาก” ที่นำมาใส่ในขนมหวานเย็นรสชื่นใจ หรือเป็นผักเหนาะทานแกล้มกับอาหารรสเผ็ดก็ดูจะเข้ากัน
ภาพต้นจาก ถ่ายโดย สุธาสินี บุญเกิด
อย่างไรก็ตาม กลับมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งสำคัญ นั่นคือ “ใบจาก” ลักษณะคล้ายใบมะพร้าวแต่เหนียวและกว้างกว่า ผู้คนจึงนำมาเย็บเป็น “ตับจาก” ใช้สำหรับมุงหลังคากำบังแดดฝน แต่ด้วยลักษณะของวัสดุธรรมชาติ ส่งผลให้ตับจากที่ผ่านการใช้งานมานานปีผุเปื่อยลงถึงเวลาเปลี่ยนถ่าย ตับจากเก่าที่หมดความหมายแต่กลับให้ความสนุก เพราะถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นสังเวียนมวยพื้นบ้านที่สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชม จนเป็นที่รู้จักและเรียกขานกันว่า “มวยตับจาก” กีฬาพื้นบ้านยอดนิยมของผู้คนในภูมิภาคตะวันออก ก่อนกระจายสู่ภาคอื่น ๆ
เวทีมวยตับจากมีลักษณะเรียบง่าย
สร้างโดยการกั้นเชือกสังเวียนในสนามหญ้า ปูพื้นด้วยตับจาก
ที่เมื่อเดินย่ำเหยียบจะก่อให้เกิดเสียงดังกรอบแกรบ จนกลายเป็นที่มาของสีสันแห่งความสนานสนุก
นั่นเป็นเพราะการชกมวยตับจากคู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่ายต้องปิดตาชกกัน
ก่อนการชกที่ไม่เน้นผลแพ้-ชนะจะเริ่มต้นขึ้น
กรรมการผู้จัดจะนัดเวลามาเปรียบมวย
โดยชั่งน้ำหนักและวัดขนาดของลำตัวให้ไล่เลี่ยกัน นอกจากนี้
หากใครมากับเพื่อนแล้วประสงค์อยากประลองหมัดก็สามารถแจ้งต่อคณะผู้จัดได้ทันที
ดังนั้น จึงไม่ผิดแปลกหากผู้ชมจะพบผู้ชายชกกับผู้ชาย ผู้หญิงชกกับผู้หญิง หรือแม้แต่ผู้หญิงชกกับผู้ชายซึ่งมักจะเป็นเด็กเสียส่วนใหญ่
ภาพมวยตับจาก, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อดนตรีวงปี่พาทย์ที่ใช้ท่วงทำนองเดียวกับมวยไทยเริ่มบรรเลง
ผู้คนเข้าล้อมรอบสังเวียน คู่ชกที่ถูกผ้าผูกตาทั้งสองข้างให้มืดสนิท
มือสวมใส่นวมอย่างมาตรฐาน รอสัญญาณเริ่มต่อสู้ ก่อนก้าวย่างออกจากมุมของตน
เพื่อหวังพิชิตคู่ต่อสู้โดยใช้เพียงเสียงเหยียบตับจากแห้งและประสาทสัมผัสทางการได้ยินเป็นเครื่องนำทาง
แน่นอนว่า
ทั้งคู่ต่างปรี่เข้าไปเตะต่อยกัน ณ จุดกำเนิดเสียงที่ไม่ได้มีเพียงฝีเท้าของพวกเขา
หากยังมีเสียงเดินของกรรมการร่วมด้วย ดังนั้น
จึงอยากให้ทุกท่านลองจินตนาการภาพตามว่า
“เมื่อพละกำลังจากสุดปลายแขนของนักมวยทั้งคู่ถูกปล่อยออกไป
แต่กลับพลาดเป้าหมายไปโดนกรรมการ การเตะต่อยกันอย่างชุลมุนจึงเริ่มต้นขึ้น
บ่อยครั้งทีเดียวที่นักมวยทั้งสองรุมชกต่อยกรรมการจนเป็นเหตุให้เจ็บตัวมากกว่านักมวย
หรือบางครั้งก็ล้มลุกคลุกคลานไปด้วยกัน หากครั้งใดเป็นการชกมวยหมู่
เสียงสะท้อนของตับจากยิ่งไร้ทิศทาง
การชกมวยจึงกลายเป็นความโกลาหลอันแสนสุขของผู้ชม”
ในระยะเวลา 6 นาที ซึ่งแยกย่อยออกเป็น 3 ยก ยกละ 2 นาที หากใครสามารถต่อยได้เข้าเป้ามากที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะ
และได้รับของรางวัลที่แตกต่างกันไปตามแต่ผู้จัด ซึ่งมีทั้งหม้อหุงข้าว พัดลม
เครื่องใช้ไฟฟ้า เงินสด
หรือหากคู่ใดชกได้ถูกใจผู้ชมก็อาจได้รับรางวัลพิเศษเพิ่มด้วย
วันเวลาพ้นผ่าน ความนิยมในการใช้ตับจากมุงหลังคาลดลง
อีกทั้งจำนวนต้นจากในธรรมชาติก็เริ่มสูญหาย ตับจากจึงหายากและราคาแพงมากขึ้น
ส่งผลให้ผู้จัดชกมวยตับจากใช้ใบไม้แห้งชนิดอื่น ๆ เช่น ใบมะพร้าว ใบตาล ใบสัก
ใบตองตึง หรือใบหูกวาง เป็นตัวแทนแห่งความบันเทิงให้กีฬาพื้นบ้านประเภทนี้ยังคงอยู่
เพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับแฟนหมัดมวยผู้มากด้วยอารมณ์ขัน
มวยทะเลเสียงฮาเฮจากริมน้ำ
แม้การปรากฏขึ้นของมวยทะเลจะไม่มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน
แต่พบว่ามีการเล่นกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2449
ในภูมิภาคทางใต้ของประเทศไทย และด้วยชั้นเชิงลีลาที่ดัดแปลงมาจากมวยไทย
แต่ถูกปรุงรสให้เข้ากับพื้นที่ตั้งซึ่งอยู่ติดกับทะเล กีฬาพื้นบ้านนามว่า
“มวยทะเล”
จึงกลายเป็นศิลปะแห่งความบันเทิงที่ครองใจผู้ชมในทุกเทศกาลงานบุญมานานนับศตวรรษ
ความสรวลเสเฮฮาตามประสาชาวบ้านที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน
สะท้อนผ่านการจัดสังเวียนชกบริเวณริมชายฝั่งที่โอบล้อมผู้ชมด้วยสายลมและแสงแดด เมื่อกำหนดที่ตั้งเวทีเป็นที่เรียบร้อย
จึงค่อยนำเสา 2 ต้นปักไขว้กันเป็นขาโดยให้มีระยะห่างประมาณ 3 เมตร จากนั้นนำเสาไม้หรือไม้หมากกลมวางพาด ซึ่งต้องให้สูงจากพื้นดินหรือพื้นน้ำประมาณ
100-120 เซนติเมตร อาจใช้น้ำมันทาเพิ่มเพื่อให้เสาไม้พาดลื่น
ทำเครื่องหมายไว้ตรงกึ่งกลางเสาไม้พาด เพื่อแบ่งแยกมุมแดงและมุมน้ำเงิน
ซึ่งปัจจุบันอาจมีการปรับเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ไปบ้างตามความสะดวก
เมื่อสถานที่พร้อมสำหรับการชก เสียงผู้ชมกู่ก้องรอคอยความสนุก
พร้อม ๆ กับนักมวยทั้งสองฝั่งสวมนวมและก้าวขึ้นไปนั่งค่อมบนไม้พาดที่วางอยู่เหนือน้ำ
และต่างต้องจดจำกติกาของมวยทะเลไว้ให้มั่น “ห้ามตกน้ำเด็ดขาดเพราะจะทำให้แพ้ในทันที
และหากต้องการชนะ ต้องเหนือกว่าคู่ต่อสู้ 2 ใน 3
ยกให้ได้”
มวยทะเล (สานสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้อง พังงา-ภูเก็ต,
เสียงระฆังดังขึ้น
เป็นเสมือนสัญญาณส่งว่า การแข่งขันมวยทะเลจำนวน 3 ยก ยกละ 2
นาที กำลังจะเริ่มต้น นักมวยทั้งคู่เลื่อนไถลเข้าหากันด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม
ต่างทำท่าหลอกล่ออีกฝ่ายด้วยความร่าเริง สดใส
ประกอบพร้อมด้วยเสียงผู้บรรยายที่เต็มไปด้วยชั้นเชิงลูกเล่น
ช่วยเพิ่มอรรถรสแห่งความสนุกขึ้นทบเท่าทวีคูณ
เพื่อให้ผู้ชมได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศแสนสุข นักมวยจึงพยายามรักษาเวลาในการต่อสู้กันให้ยาวนาน
โดยไม่เพลี่ยงพล้ำตกน้ำอย่างง่ายดายเกินไป แต่ในระหว่างที่เวลาดำเนินไป
การชกต่อยบนไม้พาดก็ต้องมีเรื่องราวให้ผู้ชมได้ร่วมลุ้นอยู่ตลอด อย่างไรก็ตาม
เมื่อใกล้หมดยกที่ 1 เราก็ได้ผู้ชนะ ที่ส่งผู้แพ้ตกลงบนผืนน้ำ
สร้างเสียงหัวเราะและเสียงปรบมือให้กับนักมวยอย่างเกรียวกราว
หลังหยุดพักพอหายเหนื่อยจึงเข้าสู่ยกที่สอง นักมวยต่างใช้ประสบการณ์จากยกแรก
ทั้งจังหวะและลีลาที่พริ้วไหว ร่างกายทุกส่วนพยายามเกาะเกี่ยวให้ถึงที่สุด
ก่อนที่ฝ่ายใดจะเพลี่ยงพล้ำ หากยังมีผลเสมอเสียงระฆังยกสุดท้ายเริ่มขึ้นอีกครั้ง
ด้วยเรี่ยวแรงที่ยังเหลือบวกกับการทรงตัวท่วงท่าที่สร้างความบันเทิงพร้อมด้วยทักษะที่ผ่านการฝึกฝนอย่างเคี่ยวกรำ
จึงไม่เกินเลยไปหากจะกล่าวว่ามวยทะเลเป็นกีฬาพื้นบ้านที่อร่อยครบรส
ภาพ (ซ้าย) ของเล่นเด็กมวยทะเลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี, ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
ภาพ (ขวา) พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี พิษณุโลก,
จากความสนุกของมวยทะเลที่ครองใจผู้คนมาแสนนาน ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2556 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศขึ้นบัญชีให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติสาขากีฬาภูมิปัญญาไทย
ไม่เพียงเท่านั้น เพราะกีฬาพื้นบ้านชนิดนี้ ยังถูกนำไปใช้สร้างของเล่นเด็กโบราณ
ซึ่งทำจากไม้เนื้อแข็ง
โดยประดิษฐ์ให้แขนกับขาแกว่งได้ เจาะรูตรงกลางหน้าอก มัดเชือกให้ตัวห่างออกจากกัน ผู้เล่นสามารถเล่นคนเดียวได้
โดยการชักเชือก ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะใช้กับเด็กที่กำลังฝึกเขียนหนังสือ เพื่อให้กล้ามเนื้อข้อมือมีความแข็งแรงและมีความเพลิดเพลิน หากใครสนใจสามารถเข้าชมได้ ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบ้านจ่าทวี
จังหวัดพิษณุโลก
เอกสารอ้างอิง
- กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม. ค้นจาก https://ich-thailand.org/heritage/
- ชัชชัย โกมารทัต. (2549). กีฬาพื้นเมืองไทยภาคใต้. กรุงเทพฯ:
สถาพรบุ๊คส์.
- ทรงยศ
กมลทวิกุล. (2559). มวยทะเล ในวันที่กระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงโหมแรง. วัฒนธรรม, 55(4), 42-48.
- อำนาจ
พุกศรีสุข. (2559).
กีฬาภูมิปัญญาไทย : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ. กรุงเทพฯ : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ค้นจาก http://book.culture.go.th/ich_sport/
- Triptravelgang. (1 เมษายน
2558). มวยทะเล ของเล่นเด็กโบราณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จ.พิษณุโลก: Sergeant
Major Thawee Folk Museum [Video file]. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/
- ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. (2558). “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี”. ค้นจาก https://db.sac.or.th/museum/