หม้อตาล ที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่ทำในประเทศไทย ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ใบนี้ พบจากบริเวณหน้าวัดกษัตราธิราช จ.พระนครศรีอยุธยา อายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 - 23 หม้อตาลใบนี้มีความสูง 8 เซนติเมตร หนา 0.5 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 14.5 เซนติเมตร
ลักษณะภาชนะดินเผา ที่นักโบราณคดีมักเรียกว่า "ภาชนะดินเผาทรงหม้อตาล" นี้ มีลักษณะร่วมกันโดยทั่วไปคือ เป็นภาชนะดินเผาที่มีส่วนก้นกลม ขอบปากตั้งตรง ส่วนก้นและปากภาชนะผายเท่ากัน ตัวภาชนะคอดสั้นและมีคอหยักหรือเว้าเข้าเพื่อให้จับถนัดมือ และมีการทำเป็นลวดลาย เช่น ลายเชือกทาบหรือขูดขีด เพื่อให้ช่วยให้เกิดแรงเสียดทานเพิ่มขึ้นขณะจับหรือแขวน
อย่างไรก็ดี จากการขุดค้นทางโบราณคดี บางครั้งก็พบว่ามีปูนสีขาวบรรจุอยู่ภายในภาชนะ ดังนั้นภาชนะแบบหม้อตาลนี้ อาจจะใช้ในหลากหลายหน้าที่ นอกจากใส่น้ำตาล
นอกจากนี้ หม้อตาล ยังเป็นที่มาของชื่อทรงหมวกของข้าราชการ ที่มีลักษณะคล้ายกับหม้อตาล ว่า "หมวกหม้อตาล"
พระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวทหารบก ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) กำหนดให้ทหารบกสวม "หมวกแก๊บทรงหม้อตาล"
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงเป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงพระมาลาทรงหม้อตาล
โดยฉายพระรูปร่วมกับนายทหารที่สวมหมวกหม้อตาลเช่นเดียวกัน